‘นักวิชาการ’ แนะทางออก รบ.’จริงใจ’ วางโร้ดแมปให้ชัด ‘ขยับ’ ก่อนเจรจา อย่าทำเสียของเหมือน 24 กันยา

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงทางออกของรัฐบาลในขณะนี้ ว่า ตอนนี้ความหวังที่พอจะเห็น ทางออกที่ดีที่สุด คือ ไม่ควรกลับไปทำให้เสียของ เหมือนวันที่ 24 กันยายน ไม่ได้นำไปสู่การโหวต นั่นคือมูลเหตุที่สะสมความไม่พอใจจนนำไปสู่ความรุนแรงทางความรู้สึกของผู้คนจนถึงวันนี้ แม้ว่ากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองจะพยายามจะหยิบยกบางประเด็นจากข้อเรียกร้องบางข้อที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ซึ่งไม่ควรเอามาบดบังต่อประเด็นหลัก โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก

ดังนั้น ทางออกที่มี คือ การสร้างบรรยากาศให้รู้สึกคลี่คลาย นั่นหมายความว่า ผู้มีส่วนได้เสียจากรัฐธรรมนูญ 60 ที่มีบุคลิก ท่าทีในเชิงก้าวร้าว หรือเติมเชื้อไฟที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าควรจะลดราวาศอกในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ณ ขณะนี้

ความคาดหวังอยากจะให้ผู้ชุมนุมลดความก้าวร้าว ท่าที หรือการปรับเปลี่ยนกิจกรรมชุมนุมในอนาคต ฝ่ายการเมืองจะต้องแสดงความจริงใจให้เห็นก่อน เพื่อเดินหน้านำไปสู่การนับหนึ่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แสดงให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ส.ว.ก็ดี คนได้ประโยชน์จากการออกแบบกติกาให้ได้เปรียบแก่การเข้าสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีก็ดี วุฒิสมาชิกก็ดี หรือพรรคพลังประชารัฐ ก็ตาม ควรจะแสดงความจริงใจให้มากที่สุด ก่อนจะนำไปสู่การต่อรอง ไม่ใช่ว่าในการประชุมนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนแล้วจะเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมลดราวาศอก ลดเงื่อนไข ยังไม่อยู่ในภาวะที่จะพูดได้

ส่วนตัวเข้าใจว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว หากนำไปสู่การนับหนึ่ง หรือ ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการที่ไม่เนิ่นนานจนเกินไป ไม่เป็นการซื้อหรือทอดเวลาออกไปอีกแล้ว ก็เชื่อว่าอารมณ์และสถานการณ์การชุมนุมจะมีเหตุมีผลมาผ่อนหนัก ให้เป็นเบาได้

Advertisement

การแสดงความจริงใจในที่นี้ คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ของภาคประชาชน สามารถเพิ่มแนบเข้ามาด้วยได้ และสามารถแสดงมุมมองอย่างสร้างสรรค์ แน่นอนว่าบุคคลที่มาให้ข่าว จะต้องไม่ใช่บุคคลที่แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ว่ามีนัยยะประเด็นเบื้องหลังทางการเมืองเพียงอย่างเดียว เพราะต้องอย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของระบบการเลือกตั้ง หรือที่ไปที่มาของอำนาจวุฒิสมาชิก แต่เน้นเรื่องของความทันสมัยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบไว้ แล้วกลับกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่เริ่มล้าสมัย เพราะผลพวงโควิด-19 เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องทำรายงานทุก 5 ปีนั้น โควิด-19 โจมตีโครงสร้างระบบเศรฐกิจและสังคมของประเทศ แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 60 ออกแบบอย่างขาดความรัดกุมและรอบคอบ ทำให้เห็นว่า ท้ายที่สุด กติกาหรือการมองผลประโยชน์ของนักการเมือง-พรรคการเมืองอย่างเดียว ไม่เพียงพอ แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรแก่เหตุ ถึงเวลาที่จะต้องแก้ไขอย่างจริงจังเสียที

ส่วนจุดยืนร่วมกัน แน่นอนว่า คือ 1.การไม่พูดเติมเชื้อไฟให้กัน ว่าทุกอย่างมีวาระซ่อนเร้น จะต้องไม่พูดส่วนนี้อีก แต่ควรจะพูดถึงแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ 2.ทางที่จะเห็นร่วมกันได้ว่า บริบทสังคมไทยที่ไม่ปราถนาให้ไปแตะประเด็นสถาบันยังมีความจำเป็นอยู่สูงที่จะต้องแสดงความจริงใจ การดำเนินคดีในข้อความที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมก็ดำเนินการไป แต่อย่าไปผูกโยงเป็นเรื่องประเด็นทางการเมืองไปเสียทั้งหมด

การจะพิสูจน์ความจริงใจ คือการเตรียมพูดคุยว่า การทำประชามติว่าคำถามพ่วงต่างๆ เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือ สัดส่วนเท่าใดก็ตาม จะต้องพูดคุยอย่างชัดเจนมากขึ้น
ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนตัวมองว่า ณ ขณะนี้มาไกลจนไม่สามารถส่งผลกระทบใดๆ ต่อการชุมนุมอีกต่อไป เหมือนว่าผู้ชุมนุมปริวิตกกับการถูกดำเนินคดี แสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่อ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาพูดคุยกัน เพราะเอาเข้าจริงแล้ว มูลเชื้อจริงๆ มาจากความไม่พอใจ การสูญเสียเวลาสำคัญ คือวันที่ 24 กันยายน ที่ฝ่ายวุฒิสมาชิก และ ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ได้ปฏิเสธความคาดหวังของผู้คนในสังคม สูญเสียโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่จะแสดงความจริงใจตรงนั้นไป ดังนั้น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 กันยายนจะต้องไม่กลับมาหลอกหลอนอารมณ์ของผู้คนในสังคมอีก เพื่อจะได้ไม่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปลุดระดมมวลชนออกไปชุมนุมอีกในอนาคต

Advertisement

อย่างไรก็ดี หากมีการเปิดประชุมสภาวิสามัญ ส.ว.ก็มีสิทธิร่วมพูดคุยด้วย เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ควรจะกำหนดตัวบุคคลที่สามารถอธิบายถึงจุดแข็ง-จุดอ่อนของร่างญัตติ ตั้งแต่ ฉบับพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล และ ฉบับฝ่ายค้าน ทั้ง 6 ร่าง ควรจะเสนอมุมมองทางออกให้เห็นจุดอ่อนและแข็งของแต่ละร่างออกมาให้ได้ จะดีเสียกว่าปลอยให้คนที่เรียกแขกออกมาแสดงความคิดเห็นทางอารมณ์ด้วยการปะทะ วิวาทะ หรือต่อสู่จุดยืนทางการเมือง ต้องลดภาพตรงนี้ออกไปให้ได้

ดังนั้น สถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อฝ่ายการเมืองเริ่มนับหนึ่งและขยับให้เห็น ก่อนจะไปต่อรอง เจรจากับผู้ชุมนุม ควรแสดงให้เห็นภาพว่าได้ดำเนินการจนนำไปสู่ความรู้สึกพึงพอใจเกิดขึ้น โดยต้องวางโร้ดแมปให้ชัดเจนว่ากระบวนการจะต้องไม่ยื้อเวลาจนเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image