ไอลอว์ ชง 6 ข้อเรียกร้อง หวังคลี่คลายวิกฤติ ทั้ง “ยุติการคุกคาม-เปิดพื้นที่ปลอดภัย–ใช้กลไกรัฐสภา”

 

“ไอลอว์” ชง 6 ข้อหวังคลี่คลายวิกฤติ ทั้ง ยุติการคุกคาม เปิดพื้นที่ปลอดภัย ใช้กลไกรัฐสภา

 

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.63 iLaw หรือไอลอว์ ได้เปิดเผยผ่านเฟวบุ๊ก โดยเรียกร้อง 6 ข้อ เพื่อคลี่คลายวิกฤติ โดยมีรายละเอียดคือ

Advertisement

“ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: 6 ข้อเสนอคลี่คลายวิกฤติ “ยุติการคุกคาม – เปิดพื้นที่ปลอดภัย – ใช้กลไกรัฐสภา”

เป็นเวลากว่าสามเดือนที่การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดระยะที่ผ่านมายังไม่มีแนวโน้มว่าการชุมนุมของประชาชนจะนำไปสู่ความรุนแรง อย่างไรก็ตามวันที่ 15 ตุลาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จนนำมาซึ่งการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนถึง 2 ครั้ง ในรอบ 3 วัน และสร้างบาดแผลรอยใหม่ให้กับสังคมไทย

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีโอกาสในการเยียวยาความขัดแย้งให้เบาบางลง โดยการรับฟังเรียกร้องต่างๆ ของประชาชน รวมถึงตอบสนองความต้องการในบ้างเรื่องที่เห็นตรงกัน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการตรงข้ามด้วยการเพิกเฉยกับทุกข้อเรียกร้อง จนกระทั้งใช้ยาแรงสลายการชุมนุม รวมทั้งการจับกุมแกนนำ ส่งผลให้การชุมนุมลุกลามบานปลายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวนผู้ชุมนุมและพื้นที่ชุมนุมขยายมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย

Advertisement

ไอลอว์ในฐานะที่ติดตามการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน รวมทั้งติดตามการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมาอย่างต่อเนื่อง พวกเราเห็นว่า เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้ความขัดแย้งคลี่คลายลง ไอลอว์จึงเสนอทางออกเพื่อคลี่คลายวิกฤติหกข้อ ดังนี้

1. ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงมีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นกรณีที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือ ทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็น ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที หรืออีกนัยหนึ่ง การที่รัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงต้องอยู่ในวิสัยที่รัฐใช้กฎหมายระดับปกติแก้ไขไม่ได้

แต่ข้อเท็จจริงที่พบตั้งแต่การชุมนุมในวันที่ 13 ตุลาคม ถึง 19 ตุลาคม 2563 การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้จะมีการใช้พื้นที่สาธารณะแต่ก็เป็นเพียงการรบกวนผู้ใช้ถนนสัญจรอยู่บ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจัดการจราจรอำนวยความสะดวกเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การกระทำของผู้ชุมนุมไม่ใช่การกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลอื่น

อีกทั้ง ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก การเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่เรียกร้องได้ภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การประกาศสถานการณ์การฉุกเฉินร้ายแรงที่จำกัดสิทธิในการชุมนุมอย่างเด็ดขาด หรือจำกัดเสรีภาพสื่อ จึงเป็นการใช้อำนาจที่ผิดจากหลักเกณฑ์ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน และจะยิ่งส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ

ถ้ารัฐบาลยืนยันที่ใช้มาตรการนี้ต่อไปมีแต่สร้างความขัดแย้งให้สังคมรุนแรงยิ่งขึ้น การยกเลิกอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้นที่จะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งปวง

2. ยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข

หลังการสลายการชุมนุมในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา มีผู้ถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดี อย่างน้อย 87 ราย ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้ถูกจับกุมและคำบอกเล่าของทนายความพบว่า ในการจับกุมมีการใช้ความรุนแรงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ มีพฤติการณ์ทุบประตูบ้าน ทุบกระจกรถเพื่อเข้าจับกุม เป็นการปฏิบัติที่รุนแรงกับผู้แสดงออกทางการเมือง และมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาอย่างเคร่งครัด เช่น การไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่ถูกจับกุม อีกทั้ง ในระหว่างการควบคุมตัวผู้ชุมนุมก็มีการลิดรอนสิทธิผู้ต้องหา ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวไปไว้ในสถานที่ห่างไกล ไม่ให้สิทธิในการปรึกษาหารือกับทนายความ รวมถึงการไม่ให้บุคคลที่ได้รับความไว้วางใจเข้าพบ

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังถูกตั้งข้อหาที่รุนแรงกว่าข้อเท็จจริง อาทิ การดำเนินคดีฐานประทุษร้ายพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 การดำเนินคดีฐานยุยุงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 รวมทั้งความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างอุปสรรคให้กับกลุ่มคนที่กำลังแสดงออกคัดค้านรัฐบาล

ดังนั้น เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลควรยุติพฤติกรรมลักษณะที่กล่าวมา ยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมพร้อมทั้งให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังในทันที

3. เปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างปลอดภัย

ทุกฝ่ายต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้เกี่ยวข้องกับความรับรู้ของประชาชน และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ขยายมากขึ้นในยุครัฐประหารของ คสช. และการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อหา “ล้มเจ้า” ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างความอัดอั้นใจที่ต่อมาปะทุขึ้นเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนและรุนแรงบนท้องถนน

ถ้าหากก่อนหน้านี้ประเด็นที่ควรจะถูกพูดถึง สามารถถกเถียงกันได้อย่างสร้างสรรค์ด้วยเหตุด้วยผล บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรรับรู้ร่วมกัน อาจจะสามารถหาทางออกร่วมกันไปได้ จนถึงวันนี้ซึ่งเกือบจะสายเกินแก้ ทุกภาคส่วนของสังคมต้องหันหน้ามาช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐสภาและมหาวิทยาลัยที่ควรเป็นพื้นที่อย่างเป็นทางการที่เอาข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์บนท้องถนนมาขึ้นเวทีอภิปรายพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ สำหรับทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็สามารถเปิดใจคุยกันอย่างตรงไปตรงมาได้ โดยรัฐบาลต้องเว้นการปิดกั้น จับกุม ดำเนินคดี ต่อผู้ที่อภิปรายประเด็นนี้ในทางสร้างสรรค์

4. ประยุทธ์ต้องลาออก / พรรคร่วมรัฐบาลต้องถอนตัว

ถึงเวลาที่พลเอกประยุทธ์จะต้องตัดสินใจ “เสียสละเพื่อประเทศชาติ” อย่างที่เคยพูดมาตลอด ด้วยเริ่มเป็นฝ่ายถอยหลังเองโดยการลาออก การชุมนุมของประชาชนจำนวนมากสะท้อนว่า พลเอกประยุทธ์ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าการครองอำนาจยาวนานกว่า 6 ปี ทำให้พลเอกประยุทธ์เป็นหัวใจของความขัดแย้งอันเนื่องจากการบริหารประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ การออกกติกาที่สร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับตัวเอง การสร้างเครือข่ายพวกพ้องในองค์กรอิสระเพื่อรักษาอำนาจ และการใช้กฎหมายเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ในกรณีพลเอกประยุทธ์ไม่ยอมลาออก กลไกของรัฐสภายังมีพรรคการเมือง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ที่มีสามัญสำนึกและอยากสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้สังคมไทย เราจึงขอเรียกร้องให้สังคมกดดันไปยังพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกดดันให้พลเอกประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง

ทั้งนี้หากพลเอกประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งก่อนอย่างน้อยหนึ่งคน จะมีผลให้ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เครือข่ายของ คสช. ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน จะสูญเสียความเป็นเอกภาพ และมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น

5. เปิดประชุมวิสามัญฯ รัฐสภา เร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ต้องเร่งเปิดประชุมวิสามัญของรัฐสภา เพื่อรีบดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด ซึ่งระยะเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถสำเร็จลุล่วงได้ในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือน โดยมีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง เมื่อรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้วให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณารายละเอียดโดยมีระยะเวลา 30 วัน เมื่อคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ ให้รีบนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สามภายใน 7 วัน เนื่องจากหลักการสำคัญๆ ที่รัฐธรรมนูญต้องถูกแก้ไขนั้นเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมมาเป็นเวลานับปีแล้ว รัฐสภาจึงควรพิจารณาแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 37 วัน

ขั้นที่สอง ให้ กกต. ประกาศวันออกเสียงประชามติภายใน 7 วัน นับจากที่รัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม โดยการกำหนดวันออกเสียงประชามติต้องไม่เกิน 60 วัน นับจากที่รัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสามเช่นกัน

ขั้นที่สาม เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 วรรคหก ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระประมาภิไธย และประกาศใช้ต่อไป

รวมระยะเวลาทั้งหมดแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจสำเร็จได้ภายในระยเวลา 4 เดือน

ข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งบนท้องถนนให้เบาบางลง แต่การแก้ไขจะได้รับการยอมรับจากประชาชนจะต้องแก้ไขในประเด็นใจกลางปัญหา เช่น “ที่มาและอำนาจของ ส.ว.” “ระบบเลือกตั้ง” รวมทั้ง “ที่มาของ ส.ส.ร.” แต่ถ้ารัฐบาลและรัฐสภายังเล่นเกมซื้อเวลาเพื่อเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญความขัดแย้งบนท้องถนนมีแต่จะขยายมากยิ่งขึ้น

และถ้าหากมีข้อกังวลเรื่องการใช้งบประมาณสำหรับการจัดทำประชามติ ก็ให้ กกต. จัดการออกเสียงประชามติให้ตรงกับวันเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้

6. ปิดสวิตซ์ ส.ว. ใช้สภาผู้แทนฯ เลือกนายกฯ จากพรรคลำดับที่หนึ่ง

หากพลเอกประยุทธ์ลาออก ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามกลไกที่มีอยู่เดิม

แต่เพื่อความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีและเพื่อลดความขัดแย้ง ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คนต้องลงมติ “งดออกเสียง” ไม่ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย และให้เลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ซี่งก็คือ พรรคเพื่อไทย เป็นไปตามธรรมเนียมปกติของการเลือกตั้งในประเทศไทย โดยในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยมีว่าที่นายกรัฐมนตรีถึง 3 คน ประกอบด้วย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และชัยเกษม กิตติสิริ

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มีภารกิจหลัก คือ การดูแลการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความราบรื่น ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการดูแลภารกิจนี้ และรัฐบาลชุดใหม่ต้องสัญญากับสาธารณชนว่า จะเข้ามาทำหน้าที่ชั่วคราวเพียง 4 เดือนเท่านั้น เมื่อภารกิจแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จนายกรัฐมนตรีจะต้องยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ถูกแก้ไขแล้ว

ข้อเสนอทั้งหกข้อของไอลอว์ วางอยู่บนฐานความเชื่อและความหวังว่า พวกเราต้องการจะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชนและกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภามานาน มีส่วนช่วยคลี่คลายวิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้ให้เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสันติวิธี เราหวังว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งประชาชน ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และรัฐบาล จะรับฟังเพื่อเพื่อสร้างอนาคตที่มีความหวังให้กับคนไทยทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image