นักวิชาการชี้ รธน.สถาปนาอำนาจอภิชน-ลดอำนาจปชช.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ห้อง 802 อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โครงการปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ และ Group of Comrades จัดเสวนา “ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. 2.0”

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีหลายเรื่องถูกเขียนใหม่ หรือถูกยกออกไป เช่น สิทธิชุมชน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพถูกทำให้มีความสำคัญน้อยลง สิ่งที่เห็นในรัฐธรรมนูญ คือ การให้เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้สิทธิบางอย่างหดแคบลงให้กลายเป็นภารกิจของรัฐ นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เรื่องสถาบันทางการเมืองมี 2 ประเด็น 1.ลดทอนอำนาจสถาบันการเมืองที่มาจากประชาชน 2.สถาปนาอำนาจของอภิชนผ่านองค์กรต่างๆ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม

เห็นได้จากระบบเลือกตั้งและรัฐสภา จะไม่ทำให้มีพรรคการเมืองใหญ่เกิดขึ้น เช่น ระบบเลือกตั้งสองใบ เมื่อไม่มีพรรคการเมืองใหญ่ สถาบันทางการเมืองจึงไม่สามารถเป็นกลุ่มก้อนได้ ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาก็จะลดลง โอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญหรือผ่านกฎหมายจะเกิดขึ้นได้ยาก สถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชนจะหมดความสำคัญลง และจะเห็นอภิชนหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่ในระบบโครงสร้างทางการเมือง 2 กลุ่มใหญ่ๆ

Advertisement

กลุ่มแรกคือขุนนางนักวิชาการ จะอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ

อีกกลุ่มหนึ่งคือชนชั้นนำชายขอบ หรือ “นักการเมืองประชารัฐ” นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 จะเห็นคนกลุ่มหนึ่งมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น ทนายความ สื่อมวลชน ศิลปิน หมอ เอ็นจีโอ ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เหล่านี้คือกลุ่มคนที่เป็นฐานของระบบอำนาจนิยม

“ถ้าร่างฯ ฉบับนี้เดินหน้าไป จะเห็นสถาบันทางการเมืองชนิดหนึ่ง นักการเมืองชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องหาเสียงมากับระบบเช่นนี้ เป็นระบบการเมืองอีกชุดหนึ่งซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองและกำกับการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และคนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่สนับสนุน สืบทอดและค้ำยันระบบรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้โครงสร้างนี้ดำรงอยู่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image