วงสัมมนา‘ศก.ดิจิทัล’ ‘รัฐ-เอกชน’เร่งขับเคลื่อน ช่วยพลิกฟื้นประเทศ

วงสัมมนา‘ศก.ดิจิทัล’ ‘รัฐ-เอกชน’เร่งขับเคลื่อน ช่วยพลิกฟื้นประเทศ

วงสัมมนา‘ศก.ดิจิทัล’ ‘รัฐ-เอกชน’เร่งขับเคลื่อน ช่วยพลิกฟื้นประเทศ

หมายเหตุหนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมบรรยายให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ Startup ร่วมในอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ในอนาคตภายหลังโควิด เราต้องใช้อุตสาหกรรมดิจิทัลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งหมด เพิ่มทักษะให้คนใช้ดิจิทัลเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลทั้งระบบ

Advertisement

จากเศรษฐกิจโลกผันผวนและมีความท้าทายหลังเจอโควิด-19 ไทยต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้แข็งแกร่งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เร็วที่สุด วันนี้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาส 3 ของไทยเพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งได้ หลังพ้นโควิด

ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ไทยถือเป็นผู้นำ เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาค Southeast Asia เรามี 5จี พร้อมแล้ว และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาทดลองใช้ มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้เข้มแข็งในอนาคต

Advertisement

วีระ วีระกุล
รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก
สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

พันธกิจของสภาดิจิทัลฯคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพราะปัจจุบันมีคนไทยไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ตัวอย่างโควิด-19 คือตัวเร่งดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ อย่างการช่วยเหลือของภาครัฐก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ตอนนี้ต้องดูว่าไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในแง่ดิจิทัล เพื่อพัฒนาดิจิทัลอีโคโนมีได้ ต้องรู้จุดแข็ง จุดอ่อน ปัจจุบันดิจิทัลเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถ้าทำวันนี้จะได้เทคโนโลยีล่าสุด วันนี้องค์ประกอบที่ไทยต้องมีคือความรู้ในแง่เทคโนโลยี และความพร้อมของประชาชน ธุรกิจ และรัฐบาลในการรับแต่ต่อยอด

ยกตัวอย่างหากรัฐบาลประกาศว่าวันที่ 1 มกราคม 2569 ธุรกรรมที่ทำกับภาครัฐจากกระดาษจะเป็นดิจิทัลทั้งหมด จะเป็นการปลุกทุกส่วนอย่างรุนแรงให้เข้าสู่ดิจิทัล

ดังนั้น ไทยต้องก้าวสู่ประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี ไม่ใช่ประเทศผู้บริโภคเทคโนโลยี อยากถามว่ามีใครรู้จักมือถือที่ผลิตโดยคนไทยบ้าง ซึ่งปัจจุบันเราต้องพัฒนาส่วนนี้ให้ได้ ขณะที่ซอฟต์แวร์ต่างๆ คนมักนึกถึงต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วมีแพลตฟอร์มของไทยไม่น้อยกว่าร้อยบริษัท หน้าที่ของสภาดิจิทัลฯ ยกศักยภาพบริษัทเหล่านี้ให้ทัดเทียบต่างชาติ ขณะที่ด้านการพัฒนาคนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

ขณะนี้ภาพประเทศไทยมีพื้นที่ในการพัฒนาจำนวนมาก แต่มี 3 เรื่องที่ต้องพัฒนา คือ เรื่องเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่จะมาสนับสนุนภาคธุรกิจ ประชาชน และรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย อีกเรื่องที่สำคัญคือ คน โดยไทยต้องติดอาวุธ สร้างความรู้ ประสบการณ์ที่จะพัฒนาประเทศไทยในโลกดิจิทัลนี้ และอีกเรื่องสำคัญคือกระบวนการขับเคลื่อน

ขอลงรายละเอียดในส่วนของเทคโนโลยี ถ้ามองย้อนกลับไปยุคพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย มีการเชิญชวนบริษัทรถยนต์เข้ามาลงทุนไทย ซึ่งการผลิตรถยนต์ใช้ชิ้นส่วนหลักหมื่นหลักแสนชิ้น ตอนนี้บริษัทสอนเทคโนโลยีให้ไทยเพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อน เช่นเดียวกันหากไทยต้องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เหตุใดไม่ชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านดิจิทัลเข้ามาลงทุนไทย เพราะบริษัทระดับโลกในปัจจุบันมีมูลค่าการตลาดเกือบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ของไทย

ดังนั้น ไทยควรพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มนี้ซึ่งเป็นบิ๊กบอยมาลงทุนในไทย เช่น จะทำอย่างไรให้กูเกิลมาตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาด้านลงทุนเกี่ยวกับการบริหารสุขภาพในไทย เพราะแพทย์ไทยมีศักยภาพระดับโลก ยกตัวอย่าง โรคในประเทศเขตร้อนมีมาก หากโฟกัสให้บิ๊กบอยเหล่านี้มาก กระบวนการธุรกิจที่เติบโตไปคู่กับบริษัทเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เหล่านี้คือกลยุทธ์ระดับชาติ โดยสภาดิจิทัลฯจะเสนอรัฐบาลหากไทยไม่ทำจะสายเกินไป

ทั้งนี้ ทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันข้อมูลที่ใช้อยู่บนแพลตฟอร์มทั้งหมด ข้อมูลที่บันทึก ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ การส่งรูป ข้อมูลการเงิน เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ถูกส่งขึ้นไปบนเมฆ อยู่ในคลาวด์ และส่งไปสิงคโปร์ บางส่วนไปรัสเซีย บางส่วนไปจีน เพราะประเทศเหล่านั้น คือ ผู้ผลิต จะเห็นว่าเหล่านี้เชื่อมโยงกับความมั่นคง ดังนั้นข้อมูลที่เป็นของคนไทยควรอยู่ในประเทศไทย

พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยเปรียบเหมือนแหล่งน้ำมัน เป็นทรัพย์สินที่มีค่า ควรอยู่ในประเทศไทย ขอยกตัวอย่างถ้าภาครัฐอยากทราบข้อมูลประกันภัยรถยนต์ ถ้ารู้ว่าอุบัติเหตุรถยนต์เกิดที่ไหน ช่วงเวลาใด ข้อมูลเหล่านี้จะเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมา จะเสริมธุรกิจประกันภัยของประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ แบบนี้อนาคตไม่ต้องประกาศวันอันตรายช่วงสงกรานต์ ช่วงปีใหม่ เพราะข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีจะบอกเลยที่ไหนเสี่ยง จุดไหนเสี่ยง

ถามว่าทำไมต้องพึ่งบิ๊กบอย คนไทยทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้ แต่ไม่ลึกเท่าบริษัทเหล่านั้น อย่างดีพเทคก็ต้องพึ่งคนที่มีเงินและทุน คำถามคือจะเชิญชวนกลุ่มนี้มาไทยได้อย่างไร ยกตัวอย่างถ้าไทยจะสร้างกระบวนการผลิตยาตามอาการของคนไข้แต่ละคน คำตอบคือต้องมีข้อมูลสถิติ อาการของโรค จากนั้นจะประมวลผลเพื่อวิจัยผลิตยาที่ถูกต้องกับคนเอเชีย และในการผลิตต้องการซอฟต์แวร์ระดับสูงสุด ต้องเชิญคนที่เก่ง ต้องโฟกัสผู้พัฒนาเทคโนโลยี ไทยมีศักยภาพด้านการแพทย์ เชี่ยวชาญเกษตรกรรม หากนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนแต่ละด้านได้จะช่วยพัฒนาได้มาก

อีกด้านคือการศึกษา ช่วงโควิด-19 ทุกโรงเรียน มหาวิทยาลัยถูกบังคับให้เรียนออนไลน์ ซึ่งแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์มีช่องว่างในการสร้างธุรกิจใหม่ในการช่วยโรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำการสอนที่มีประสิทธิภาพแม้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ต้องรวมศาสตร์ ให้คนไอทีทำคนเดียวไม่ได้ ต้องให้ผู้จบศิลปศาสตร์ นิเทศศาสตร์มาช่วยเล่าเรื่อง ดังนั้นการรีสกิล อัพสกิล อยากให้มองมากกว่าการสร้างโปรแกรมเมอร์ แต่มีด้านอื่นด้วย

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลความต้องการลงทุนของบริษัทใหญ่ๆ พบว่ามี 2-3 เรื่องประกอบการตัดสินใจ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งไทยยังเก็บระดับสูง นอกจากนี้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติไทยกำหนดไม่เกิน 49% ขณะที่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของสตาร์ตอัพกำหนด 20 ล้านบาทเงินจำนวนนี้ไม่พอ แค่เริ่มต้นธุรกิจก็หมดแล้ว หรือกรณีกู้เงินธนาคาร ต้องถูกขอผลประกอบการย้อนหลัง แต่สตาร์ตอัพไม่มีเพราะเพิ่งเริ่มธุรกิจ และสุดท้ายสตาร์ตอัพต้องมีพี่เลี้ยง ในส่วนของภาคเอกชนพยายามสนับสนุน แต่ถูกตั้งคำถามว่าจะกินรวบสตาร์ตอัพ

อีกเรื่องที่สำคัญและยากที่สุดคือ เรื่องของคน จากการสำรวจของแม็คแคนซี พบว่า ทักษะงานในอนาคตมี 3 ด้านหลัก คือ ความเข้าใจธุรกิจ รู้จักลูกค้า คู่ค้า ต่อมาคือเทคนิคัลสกิล ไม่ใช่แค่มีโปรแกรมเมอร์ แต่ต้องใช้เทคโนโลยีเป็น เปิดมือถือเป็น ใช้เครื่องมือต่างๆ ได้ เหล่านั้นคือสกิลในงาน และอนาเลติกสกิล คือความคิด วิเคราะห์ และตรรกะ แต่ยังมีเรื่องที่ไม่ได้พูดถึงคือ การเป็นมนุษย์ ต้องฟังเป็น พูดเป็น สื่อสารเป็น

ตอนนี้ระดับการใช้งานดิจิทัล เปิด-ปิดเครื่องมือได้ ไทย 25% ส่งเมล์ได้ 15% ทำเพาเวอร์พอยต์ได้ ครีเอตได้ 9% และสามารถเขียนโปรแกรมได้ 1% ดังนั้นไทยต้องพัฒนา ล่าสุด สภาดิจิทัลฯจะสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ เพื่อให้ความรู้ประชาชน ใช้ชีวิต เรียนรู้ และมีเอกชนคอยช่วยเหลือ นอกจากนี้สภาดิจิทัลฯจะเสนอรัฐบาลให้เปลี่ยนการเรียนใหม่ จากการเรียนเป็นสหศึกษา ระบบการเรียนที่ใช้เทคโนโลยีสนับสนุน

นอกจากนี้ อยากให้รัฐ เอกชน ตั้งโจทย์ และให้นักศึกษาเป็นสตาร์ตอัพ ผลักดัน 5,000 โครงการ โครงการละ 10 คน ให้เป็นบริษัท ตั้งโจทย์ที่เป็นไปได้ เมื่อสร้าง 5,000 บริษัท ถ้ารอดแค่ 50 บริษัท สามารถเกิดสตาร์ตอัพได้ก็ดีแล้ว และภาครัฐต้องแปลงข้อมูล เน้นกระทรวงที่ยังเป็นอนาล็อก ใช้กระดาษ ไปสู่ดิจิทัล อย่างโรงพยาบาลที่ยังใช้กระดาษเก็บข้อมูลผู้ป่วย ต้องแปลงกระดาษสู่ดิจิทัล จะมีช่องทางอีกมหาศาล เป็นการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล ต้องแปลงดาต้าอนาล็อกสู่ดิจิทัล

สุดท้ายนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องบูรณาการขับเคลื่อนประเทศ รัฐ เอกชน ประชาชนต้องร่วมมือ ใช้จังหวะโควิดตอนนี้ การทำให้ดิจิทัลยั่งยืนเป็นโครงสร้างที่สำคัญ ไม่อยากให้มีนโยบายแค่มีบิ๊กดาต้าในภาคราชการ เพราะต่างคนต่างทำ ต้องมีผู้นำเบอร์หนึ่ง แต่ละด้านร่วมมือกัน โครงสร้างนี้ต้องทำอย่างไรให้โปร่งใส โครงสร้างนี้ขับเคลื่อนอย่างไร ต้องเอาโครงสร้างสมัยใหม่มาใช้ มีการชี้วัดผลคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ เหล่านี้จะทำให้ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้แน่นอน

วรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์
รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

ดิจิทัลอิโคโนมี หรือเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล เป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังมองว่าเราจะผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไร ที่จะทำให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในอนาคตที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งเทคโนโลยีประกอบด้วย 5 เรื่อง (5 เทคโดเมน) ที่ทำงานรวมกันเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ บริษัทมองเป้าหมายให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน

เศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่กำลังมีบทบาทและมีผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้เศรษฐกิจในยุคดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ จากการศึกษาของนักวิเคราะห์ มองว่าการลงทุนในด้านไอซีที 16-20% ช่วยเพิ่มจีดีพี ประมาณ 1% ซึ่งเป็นการใส่อินพุตและเอาต์พุตที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างเยอะ เป็นอีกหนึ่งมุมมองนำไปใช้ในพัฒนาอุตสาหกรรม ว่าจะนำเศรษฐกิจดิจิทัลไปใช้ส่งเสริม
ในด้านใด ให้เกิดการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ

ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วนำเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีสัดส่วนที่มีผลต่อจีดีพีมากกว่า 50% แต่ประเทศไทยมีสัดส่วนของการใช้เศรษฐกิจดิจิทัล ค่อนข้างน้อยไม่เกิน 20% เนื่องจากไทยเพิ่งนำเทคโนโลยี 5 จีมาใช้ อย่างจริงจัง รวมทั้งการผลักดันการใช้คลาวด์และเอไอ เป็นอาวุธสำคัญในการยกระดับประเทศไทยกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัล

การวางแผนยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล ไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นกัน และไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่สนใจพัฒนาด้านดิจิทัล การวางแผนเศรษฐกิจดิจิทัลและแผนยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล ถูกนำพัฒนาเป็นภารกิจหลัก ในการวางแผนการพัฒนาประเทศระยะยาว ซึ่งไม่ใช่การนำมาทดแทนนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ภายในประเทศ แต่เป็นเพียงการยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลที่แต่ละประเทศมี มาทำให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้จะทำให้การเติบโตของผลตอบแทนการลงทุนด้านไอซีที 6.7 เท่า และการลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ประเทศเติบโตได้รวดเร็วกว่าเศรษฐกิจปกติด้วย จึงทำให้หลายประเทศนำเอาเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้ในการทำแผนพัฒนาประเทศระยะยาว

ตัวอย่างประเทศจีน นำเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาเพิ่มความเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการยกระดับของสินค้า การเติบโตของจีดีพี ศักยภาพของธุรกิจ ที่มีการพัฒนา และมีมูลค่าที่สูงยิ่งขึ้น

ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศจีนขยายตัวถึง 35.8 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 36.2% ของจีดีพี หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศจีน ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในภาพรวม การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็น 67.7% หรือ 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีนโดยรวม และในอนาคต ประเทศจีนมีเป้าหมายในการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทั้งหมดมากกว่า 50% ไม่ใช่เพียงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการอำนวยความสะดวกเท่านั้น

กลไกในการทำงานของโครงสร้างเทคโนโลยีของเศรษฐกิจดิจิทัล แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ และศักยภาพในการคิดคำนวณ ในอนาคตเทคโนโลยี โซลูชั่น และการทำให้กลายเป็นดิจิทัล จะใช้การเชื่อมต่อและการคำนวณเป็นสองส่วนที่ทำงานส่งเสริมกัน ซึ่งการเชื่อมต่อเปรียบเสมือนแขนขา และการคิดคำนวณเป็นสมอง ที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งการทำงานก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นเป็นสองส่วนที่ต้องพัฒนาไปคู่กัน ทั้งสองอย่างนี้ ถ้าหากผนึกกำลังกันจะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ 5 เทคโดเมน เป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะทำให้เกินศักยภาพและมูลค่าใหม่ๆ ได้แก่ 1.ศักยภาพในการเชื่อมต่อ 2.การคิดคำนวณหรือการประมวลผล 3.คลาวด์ หรือการจัดเก็บข้อมูล 4.เอไอหรือศักยภาพในการประมวลผลอย่างฉลาด และ 5.แอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้มากที่สุด

ในภาพรวม โซลูชั่นต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกิดจากการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาส่งเสริมในทั้ง 5 เทคโดเมน เพื่อผลักดัน สิ่งของ ผู้ใช้งาน ระบบข้อมูล และอุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้ที่เกิดเทคโนโลยี 3จี 4จี จะเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อคนเข้าด้วยกัน แต่พอมีเทคโนโลยี 5จี จะยกระดับเป็นการเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรม องค์กร และระบบนิเวศ มีตัวกลาง ได้แก่ การเชื่อมต่อ คลาวด์ และเอไอ จะทำหน้าที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ระหว่างผู้ใช้ พาร์ทเนอร์ กับระบบอุตสาหกรรม องค์กรที่จะเอาไปใช้งาน

การเชื่อมต่อแบบอัจฉริยะ สนใจในเรื่องความเร็วที่เพิ่มขึ้นในการเชื่อมต่อ (ความเร็วของกิกะบิต) เช่น วีอาร์ (การจำลองภาพเสมือนจริง) การเล่นเกมส์ การเฝ้าระวังต่างๆ ที่สามารถรับรู้ได้ทันทีทันใด และการยกระดับการทำงานของระบบอัตโนมัติ ที่สามารถเชื่อมต่อได้หลายร้อยหน่วยภายในครั้งเดียว เช่น การเชื่อมต่อของรถบนท้องถนน ทำให้ผู้ขับรถยนต์แต่ละคันสื่อสารกันได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านศูนย์ควบคุม และสุดท้ายความแม่นยำในการควบคุมเทคโนโลยี เช่น โดรน แขนกล หรือหุ่นยนต์ ที่ต้องการความแม่นยำในการควบคุมจากทางไกล

ศักยภาพในการควบคุมการคำนวณ ในอนาคตอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ นอกจากมีศักยภาพในการเชื่อมแล้ว ก็จะมีความสามารถในการคิดคำนวณได้ด้วยตนเอง จากแต่ก่อนเป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่อย่างเมนเฟรม หรือเมนคอมพิวเตอร์จะพัฒนาเป็นอุปกรณ์ที่เล็กลงและใกล้ตัวคนมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์พีซี สมาร์ทโฟน เป็นต้น

การที่คิดคำนวณได้ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้นก็จะมีใช้ข้อมูลหรือดาต้าจะมากขึ้น ประมาณการว่าปี พ.ศ.2568 จะมีการใช้ข้อมูล 180 ล้านเทเลไบต์ และในอนาคตมากกว่าครึ่งมาจาก เอจ คอมพิวติง (edge computing) โดยมี 5 ลักษณะเด่นคือ การเปลี่ยนจาก ข้อมูลศูนย์กลางเป็น การคำนวณเป็นศูนย์กลาง การเพิ่มประสิทธิภาพการคำนวณสูงขึ้น ความหลายหลากของแพลตฟอร์มในการคำนวณ การใช้พลังงานน้อยลง ความแพร่หลายของการคำนวณ

คลาวด์ เป็นส่วนที่ทำร่วมกับความแพร่หลายของจากคำนวณ จากอดีตประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา ที่ความเจริญวัดโดยการกลายเป็นอุตสาหกรรม ดูปริมาณการผลิตและการเข้าถึงไฟฟ้า มาสู่ความเจริญที่วัดจากการกลายเป็นดิจิทัล โดยการวัดปริมาณการใช้งานของคลาวด์ โดยการดูแลการใช้คลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นใจ และเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง การใช้ ไฮบริด คลาวด์ อย่างมีศักยภาพมากที่สุด และใช้งานคลาวด์ในระดับแกนกลาง รวมถึง เอจ ให้ทำงานร่วมกัน

เอไอ เป็นการเสริมศักยภาพของการคิดคำนวณให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น โดยมีความสามารถให้การคิดคำนวณและการตัดสินใจได้รวดเร็ว นำมาใช้กับ ความรู้ในอุตสาหกรรม (Industry Know-how) เกิดประโยชน์กับการทำงานของเครื่องจักรหรือกับมนุษย์ หรืออุตสาหกรรม โดยทำงาน 3 รูปแบบ เช่น ทางบริษัทหัวเว่ย ใช้ เอไอ ในการเข้ามาช่วยในการแพทย์ ทำให้การคัดกรองผู้ป่วยใช้เวลาน้อยลง ในช่วงโควิด-19 หรือกรณีที่แพทย์จะต้องตรวจฟิล์มเอกซเรย์ทีละแผ่น ใช้เวลามากกว่า 10 นาที เมื่อมีเอไอมาช่วยจะใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที โดยการสร้างโปรแกรมจากเรื่องที่เราชำนาญเพื่อให้เอไอทำงานแทนในเวลาที่ลดลง

กรณีต่อมาคือในสิงคโปร์ ที่ใช้เอไอมาใช้ในการคัดแยกผลไม้ หรือสินค้าต่างๆ ทำงานได้แม่นยำและรวดเร็วขึ้น กรณีสุดท้ายคือ ในประเทศจีน ที่ใช้เอไอในการประมวลผลการจราจร แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ช่วยเลือกวิธีการหรือเส้นทางที่จะระบายรถยนต์ ซึ่งเมื่อใช้เอไอช่วย สามารถลดปัญหาจราจรติดขัดลง 15% เป็นการใช้เอไอช่วยคิดคำนวณได้ลึกและมากกว่ามนุษย์ (beyond human intelligence)

แอพพลิเคชั่น (industry Applications) เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน 12 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ (12 S-curves industry) ตามนโยบาย 4.0 ของประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเกิดจากสองแพลตฟอร์มคือการเชื่อมต่อ เช่น คลาวด์ เอจ 5จี และการคำนวณ และการใช้เอไอ ที่ทำงานรวมกันจนออกมาเป็นสูตรการแก้ไขปัญหา (solution formula) ที่อุตสาหกรรมต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ได้

ทั้งนี้ หัวเว่ยมองว่า การผลักดันให้ไทยเป็นฮับของภูมิภาค จะต้องมีความร่วมมือกันสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม การสร้างมาตรฐาน การสร้างอุตสาหกรรมและดึงเทคโนโลยีไปใช้ การสร้างบุคลากร การสร้างความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ เฮลธ์แคร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของทั่วโลกในปัจจุบัน

สำหรับบางอุตสาหกรรมที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มอย่างไร จะนำเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้อย่างไร ในส่วนของระเบียบข้อบังคม (regulation) และมาตรฐาน (standard) จะเข้ามาช่วยเป็นแนวทางในการปฏิบัติ (guideline) ในการที่จะทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมดิจิทับได้อย่างไร

หัวเว่ยเข้ามาในประเทศไทยกว่า 21 ปีแล้ว หวังว่าจะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลให้คนไทยทุกคน ทุกครัวเรือน และทุกองค์ได้ใช้ เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตจากนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image