‘บิ๊กตู่’ แจง 3 ปมขอเปิดอภิปราย ฝ่ายค้านอัด รบ.ยื่นญัตติไม่จริงใจ ซัดโยนความผิดให้ผู้ชุมนุม

‘บิ๊กตู่’ แจง 3 ปมขอเปิดอภิปราย ฝ่ายค้านอัด รบ.ยื่นญัตติไม่จริงใจ ซัดโยนความผิดให้ผู้ชุมนุม ยันเข้าร่วม-หวั่นฟอกขาว รบ.

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา เรื่องขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ว่าบัดนี้มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 165 โดยมีข้อเท็จจริงของปัญหา 3 ข้อ ข้อแรกว่าด้วยสถานการณ์โควิดที่กำลังระบาด ข้อ 2 ระบุถึงการที่ผู้ชุมนุมบางส่วนขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และมีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย มีการชุมนุมค้างคืนที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล จนเป็นเหตุให้มีการประกาศพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น.

และข้อ 3 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจจะพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์และควบคุมตัวบุคคลบางคน ในกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีบทบาทสําคัญในการยุยงและก่อให้เกิดการกระทําความผิด แต่การชุมนุมยังคงมีขึ้น ในเวลาต่อมาที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ สี่แยกปทุมวัน และแยกย้ายเป็นกลุ่มไปตามที่ชุมนุมต่างๆ ศูนย์กลางธุรกิจการค้า และสถานีขนส่งผู้โดยสารอีกหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในต่างจังหวัด จนน่าวิตกว่าจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย การคมนาคม และเศรษฐกิจในบริเวณใกล้เคียง

“ครม.เห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ เป็นปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน จึงสมควรฟังความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยการเปิด อภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

4ฝ่ายถกทางออกประเทศ

Advertisement

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานประชุม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เพื่อกำหนดประเด็นและกรอบเวลาในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 26-27 ตุลาคม เพื่อหาทางออกให้ประเทศจากสถานการณ์ชุมนุมของประชาชน เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายหลังการประชุม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงว่า ได้แบ่งการกรอบเวลาอภิปรายเป็น 4 กลุ่ม รวม 23 ชั่วโมง ได้แก่ ฝ่ายค้านได้ 8 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล ส.ว.และ ครม.ได้ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง และแบ่งเวลาให้ประธานรัฐสภาอีก 1-2 ชั่วโมง การประชุมในวันที่ 26 ตุลาคม เริ่มเวลา 09.30-22.00 น. ส่วนวันที่สองจะอภิปรายต่อจนครบเวลาที่เหลืออยู่ หวังว่าในญัตติของรัฐบาลที่เสนอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้จะเป็นทางออกทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงบ้าง

อัดรบ.ใช้เวทีรัฐสภาฟอกขาว

ต่อมาพรรคร่วมฝ่ายค้านได้แถลงข่าวร่วมกันที่พรรคเพื่อไทย (พท.) โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า มีความคิดว่าญัตติที่รัฐบาลได้เสนอมามองดูแล้วเป็นการให้ร้ายพี่น้องประชาชนมากกว่า ทำให้พี่น้องประชาชนกลายเป็นสาเหตุของปัญหา ไม่จริงใจ และไม่นำไปสู่ทางออกเลย อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านเราจะยืนหยัดที่จะปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของพี่น้องประชาชนในการเข้าร่วมอภิปรายวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ โดยพรรคฝ่ายค้านจะไม่ยอมให้ทางรัฐบาลใช้เวทีรัฐสภานี้ซักฟอกให้รัฐบาลนั้นขาวสะอาด แต่เวทีนี้ควรได้ใช้พูดกันเพื่อหาทางออกให้กับประชาชน

ซัดยื่นญัตติไม่ใช้3ข้อเรียกร้อง

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ญัตติที่รัฐบาลได้เสนอเข้าไปเราและสังคมคาดหวังตรงกันว่า การเปิดประชุมสมัยวิสามัญนี้จะเป็นการหาทางออกของวิกฤตจากการชุมนุมที่นับวันจะขยายตัว เมื่อเราตั้งธงแบบนี้ญัตติที่คาดคือสภาต้องช่วยกันหาสาเหตุของปัญหา และช่วยกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นี่จึงจะเป็นทางออก ดังนั้น รูปธรรมที่ต้องหยิบยกขึ้นมาคือข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุมมาพิจารณา ทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ การที่เขาเสนอให้นายกฯลาออก และการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรปรากฏในญัตติ แต่สิ่งที่รัฐบาลยื่นวันนี้ไม่มีเรื่องเหล่านี้เลยแต่กลับไปมีเรื่องของ โควิดซึ่งห่างไกลจากตรงนี้มากๆ นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกเอาเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม เรื่องขบวนเสด็จมากล่าวหาประชาชนกลับ ซึ่งการหยิบยกประเด็นอย่างนี้ขึ้นมาในสภาไม่ใช่ทางออก แต่จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง ไม่เข้าใจกัน

ยันแก้ข้อกล่าวหาให้ปชช.

นายสุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้ อีกมูลเหตุหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือการไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชน ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายรูปแบบ เราจึงเห็นว่าญัตติของรัฐบาลห่างไกลจากทางออกของวิกฤต แต่กลับกล่าวร้าย กล่าวหาประชาชน โยนความผิดให้ผู้ชุมนุม และเจตนาจะเบี่ยงเบนไม่ให้พวกเราพูดถึงความล้มเหลวที่มีหลายด้านของรัฐบาล ตั้งใจฟอกตัวเอง โดยเอาเรื่องที่ประชาชนเสียเปรียบ แต่ตัวเองได้เปรียบหยิบยกขึ้นมาเพื่อเอาเปรียบประชาชน

ดังนั้น ญัตตินี้รัฐบาลขาดวุฒิภาวะ และสุ่มเสี่ยงที่จะขัดข้อบังคับประชุมสภา ที่ไม่ให้พูดเรื่องสถาบันฯ และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบและความเสียหายในวงกว้าง ไม่ส่งผลดีต่อใครเลย ทำให้ผู้อภิปรายสุ่มเสี่ยงกระทบไปถึงเบื้องสูงได้ เราผิดหวังกับญัตตินี้ ไม่ชอบธรรมกับผู้ร่วมประชุม แต่เราได้ข้อสรุปว่า เราจำเป็นต้องถือโอกาสนี้เข้าไปอธิบายข้อเท็จจริงที่ประชาชนถูกกล่าวหา เพราะถ้าไม่มีเราเข้าไปอธิบาย เราเชื่อว่า สภาวันนั้น 3 ฝ่ายคือ ครม. ส.ว.และ ส.ส. รัฐบาลอาจใช้ข้อมูลด้านเดียวมาอธิบาย พี่น้องประชาชนยิ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจึงจำเป็นต้องเข้าไปทำหน้าที่เพื่ออธิบายข้อเท็จจริง เป็นอีกครั้งที่ฝ่ายค้านจำใจต้องปฏิบัติหน้าที่นี้

ก.ก.ซัดโยนความผิดม็อบ

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า เจตนาของเราคืออยากให้สภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการคลี่คลายและเป็นเสาหลักในการแก้วิกฤตบ้านเมือง แต่ญัตติดังกล่าวกลับเป็นการกล่าวหาให้ร้ายประชาชน ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านจึงต้องเข้าไปอภิปรายเพื่อให้ความยุติธรรมกับประชาชน แก้ข้อกล่าวหาต่างๆ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน โดยเราจะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ แม้จะพรรคฝ่ายค้านจะมีเวลาแค่ 8 ชั่วโมง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ส.ว.มีเวลารวมกันกว่า 15 ชั่วโมง หวังว่าประธานสภาจะควบคุมการประชุมและสามารถให้ความยุติธรรมทุกฝ่ายที่เข้าร่วมการอภิปรายครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image