ปชป.จัดทัพอภิปรายหาทางออกประเทศ จุรินทร์ รับ อยากให้พ่วงถกญัตติแก้รธน.ไปด้วย

“จุรินทร์”นำส.ส.ปชป.ร่วมวางพวงมาลา เผย เตรียมเรียกประชุมส.ส.พรรค อาทิตย์นี้ จัดทัพวางกรอบอภิปราย หาทางออกประเทศ ระบุ อยากเห็นพ่วงอภิปรายญัตติแก้รธน.ด้วย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 ตุลาคม ที่ลานพระราชวังดุสิต นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำตัวแทนส.ส.และสมาชิกพรรค ร่วมวางพวงมาลาเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต

จากนั้น นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ในการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่จะมีขึ้นวันที่ 26 -27 ตุลาคมนี้ ว่า ในวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม เวลา 16.00 น. พรรคประชาธิปัตย์จะมีการประชุมส.ส. เพื่อเตรียมความพร้อม ในการประชุมร่วมรัฐสภา โดยจะมีการหารือเรื่องกรอบเวลาที่พรรคประชาธิปัตยได้รับเพื่อพิจารณาว่าจะจัดผู้อภิปรายจำนวนเท่าใด ซึ่งโดยหลักจะต้องอภิปรายตามจุดยืนของพรรค คือการยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมทั้งนับหนึ่งที่ต้องการเห็นประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันแสวงหาทางออกของประเทศ ซึ่งต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่เห็นพ้องและนำมาสู่การเปิดประชุมร่วมรัฐสภา รวมทั้งจุดยืนให้ทุกฝ่ายหาทางออกของประเทศร่วมกันอย่างสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเน้นการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ และเสนอทางออกว่า หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วควรจะทำอย่างไร อย่างน้อยที่สุดคืออยากเห็นการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ประกอบด้วยส.ส. ทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งหมดนี้เพื่อต้องการให้มาช่วยกันทำหน้าที่กำหนดสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ว่าควรมีทางออกอย่างไรที่เป็นรูปธรรม ส่วนอะไรที่ยังเห็นต่างก็ขอให้แขวนไว้ก่อน อะไรที่เห็นตรงกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะรับไปปฏิบัติ เพื่อช่วยกันให้ทางออกของประเทศภายใต้ความเห็นร่วมกันของรัฐสภาสามารถเป็นความหวังให้กับประชาชนได้ และพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบรัฐสภาของประเทศอย่างเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ และการเมืองในระบอบประชาธิปไตยยังสามารถเดินไปได้

เมื่อถามว่า ญัตติที่จะอภิปรายในการประชุมร่วมรัฐสภามีบางประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยง นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถ้ามีคำถามรัฐบาลก็คงทำหน้าที่ชี้แจงเหตุผลต่างๆ ว่าเหตุใดจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเวทีรัฐสภาเป็นเวทีที่ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น และชี้แจงทำความเข้าใจ

Advertisement

ส่วนประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์รัฐบาลจะชี้แจงอย่างไร นายจุรินทร์ กล่าวว่า ก็ต้องเป็นไปตามกฏหมาย การอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม ซึ่งประธานรัฐสภาจะทำหน้าที่ควบคุมการประชุม ไม่มีใครมีสิทธิ์ทำนอกข้อบังคับ และนอกรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถามว่า การประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้ ไม่ได้มีการบรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาด้วย จะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดชัดเจนมาตั้งแต่ต้น และเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาล และขณะนี้ก็มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งพรรคมีจุดยืนมาตั้งแต่ต้น เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนในหมวดอื่นๆถ้าจะมีการยกร่าง ก็จะต้องสอดคล้องกับหมวด 1 และหมวด 2

“ใจผมอยากให้มีการพิจารณาญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็ต้องดูว่าญัตติดังกล่าวสามารถนำเข้าบรรจุระเบียบวาระการประชุมได้หรือไม่ แต่มีประเด็นเพิ่มเติมว่า ขนาดนี้มี 6 ญัตติ แต่ยังมีอีกหนึ่งญัตติ คือญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบรายชื่อ เข้าใจว่าจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้ประมาณวันที่ 12 พฤศจิกายน หรือช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งผมให้วิปพรรคประชาธิปัตย์ไปคุยกับวิปรัฐบาล หรืออาจจะต้องคุยกับวิป3 ฝ่าย ว่าจะพิจารณา 6 ญัตติไปก่อนหรือรอพิจารณารวมกัน แต่หากพิจารณา 6 ญัตติไปก่อนก็อาจจะเกิดข้อกังขา ว่าทิ้งร่างหรือไม่ให้ความสนใจไอลอว์หรือไม่ หรือถ้ารอก็อาจจะถูกข้อครหาว่า รัฐบาลหรือสภาถ่วงเวลา จึงเป็นสิ่งที่วิป 3 ฝ่ายควรต้องไปหารือร่วมกัน แต่พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนที่จะสนับสนุน การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นทางออกของประเทศ และนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย” นายจุรินทร์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image