รายงานหน้า2 : เปิดสภาถก‘แก้วิกฤต’ ทางออกสันติวิธี-ความหวัง?

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการถึงวาระการเปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาในวันที่ 26-27 ตุลาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.และ ส.ว.โดยขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและลดปัญหาข้อขัดแย้งของประเทศ

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การใช้เวทีสภาแก้ปัญหาความขัดแย้ง จากการดูท่าทีจากฝ่ายต่างๆ ประเมินว่าเป็นไปได้ยากมาก แม้ว่ารัฐบาลจะใจกว้างเปิดให้มีการประชุมสมัยวิสามัญ แต่ประเด็นในการพูดคุยไม่ได้มาจากภาคประชาชนหรือพรรคฝ่ายค้าน เพียงแต่มีการวางกรอบเพื่อถามแนวทางการทำงานของรัฐบาล ดังนั้น จึงเป็นแทคติคเหมือนการยื้อเวลา และใช้กลไกรัฐสภาในขณะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมาก โดยทำให้เห็นว่ารัฐบาลถอยแล้ว แต่อาจจะไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาและเชื่อว่าจะมีการใช้ยุทธวิธีเพื่อให้มวลชนในกลุ่มที่ออกมายื่นข้อเรียกร้องล้าไปเอง เหมือนที่เคยทำสำเร็จในยุค คสช.ทำให้การเคลื่อนไหวภาคประชาชนอ่อนกำลังลงในที่สุด
ขณะที่ความขัดแย้งครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตใหญ่ การใช้กลไกของรัฐสภาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ต้องนำประชาชนมาพูดคุยด้วย ไม่ใช่พูดคุยกันเองตามที่รัฐบาลกำหนดกรอบ แต่การประชุมจะต้องดูว่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะปล่อยให้มีการพูดถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของการชุมนุม เรื่องละเอียดอ่อนบางเรื่องระหว่างการชุมนุม ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ควรมีการพูดคุยพร้อมกันทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและตัวแทนภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่ทางออก
การประชุมสภาอาจจะสอดคล้องกับไทม์ไลน์หลังจากไปยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งหากมีแรงกดดันจากภาคประชาชนหนักขึ้น ขณะที่รัฐบาลและ ส.ว.ไม่ได้สนใจและมองดูว่าพยายามยื้อเวลาไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเห็นทางออก 2 ทาง คือการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาเดิม ไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่อะไรเพิ่มอีกหรือไม่ หรืออีกทางคือการทำรัฐประหาร แต่ว่าทางเลือกอื่นในการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมหรือมีการปั่นสถานการณ์ให้ม็อบชนม็อบเป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่อยากเห็น และหากเกิดขึ้นจริงจะไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างทางการเมืองในระยะยาวได้
จากการพูดคุยกับนักศึกษาพบว่าสิ่งที่เป็นทางออกที่รัฐบาลเสนอนักศึกษาจะไม่รับเงื่อนไขทั้งหมด แต่ต้องได้ในสิ่งที่เรียกร้องในหลักการที่นำเสนอ และต้องดูต่อว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้องคาพยพของตัวรัฐเอง ยังเป็นเนื้อเดียวกันกับพรรคร่วมรัฐบาล ส.ว. ไม่ได้มีความแตกแยก ขณะที่ฝ่ายค้านอ่อนแอ แต่นักศึกษายังยืนยันข้อเรียกร้องเดิม เพราะฉะนั้นการชุมนุมอาจจะต้องมีต่อเนื่อง
ความหวังจากการประชุมสภาหากมีการตั้งกรรมาธิการ คณะกรรมการกลางเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง ส่วนตัวยังไม่เห็นประโยชน์ เพราะเดิมหากรัฐบาลสนใจหรือให้ความสำคัญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง คณะกรรมาธิการชุดเดิมที่ศึกษาแนวทางไว้ก็วิเคราะห์สรุปปัญหาไว้ดีแล้ว แต่ยังไปตั้งกรรมาธิการชุดใหม่หลังจากมีร่างที่นำเสนอเข้าสภา ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีความจริงใจ ภาคประชาชนคงไม่ต้องการเสียเวลาไปนั่งพูดคุยอีกต่อไป เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และเห็นว่าจะทำได้เมื่อมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่
การประชุมสภาครั้งนี้คงผิดหวัง หากไปตั้งความหวังว่าจะมีการถอยคนละก้าว เพราะวันนี้ยังไม่เห็นท่าทีของนายกรัฐมนตรีจะถอยจริง ทั้งที่มีข้อเรียกร้องถึงนักศึกษาหลายอย่าง ถ้ามองหนทางอื่นเพื่อหาทางออกก็ต้องดูว่ารัฐบาลสนใจข้อเสนอมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยต้องเปิดใจคุยกับผู้ชุมนุม อย่าทำให้การเปิดสภาเป็นเพียงการรับฟังเสียงสะท้อน แต่ไม่มีบทสรุปเพื่อหาแนวทางที่จะทำให้บ้านเมืองสงบทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

Advertisement

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ขอให้ทุกฝ่ายยุติการเล่นเกมการเมือง อย่าคิดว่าการเสนอทางออกเป็นเรื่องของการแพ้หรือชนะทางการเมือง เช่น อาจมีความเห็นว่าการนัดชุมนุมอาจคลี่คลายถ้าเผื่อรัฐบาลแน่ใจว่าจะผลักดันให้การประชุมสภาสมัยสามัญต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยรับหลักการวาระแรกเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วอย่าพยายามไปตอกย้ำกรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศแล้วจะไม่ลาออก และควรเสนอทางออกเพื่อให้อีกฝ่ายยอมรับได้ เชื่อว่าวันนี้หลายฝ่ายยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งจำเป็นเพียงแต่จะเลือกแก้ไขอย่างไร เลือกแนวทางไหนเท่านั้นเอง โดยเฉพาะการตั้ง ส.ส.ร.อยู่ที่ประชาชนจะเลือกใครเข้ามา แต่ถ้าเลือกแบบกำหนดบางแนวทางไว้อาจจะถูกรัฐบาลแทรกแซงได้
สำหรับข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการยอมรับว่ามีเงื่อนไขที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ถ้าตัดสินแนวทางหรือทางออกในสภา ก็จะถูกมองว่ารัฐบาลอาจจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ หลังจากมี ส.ว.บางรายออกมาแสดงตัวเข้าข้างอีกฝ่ายชัดเจน แล้วจะให้รัฐบาลเป็นผู้เสนอทางออกได้อย่างไร ดังนั้น การประชุมรัฐสภาควรเปิดช่องให้มีการเสนอทางออกเพื่อคลายความขัดแย้งทุกทาง อย่าปล่อยให้มีการกีดกัน หรือการโต้แย้ง แล้วมีข้อสรุปให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบว่าจะเลือกแนวทางไหนหรือรัฐบาลมีทางออกอะไรบ้าง
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐลงมติแล้วไม่ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ขณะที่ม็อบยื่นข้อเสนอให้ลาออก แต่ถ้านายกรัฐมนตรีบอกเองว่ายอมถอยเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ คราวนี้สังคมอาจจะมองว่านักศึกษาดื้อหรือเรียกร้องเกินไปหรือไม่ ถ้านายกฯตัดสินใจรีบเสนอก็อาจจะชนะใจมวลชนในแง่ของการยอมถอย ทุกอย่างควรให้สังคมตัดสิน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตัดสินเอง
ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องยอมรับความจริงว่าประชาชนรู้เท่าทันเกมการเมืองของแต่ละฝ่ายหมดแล้ว ดังนั้น 2 วันที่มีการเปิดสภา ฝ่ายค้านควรตั้งเป้าหมายเพื่อเสนอทางออก หรือ ส.ว.จะเสนออะไร เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำเงื่อนไขไปพิจารณาว่าจะเชื่อความเห็นจากฝ่ายไหน ส่วนข้อเสนอของม็อบบอกให้นายกฯลาออก ก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องอีกนาน เพราะคณะราษฎร 2563 ได้เสนอแนวคิดที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองย้อนหลังในปี 2475

 

Advertisement

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

การแก้ปัญหาระยะสั้นในการเปิดประชุมสภา ควรมีวิธีที่จะพูดคุยเพื่อหาทางออก ด้วยการงดการกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะถ้าเริ่มกล่าวโทษปัญหาจะไม่จบ และเสียเวลาอันมีค่า สิ่งแรกในการเปิดประชุมขอให้มีความเห็นในเชิงบวก ถ้าเป็นไปได้พยายามพูดในสิ่งที่ทำได้จริง แล้วถ้าจะเสนอแนะในเชิงบวกก็ขอให้บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลหรือผู้ชุมนุมจะทำอะไรได้บ้าง ในการประชุมสภาเชื่อว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รับฟังความเห็นที่หลากหลาย
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็ต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคู่ขนานกับสิ่งที่รัฐบาลยื่นเงื่อนไข จากนั้นช่วยกันประเมินเพื่อให้ข้อเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดร่วมหรือจุดที่ยังเห็นต่าง จากนั้นให้ผู้เห็นต่างมีโอกาสมาพูดคุยโดยตรงมากขึ้น สำหรับการคลี่คลายความขัดแย้งหากจะมีการเจรจาของผู้เกี่ยวข้องเกิดขึ้น เป็นกระบวนการที่มีการรักษาประเด็นการพูดคุยให้รัดกุม แต่บางประเด็นยอมรับว่าอาจไม่ได้นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ดังนั้น รัฐสภาต้องระดมความคิดว่าควรทำอย่างไร เพื่อมีการเจรจาเกิดขึ้น
แต่ถ้าจะตอบโจทย์ของรัฐสภาเอง ก็ควรเปิดช่องให้มีการอภิปรายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้ง ส.ส.ร.หรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ภาคประชาชนลงชื่อเพื่อนำเสนอ แม้ว่าเรื่องนี้ได้กำหนดไว้ญัตติ แต่อาจอภิปรายได้ว่าหากรัฐสภาจะพิจารณารับหลักการ หรือรับข้อเสนอของผู้ชุมนุมจะมีการกำหนดระยะเวลาไว้อย่างไร มีปัญหาข้อติดขัดจากข้อกฎหมายอย่างไร สภาควรทำเรื่องนี้ให้กระจ่างชัดเพื่ออธิบายให้ผู้ชุมนุมและสาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริง
สำหรับการพูดถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง ท่อน้ำเลี้ยงของม็อบ หรือมีการตั้งมวลชนอีกกลุ่มไปทำกิจกรรมเพื่อเติมเชื้อของความขัดแย้ง ตัวแทนรัฐสภาสามารถพูดได้ แต่ขอให้ใช้หลักฐาน อย่าใช้การคาดคะเน โดยเฉพาะการใช้โวหารเพื่อชี้ให้เห็นถึงทฤษฎีสมคบคิด มองว่าม็อบมีท่อน้ำเลี้ยง มีประเทศมหาอำนาจอยู่เบื้องหลัง เหมือนกับเป็นผู้หยั่งรู้ ถ้าจะพูดแบบนี้ก็ทำได้ แต่ขอให้มีการแสดงหลักฐาน แต่อาจมีข้อโต้แย้งว่าเรื่องแบบนี้ใครจะมีใบเสร็จ ถ้าไม่มีก็คงจะพูดลอยๆ ใช่หรือไม่ หรือถ้าจะอ้างหลักฐานแวดล้อมก็ต้องมีน้ำหนักหรือใช้เหตุผล ตรรกะ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักฐาน แต่ไม่ควรปล่อยให้การประชุมเป็นเวทีเพื่อกล่าวโทษซึ่งกันและกัน ทั้งที่ความจริงควรกล่าวโทษตัวเองจะดีที่สุด ดีกว่ากล่าวโทษคนอื่น

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต

อาจจะมีการอภิปรายถกเถียงหาผู้รับผิดชอบจากการชุมนุม แต่จากสถานการณ์ล่าสุด เชื่อว่าการประชุมสภาน่าจะไม่ทันกับข้อเรียกร้องที่ประชาชนต้องการ และเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความหวังกับการเปิดประชุมในปัจจุบันแล้ว เพราะล่วงเลยจุดที่สภาจะคิดว่าผู้เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วมในการหาทางออกได้อย่างไร ทั้งที่การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดและรวดเร็วเพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลาย ควรมาจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล อย่างน้อยควรมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมคุมขังได้ทันที ไม่ต้องรอเสียงเรียกร้องจากรัฐสภา
จากนั้นให้รัฐบาลสื่อสารไปยังกลไกการทำงานของภาครัฐให้ยุติการบิดเบือนข้อมูลบางอย่าง เปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนแสดงออกตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่มีท่าทีในการคุกคามประชาชน ซึ่งรัฐบาลควรทำทันที และต้องหาทางเจรจาพูดคุยกับกลุ่มที่เป็นแกนนำ ส่วนตัวไม่มั่นใจว่าถึงปัจจุบันจะพูดคุยกันได้อีกหรือไม่ ถ้าทำได้ทุกฝ่ายจะมีทางออกที่สันติที่สุด เพราะว่าเป็นการเจรจาเพื่อยอมถอยในบางจุด แต่ถ้าเจรจาแล้วไม่มีใครถอยก็ไม่เกิดประโยชน์ และถ้าต้องการบรรลุผลก็อยู่ที่รัฐบาลมีความตั้งใจจริงเพื่อจะคลี่คลายสถานการณ์นี้หรือไม่
ที่น่ากังวลคือประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้ยังไม่เห็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีไปถึง 84 ส.ว.ให้ร่วมโหวต และหากมีการเจรจาฝ่ายผู้ชุมนุมก็อาจจะต้องขอให้นายกรัฐมนตรีมีท่าทีในเรื่องนี้ แต่วันนี้สิ่งที่มวลชนเรียกร้องคือ ขอให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ส่วนที่มองว่าท่าทีของนายกรัฐมนตรีอาจดูอ่อนลงโดยไม่เข้าสลายการชุมนุม น่าจะสวนทางกับกรณีที่มีคำสั่งให้ผู้ดูแลสถานการณ์เป็นผู้ตัดสินใจ และท่าทีของฝ่ายรักษากฎหมายยังแข็งกร้าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image