จับท่าที‘ส.ส.-ส.ว.’ ปลดชนวนขัดแย้ง?

จับท่าที‘ส.ส.-ส.ว.’ ปลดชนวนขัดแย้ง?

หมายเหตุเสียงสะท้อนจากพรรคการเมืองรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ เพื่ออภิปรายหาทางออกวิกฤตของประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าจะทำให้อุณหภูมิการเมืองเพิ่มมากขึ้น

เทพไท เสนพงศ์
ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 นั้น จากการได้อ่านรายละเอียดของญัตติที่รัฐบาลเสนอต่อประธานรัฐสภาแล้ว รู้สึกวิตกกังวลในรายละเอียดของญัตติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ 2 ได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม ต่อการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา ที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 45 ห้ามกล่าวถึงสถาบันโดยไม่จำเป็น แต่เมื่อรัฐบาลได้เสนอญัตติที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันเข้ามาสู่การอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภาก็เป็นสิทธิที่สมาชิกรัฐสภาจะอภิปรายตามเนื้อหาในญัตติที่รัฐบาลเสนอมา ซึ่งจะต้องมีการอภิปรายกล่าวถึงสถาบันด้วยความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาอย่างเคร่งครัด แต่ก็เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาเช่นเดียวกันที่จะอภิปรายตามเนื้อหาของญัตติที่เกี่ยวข้องด้วยความจำเป็น ซึ่งเป็นการยกเว้นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 45

Advertisement

เชื่อว่าบรรยากาศการประชุมรัฐสภาในครั้งนี้จะเกิดความวุ่นวาย มีการประท้วง และมีการอภิปรายพาดพิงกันไปมาไม่รู้จักจบสิ้น และจะเป็นการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในการควบคุมการประชุมที่ยากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคำอภิปรายที่กล่าวถึงสถาบันท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงทั้งภายนอกและภายในรัฐสภา จึงขออย่าให้การประชุมรัฐสภาในครั้งนี้เป็นเวทีความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะจะทำให้การประชุมรัฐสภาล้มเหลวในการแก้ปัญหาของประเทศชาติและจะทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับการเมืองในระบบรัฐสภา

สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์
ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

การเปิดประชุมตามที่รัฐบาลได้เสนอ ทุกฝ่ายรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชน ส.ว.และรัฐบาลต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นเสนอถึงแนวทางการแก้ปัญหาในวิกฤตครั้งนี้ เป็นกลไกของประชาธิปไตย เราต้องการให้หลายๆ ส่วนมาพูดคุยหาทางออก แต่การอภิปรายในรัฐสภาที่ผ่านมา ฝ่ายค้าน รัฐบาล ทำหน้าที่มากเกินไป หากมาอภิปรายลักษณะเดิมๆ ต่อว่า ด่าทอเหมือนเดิม ส.ส.รัฐบาล ส.ว.พูดเข้าข้างตนเอง ชมรัฐบาลเหมือนเดิมก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น เพื่อให้เวทีนี้เกิดประโยชน์ต่อประเทศควรนำปัญหามาพูดคุยว่าผู้ชุมนุมต้องการอะไร มีข้อไหนที่เป็นไปได้บ้าง มาหาทางออก เช่น เรื่องให้นายกฯลาออกก็มี 2 มุม บางกลุ่มพอใจการทำงานของนายกฯ บางกลุ่มไม่พอใจ อยากให้รับฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่ฟังรัฐบาลแต่ต้องเป็นกระแสของสังคม ไม่ขอก้าวล่วงเพราะทุกคนต่างมีเหตุผลตนเอง ขณะที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญผมก็เห็นด้วยในบางมาตรา เพราะโลกเปลี่ยนไปสังคมก็มีการปรับเปลี่ยนไป ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้และควรทำถ้าสิ่งใดไม่ไปตามยุคตามสมัย มีอยู่แล้วเป็นปัญหา ที่มาของ ส.ว. หรือบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ยอมรับว่าเป็นปัญหาอยู่ ผมเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 เรื่องเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

ส่วนเรื่องสถาบันควรต้องรอหรือข้ามไปก่อน ต้องฝากไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม นักศึกษา นักเรียน เราต้องดูความจริงด้วยอย่าดูแต่ความหวัง ดูความจริงว่าสังคมไทยส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วย ในสังคมเรามีคนหลากหลาย เช่น คนสูงอายุ คนทำงาน ที่ไม่เห็นด้วย เราก็ควรข้ามไป เราต้องเคารพคนส่วนใหญ่ในสังคม อย่างไรก็ตาม อยากให้การอภิปรายในสภาทั้ง 2 วันนี้ควรใช้เวทีนี้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ อย่าทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านจนเกินไป ตำหนิอย่างเดียว ควรหาแนวทางยุติปัญหาให้ได้ อะไรควรแก้อย่างไรต้องช่วยกัน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องเยินยอนายกฯอย่างเดียว แต่เอาปัญหามาพูดคุยหาแนวทางที่เป็นเรื่องจริง ใช้เวทีให้เกิดประโยชน์จริง มิเช่นนั้นจะสร้างความเสื่อมให้สภา คนจะไม่ฟัง คนจะไม่นับถือ จะไม่เคารพและไม่เชื่อมั่นอีกต่อไป

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ตามปกติในสังคมที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รัฐบาลที่ดีและมีความยึดโยงกับประชาชนจะต้องรับฟังและหาทางออกอย่างสมานฉันท์เพื่อรับความแตกต่างหลากหลายและเดินหน้าประเทศไปให้ได้ ไม่ใช่มาตอกลิ่มความคิดเห็นที่แตกต่าง และเปลี่ยนความเห็นต่างมาเป็นความขัดแย้ง ความเกลียดชัง อาฆาตมาดร้าย จนนำไปสู่การประทุษร้ายต่อกัน และใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐหรือใช้นิติสงครามที่เลือกปฏิบัติทางกฎหมาย ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเสมอภาคจากการบังคับใช้กฎหมายได้ ตอนนี้เราเห็นร่องรอยของรัฐที่กำลังทำเช่นนี้แล้ว เราจึงกังวลว่าญัตติที่ใช้ในการอภิปรายในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญนี้จะไม่ใช่เวทีในการแสวงหาทางออก แต่จะเป็นเวทีที่รัฐบาลใช้โจมตีผู้ชุมนุม และปลุกระดมผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่ง ให้รู้สึกว่าสามารถสร้างความรุนแรงได้ เพราะรัฐจะคอยปกป้องการใช้ความรุนแรงนั้น โดยมีเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว สังคมต้องมีวุฒิภาวะกันมากกว่านี้ ไม่ใช่มีเด็กแหย่ แล้วอ้างความชอบธรรมนี้เข้าไปทำร้ายอีกฝ่าย

ส่วนญัตติ 3 ประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอนั้นอาจจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง แต่ฝ่ายค้านเราจะใช้เวทีรัฐสภาคลี่คลายความขัดแย้ง และโอบรับประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ให้ฉุกคิดว่าเราอาฆาตมาดร้ายต่อกันไม่ได้ ส่วนประเด็นที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่นั้น พรรค ก.ก.พยายามเสนอให้เกิดการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย พูดคุยและถกเถียงกันได้อย่างมีวุฒิภาวะ เวทีครั้งนี้เราจะทำเป็นตัวอย่างที่จะพูดคุยในทุกเรื่องด้วยความปรารถนาดีอย่างมีวุฒิภาวะ ในการประชุมรัฐสภาครั้งนี้ ฝ่ายค้านจะแสดงวุฒิภาวะ หากเปรียบเป็นมวยก็คือการต่อยแบบสามารถ พยัคฆ์อรุณ ที่จะเด้งเชือกหลบโชว์สักสี่ห้าหมัด และสวนหมัดเข้าปลายคาง เพราะฝ่ายค้านได้เวลาอภิปราย 8 ชั่วโมง จาก 23 ชั่วโมงนั้น โดยพรรค ก.ก.ได้เวลาประมาณ 100 นาทีเศษ เราจึงต้องอภิปรายอย่างตรงประเด็น

สุทิน คลังแสง
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)

การอภิปรายแก้วิกฤตน่าเป็นห่วงเพราะว่าถูกกำหนดโดยรัฐบาลว่ารัฐบาลเขียนญัตติอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐบาลวางไว้ แต่รัฐบาลดันมีญัตติบีบประเด็นที่ล่อแหลมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทะเลาะกัน ประเด็นที่รัฐบาลเขียนไม่ได้หาทางออกแต่เป็นการสร้างความขัดแย้งเพิ่ม เช่น ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน ผมเองก็หนักใจว่ามันจะไม่ใช่ทางออก มันจะขัดแย้งเพิ่ม และการอภิปรายครั้งนี้จะทำให้ประชาชนผิดหวัง แต่อยากพูดเรื่องมูลเหตุที่ทำให้เกิดการชุมนุมและสาเหตุวิธีแก้ปัญหาแต่ก็ไม่รู้ว่าถ้าพูดแบบนี้ทางประธานจะอนุญาตหรือไม่ และจะมีการประท้วงหรือไม่ โดยพรรค พท.ได้วางกรอบไปแล้วกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองมีทางออกคือ 1.รัฐบาลต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญ จะแก้แค่ไหนอย่างไรก็ต้องรีบแก้ อันไหนที่แก้ไม่ได้ก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ 2.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออกเพราะมันไม่มีทางออกอย่างอื่นแล้ว เพราะถ้าไม่ลาออกก็จะไม่จบ เพราะความต้องการของประชาชนตอนนี้ชัดเจน และถ้าลาออกไม่ได้ นายกฯต้องอธิบายและควรที่จะหลีกเลี่ยงใช้มวลชนปะทะกัน หลีกเลี่ยงการใช้ท่าทีที่จะข่มขู่คุกคาม ไม่งั้นไม่ใช่ทางออก

25
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

ผมมั่นใจว่าถ้าทุกฝ่ายใช้เวทีรัฐสภาร่วมกันแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้มุ่งหน้ามาโจมตีกล่าวหากันไปมา การเปิดประชุมสมัยวิสามัญรอบนี้จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก สมมุติว่าหากมีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งสร้างความปรองดองสมานฉันท์เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ถือโอกาสนี้ใช้เวทีรัฐสภาชี้แจงได้ทันทีว่าอะไรที่รัฐบาลทำไปแล้ว แล้วยังมีสิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ ติดขัดตรงไหนบ้าง ก็สามารถขอข้อเสนอแนะจากที่ประชุมรัฐสภาได้ สมมุติว่า มีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลทำได้ก็ควรทำ หรือสมมุติว่ามีข้อเสนอแนะให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ผมคิดว่านายกฯก็ควรรับฟัง เพื่อแลกเปลี่ยนกันว่าระหว่างการลาออกกับไม่ลาออกอะไรดีกว่ากัน ถ้ายังอยู่แล้วช่วยกันแก้ปัญหาเป็นประโยชน์กว่าหรือไม่ ไม่เสียเวลาของประเทศหรือเปล่า ช่วยให้ประเทศคลี่คลายปัญหาได้หรือไม่ แบบนี้จะสร้างสรรค์ต่อการแก้ปัญหา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายค้านก็ต้องไม่ใช้เวทีนี้มาละเลงน้ำลายใส่กัน ขอให้ใช้เวทีนี้เป็นเวทีเพื่อสติปัญญา เป็นเวทีที่เป็นความหวังของประชาชน จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก

ต้องยอมรับเวลาคนเรียกร้องก็ต้องเรียกร้องมากไว้ก่อนอยู่แล้ว แต่อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ถอยกันคนละก้าว ดังนั้น หากนายกฯอยู่ต่อ แล้วอะไรทำได้ทันที ผมคิดว่าเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะถือว่าเป็นการยอมรับฟังความเห็น ที่สำคัญยังฟังมากกว่าฟังจากฝ่ายเราเองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังเห็นว่ารัฐบาลจะเป็นส่วนสำคัญมากในการแก้ไขปัญหา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์แสดงออกชัดเจนว่ารัฐบาลจะเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สังคมก็จะเกิดความชัดเจน แต่ถ้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเลยว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องของรัฐบาล โดยจะสนับสนุนเต็มที่และจะเป็นผู้นำขอความร่วมมือทุกฝ่าย รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ก็จะถือว่าเป็นผู้นำต่อการแก้ปัญหาจริงๆ ถ้าทำได้ ทั้งรัฐบาลก็ได้ประโยชน์ รัฐสภาซึ่งเป็นเวทีสำหรับการแก้ไขปัญหารอบนี้ก็ได้ประโยชน์ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ที่สำคัญยังปลดชนวนซึ่งเป็น 1 ในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image