เปิดใจ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ ภารกิจยกระดับแรงงานไทย
หมายเหตุ – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงภารกิจยกระดับแรงงานไทย ตามแนวทาง “สร้าง-ยก-ให้” และการผลักดันให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ
⦁กระทรวงแรงงานไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการมานาน
หลายคนสงสัยว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตำแหน่งนี้ เพราะท่านเห็นว่ากระทรวงนี้มีความสำคัญยิ่งในช่วงวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เนื่องจากจะมีคนว่างงานจำนวนมาก โจทย์คือทำอย่างไรให้เขาอยู่รอดได้ จะต้องทำเรื่องพัฒนาทักษะฝีมือ ให้มีอาชีพอิสระ เพราะเป็นมนุษย์เงินเดือนมานาน อาจไม่มีทักษะในการทำอาชีพอิสระ นายกฯเห็นว่ากระทรวงแรงงานจำเป็นต้องขยับมาเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ เป็นกลไกในการสร้างทักษะฝีมือแรงงานให้คนอยู่รอดได้หลังโควิด-19 จึงมอบหมายให้มาช่วยดูแล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไว้วางใจให้ดูแลกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ ได้รับมอบหมายให้ดูแลสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. องค์การมหาชนขนาดเล็ก ก่อตั้งมาประมาณ 3-4 ปี มีบุคลากรประมาณ 40 คน มีแผนงานต้องพัฒนาขยายต่อยอด และหาความร่วมมือกับภาคเอกชนอีกมาก
⦁ได้กลับไปทำการบ้านหรือไม่ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
คิดกันมาก่อนเข้ารับตำแหน่ง มีทั้งที่ปรึกษาด้านวิชาการ ด้านปฏิบัติการ ด้านยุทธศาสตร์ ช่วยกันระดมสมองตกผลึกว่า ต้องเดินไปในแนวทาง “สร้าง ยก ให้” 1.สร้างแรงงานคุณภาพ รองรับตลาดแรงงานใหม่ เช่น เทคโนโลยีสมัยใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล ต้องมีทักษะใหม่ๆ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานต้องแสวงหาความร่วมมือ และพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม รวมไปถึงผลิตคนเพื่อเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และขยายไปยังพื้นที่ทางเหนือ (เอ็นอีซี) อีสานและใต้ ดังนั้น จึงไม่ใช่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว จะต้องพัฒนาแรงงานด้วย และต้องทำต่อเนื่อง 2.ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน เดิมมีมาตรฐานค่าตอบแทนตามลักษณะอาชีพ ตามฝีมือแรงงาน อาจยังไม่ค่อยได้บังคับใช้ เพราะจะต้องมากับการพัฒนา และทดสอบฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น เราต้องยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานตรงนี้อย่างจริงจัง ต้องมีแผนงานออกมาต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ร่วมกับภาคเอกชน เพราะตาม
เป้าหมายการพัฒนาทักษะเหล่านี้ แต่ละปีกรมทำได้ 1.2 แสนคน แต่เป้าหมายต้อง 3.8 ล้านคน ต้องมาจากความร่วมมือกับภาคเอกชน เขาพัฒนาฝีมือแรงงานของ
เขาเอง และส่งเสริมให้มาทดสอบฝีมือแรงงานและจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น 3.ให้โอกาส เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย
เพราะตัวเองก็เป็นคนที่ได้โอกาสมาก่อน เมื่อก่อนเป็นคนยากจน ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย แต่ว่าได้ทุนจากรัฐบาล เป็นทุน ก.พ. ทำให้ชีวิตเปลี่ยน การศึกษาดีขึ้น ได้โอกาสเป็นครูบาอาจารย์ กลับมาทำงานเพื่อประชาชน ตอนไปเรียน เอาเงินใครไปเรียน ก็ระลึกอยู่เสมอว่าเป็นภาษีประชาชน เป็นส่วนหนึ่งทำให้ตัดสินใจกลับมาทำงานการเมือง เพราะอยากจะให้คนอื่นได้รับโอกาสบ้าง ดังนั้น จึงอยู่ในนโยบายข้อที่ 3 คือการให้แรงงานกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงสิทธิ สวัสดิการ แหล่งเงินทุน ให้โอกาสพัฒนาทักษะแรงงาน และเป็นนโยบายของกระทรวงแรงงาน คือ สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ หลังจากนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนงานอย่างจริงจัง
⦁จะพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างไร
เน้นสร้างทักษะสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ อยู่ได้ด้วยรายได้ที่เหมาะสม เช่น เคยเป็นนักบัญชี ก็มาขายของ จะต้องมีทักษะการขายของออนไลน์ ส่วนทักษะฝีมือที่ยังมีนายจ้างอยู่ กรมการจัดหางานก็มีแผนงานอยู่ เช่น การส่งออกแรงงานไปต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศมีข้อตกลงกับต่างประเทศต้องการแรงงานทักษะสูง
สมัยเป็นโฆษกรัฐบาล มีผู้นำหลายประเทศมักพูดถึงแรงงานไทยว่า หลังพ้นโควิด-19 แล้ว ขอให้ประเทศไทยส่งแรงงานไปบ้านเขาให้มากขึ้น เป็นเหตุผลที่นายกฯบอกว่ากระทรวงแรงงานต้องทำเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ กลุ่มแรงงานที่เขาต้องการมากที่สุดคือ บุคลากรทางการแพทย์ เพราะเรามีชื่อเสียงโด่งดังจากช่วงโควิด-19 และแรงงานทักษะสูงภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การจะส่งแรงงานไป ต้องพัฒนาทักษะหลายด้าน ไม่ใช่แค่ฝีมือ แต่ต้องสื่อสารกับเขาได้ด้วย นายกฯสั่งการกระทรวงแรงงานมาตั้งแต่ยังไม่ปรับ ครม.ว่าให้เตรียมพร้อมพัฒนาแรงงานและลงทะเบียนรอไว้ เมื่อเปิดประเทศ ทุกประเทศให้เดินทางไปได้ ก็ให้ส่งแรงงานไปทันที
⦁ในการบริหารงานมีข้อจำกัดอะไรหรือไม่
มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ หากเราพัฒนาเอง อบรมเอง จากงบได้ปีละ 2-3 หมื่นคน แต่ในส่วน 3.8 ล้านคน ปีที่ผ่านมา เพราะความร่วมมือจากภาคเอกชน มีหลายหลักสูตรเอกชนเสียค่าใช้จ่ายให้ เข้ามาร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นลักษณะของ ซีเอสอาร์ เขาต้องการถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับชุมชนที่เข้าไม่ถึง ให้ได้รับการพัฒนาทักษะนี้ ปีหน้าจะเป็นตัวเลขสูงขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับงบประมาณปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถูกทอนลงเหลือ 1,700 ล้านบาท เป็นค่าบุคลากรไปแล้วเกือบ 1,000 ล้านบาท อีกส่วนที่รออยู่คือ คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ กำลังพิจารณาในส่วนที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เสนอไปในการพัฒนาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกประมาณ 2 แสนคน ประมาณ 4,100 ล้านบาท หากได้ตรงนี้มา จะมีเม็ดเงินไปทำได้เยอะขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเราไม่มีเม็ดเงินตรงนี้แล้วจะไม่ทำ จะแสวงหาความร่วมมือทุกวัน เช่น พูดคุยไปแล้ว บริษัท หัวเว่ย ธนาคารออมสิน และอีกหลายที่
⦁มีการตั้งเป้าหรือระยะเวลาในการดำเนินนโยบาย ‘สร้าง ยก ให้’ หรือไม่
คาดว่า 6 เดือน จะเห็นความเปลี่ยนแปลง โฉมหน้าของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในแง่ของการให้บริการทันสมัยขึ้น มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ มีหลักสูตรยกระดับการใช้ดิจิทัล อีโคโนมี เข้ามามากขึ้น และอีก 1 ปี คงมีผลลัพธ์ชัดเจนมากขึ้น ถ้าถามว่าตั้งเป้าตัวเลขเท่าไร อย่างไร วันนี้ยังไม่ได้กำหนด ขอเวลา แล้วจะมาบอกอีกทีว่าตัวเลขทำได้คือเท่าไร แต่ที่ตั้งใจคืออยากจะเข้าไปรับรู้ รับฟังจากกลุ่มที่ควรมีส่วนร่วมกับการพัฒนาฝีมือแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร เขาจะช่วยเราได้อย่างไรในการผ่านวิกฤตนี้ อย่างที่นายกฯบอกว่าจะต้องรวมไทย สร้างชาติ เราจะมานั่งรออย่างเดียวคงไม่ไหว ก็ต้องคุยกับภาคเอกชน
และอีกกลุ่มที่ต้องรู้คือ กลุ่มอาชีพอิสระ คนขับแท็กซี่ คนขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าแผงลอย เขาไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ ไม่มีประกันสังคม เว้นแต่ว่าเขาสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 ส่วนใหญ่ไม่ได้สมัคร แต่เขาคือบุคลากรที่สำคัญที่อยู่ในวัยแรงงานของประเทศไทยที่เราจะเอื้อมมือไปถึงเขา จะช่วยพัฒนาทักษะแรงงานด้านต่างๆ ให้เขาได้อย่างไร
เมื่อปี 2558 เข้ามาเป็นทีมที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สมัยของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอนนั้นเห็นแล้วว่ากระทรวงนี้ต้องเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ คนชอบเรียกว่า จับกัง คือคิดจะดูแลแรงงานระดับล่างเท่านั้น แต่จริงๆ ต้องดูแลแรงงานทุกระดับ และมีความคิดว่ากระทรวงนี้จะต้องเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นเอชอาร์ดี (Human Resource Department) ของประเทศ บางประเทศก็ใช้ชื่อนี้ ไม่ใช่ เลเบอร์ (Labor) อย่างเดียว
⦁มีข่าวว่าไม่ค่อยลงรอยกับรัฐมนตรีว่าการ
ไม่มี เรามาจากพรรคเดียวกัน ไม่มีปัญหา จะให้ช่วยตรงไหนก็พร้อมเต็มที่ สนับสนุนทุกด้าน อาจจะไม่ได้คุยกันทุกวัน แต่มีแลกเปลี่ยนข้อมูลกันบ้าง ทำงานเสริมกัน มีเป้าหมายเดียวกันตามนโยบายรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดี กินดี และในวันเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับสั่งให้ช่วยกันทำให้ประชาชนมีความสุข ให้มีกำลังใจ มีพลัง ทำสิ่งถูกต้องให้ประชาชนมีความสุข ให้เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทำงานเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่แข่งกัน หรือต้องเปรียบกัน
⦁นายกฯ และรองนายกฯ กำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่
ไม่มี แต่มีเรื่องที่ได้เรียนท่านไปว่าต้องยกระดับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายกฯจะบอกเสมอว่าทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนให้เยอะๆ ท่านกำชับตลอดว่า ให้เริ่มจากภาครัฐก่อน ถ้าเราสามารถจ้างคนในชุมชนได้ เช่น หากแก้ปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัย กระทรวงมหาดไทยจ้างงานคนในชุมชนก่อนได้หรือไม่ ท่านอยากให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศให้เยอะ กระทรวงแรงงานมีแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมแล้ว 16-17 ล้านคน ท่านอยากให้เราดูแลอย่างทั่วถึง ข้อดีของกระทรวงแรงงานคือ มีตัวแทนกระทรวงอยู่ทุกจังหวัด เมื่อลงพื้นที่ไปแล้วสามารถขับเคลื่อนงานในพื้นที่ได้ทุกมิติ และมีประสิทธิภาพ
⦁เป็นผู้หญิงมีข้อจำกัดในการทำงานหรือไม่
สิ่งนี้เป็นหัวใจที่อยากขับเคลื่อน เข้าไปช่วยเหลือ จะมีการดูแลเครือข่ายสตรีในด้านสิทธิ สวัสดิการทั้งหลาย จะแตกต่างจากผู้ชาย จึงต้องเข้าไปดูว่า แรงงานสตรีควรได้รับความคุ้มครองแบบใด อย่างไรบ้าง และจะต้องมีเวทีรับฟังจากเครือข่าย เราคิดแทนเขาทั้งหมดไม่ได้
ทุกบริษัทจะมีแผนกเอชอาร์ แผนกทรัพยากรบุคคล แผนกพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นหัวใจสำคัญ บางแห่งมองว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นสินทรัพย์ แต่ในทางบัญชีถูกตัดเป็นค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ แล้ว เขาคือกลุ่มที่มีมูลค่ากับองค์กรมาก ที่ผ่านมาหลาย 10 ปี กระทรวงแรงงานถูกมองว่าดูแลเฉพาะการทำให้คนมีงานทำแค่นั้น แต่จริงๆ บทบาทของกระทรวงมีมากกว่านั้น ณ วันนี้เกิดโควิด-19 กระทรวงต้องบูรณาการกับกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ต้องดูว่าผลิตคนมาแล้วมีทักษะตรงกับตลาดแรงงานหรือไม่ ตรงกับความต้องการของนายจ้างหรือไม่ ต้องมีความร่วมมือกับภาคเอกชนว่าเขาต้องการแรงงานแบบใด
ดังนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของกระทรวงแรงงาน ให้เป็นกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ สร้างทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศ มองไปข้างหน้าว่าจะต้องมีทักษะใหม่ สำหรับเศรษฐกิจใหม่ แทนที่จะไปรอกระทรวงศึกษาฯปรับหลักสูตร ต้องไปเชื่อมให้เกิดเป็นการพัฒนานั้นขึ้น เป็นความฝัน แต่ยังไม่ได้หารือรัฐมนตรีว่าการ
⦁ต้องเปลี่ยนชื่อกระทรวงหรือไม่
ต้องหารือกันก่อน จริงๆ เรื่องชื่อไม่ได้สำคัญ ขึ้นอยู่กับภารกิจมากกว่า ต่อให้เป็นชื่อเดิม แต่เข้าใจตรงกันว่า ภารกิจของเราไม่ใช่แค่เรื่องสวัสดิการ แต่เป็นการพัฒนาคน ตอนนี้เป็นรูปเป็นร่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีบทบาทมาก และจะยิ่งมากขึ้นหลังโควิด-19 และในฐานที่เคยอยู่ในกระทรวงการคลังมาก่อน และทำงานในภาคเอกชน
ก็จะดึงความร่วมมือเหล่านี้มาที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย เพื่อให้ทำงานตอบโจทย์การเป็นกระทรวงเศรษฐกิจมากขึ้น เท่าที่จะทำได้ นั่นคือความตั้งใจ เราจะยกระดับเขา อย่างในประเทศสิงคโปร์ ใช้ชื่อ กระทรวง แมน เพาเวอร์ (Man Power) เป็นพลังมนุษย์
⦁เรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล 2 จังหวัด
ไม่ได้เลือกเอง ท่านจัดให้ เข้าใจว่าเป็นรองนายกฯ (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นผู้จัดสรรพื้นที่ให้รัฐมนตรีทั้ง 29 คน ในการดูแลจังหวัดต่างๆ หากสังเกตจะพบว่า บางคนเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็น ส.ส.ในเขตของจังหวัดนั้น ก็ได้ดูแลจังหวัดนั้น แต่เนื่องจากเราเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก่อน จึงเป็นอิสระในการจัดสรร ตอนแรกท่านจะให้ดูแล พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง แต่สุดท้ายเปลี่ยนเป็นแพร่และน่าน ไม่ได้ขัดข้องอะไร ก็กลายเป็นสาวเหนือ ไปทำให้คนในพื้นที่อยู่ดีกินดี แต่จริงๆ แล้วเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นเด็กตรอกจันทน์ โดยกำเนิด
⦁ใน 2 จังหวัดที่ได้รับมอบหมายต้องพัฒนาด้านใด
เข้าไปรับฟังอุปสรรค และกลับมาช่วยแก้ไขให้เขา เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ทำให้การทำงานของเขาขับเคลื่อนไปได้ ทั้ง 2 จังหวัด มีเรื่องหลักๆ คือ การบริหารจัดการน้ำ หากเป็นวงเงินไม่สูง เราจะประสานไปกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และที่ จ.น่าน จะขยายสนามบินรองรับสายการบินมากขึ้นในอนาคต และรวมถึงพื้นที่ทำกินด้วย ส่วนที่แพร่ มีผู้สูงอายุร้อยละ 22 ของจำนวนประชากร 4 แสนคน ก็จะมี 2 มิติคือ หากเขาสามารถทำงานได้ หารายได้ได้ มิติของกระทรวงแรงงานจะเข้าไปช่วย หากเป็นผู้สูงอายุมาก จะมีใครดูแล จึงมีข้อเสนอในภาคธุรกิจ เช่น การมีบ้านพักผู้สูงอายุ จึงเกิดอาชีพนักบริบาล ดูแลผู้สูงอายุ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานต้องเข้าไปดูแล พัฒนาทักษะให้มีนักบริบาลเพิ่มขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีคนจนลดลง เพราะเราเคยจน และรู้ว่าลำบาก