ส.ส.ปชป.แนะรัฐบาลประกาศให้ชัด อย่าทำให้เกิดความรู้สึกรบ.ประวิงเวลาแก้รธน.

ส.ส.ปชป.แนะรัฐบาล ประกาศให้ชัด อย่าทำให้เกิดความรู้สึกรบ.ประวิงเวลาแก้รธน.

น.ส.พิมพ์รพี พันธ์ุวิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็น ขอบันทึกข้อสังเกต เพื่อประกอบเป็นข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี หาทางออกสถานการณ์การเมืองและการชุมนุมที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้ ระบุว่า

เบื้องต้นขออภิปรายไล่เรียงจากเหตุผล 3 ข้อ ตามที่ปรากฏในเอกสารเสนอญัตติจากสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปโดยย่อ เริ่มที่ข้อ 1. มีการระบุถึงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เสี่ยงแพร่ระบาดในพื้นที่มีคนจำนวนมาก และกล่าวไปถึงการชุมนุมด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องย้ำให้ทุกฝ่ายรับผิดชอบต่อตัวเอง ไม่ว่าจะเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุม ปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุข สวมหน้ากาก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกัน และหากมีไข้ก็ไม่ควรเข้าพื้นที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก ที่สำคัญคือ การสื่อสารของรัฐบาลต้องไม่ใช้เรื่องโรคระบาดมาเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออก แต่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่มีต่อผู้ชุมนุมในฐานะคนไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล

ข้อ 2. รัฐบาลมีการพูดถึงเหตุการณ์ขบวนเสด็จ ในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความไม่สบายใจให้กับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนคนไทยโดยส่วนใหญ่ บางคนบอกกับดิฉันว่า เห็นแล้วกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ไม่คิดว่าสังคมไทยจะก้าวมาสู่จุดนี้ จุดที่มีคนจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจต่อคุณูปการของสถาบันกษัตริย์จนกระทำการมิบังควรบนแผ่นดินที่บูรพกษัตริย์ไทยเป็นผู้รวบรวมให้เราได้เป็นคนที่มีชาติ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ชุมนุมบริเวณสยามสแควร์ ช่วงเย็นวันที่ 16 ตุลาคมตามที่ระบุไว้ในข้อที่ 3.

จริงอยู่ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้เป็นการชุมนุมที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงข้อเรียกร้องบางอย่างส่อว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนไทย แต่นับจากนี้ก็อยากให้รัฐบาลระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมผู้ชุมนุมเช่นกัน เนื่องจากหลายฝ่าย ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีการแจ้งเตือนและเข้าควบคุมพื้นที่ตามขั้นตอน แต่ก็ถือว่าเป็นการใช้มาตรการที่เร็วเกินไป เพราะโดยภาพรวม กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ ก็ยังไม่มีท่าทีใช้ความรุนแรงจนลุกลามบานปลาย ไม่ถึงขั้นบุกรุกหรือทำลายทรัพย์สินเอกชน สถานที่ราชการ หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน สุดท้ายการฉีดน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุมในคืนวันที่ 16 ตุลาคม แทนที่จะหยุดยั้งการชุมนุมตามเป้าประสงค์ของรัฐบาล กลับกลายเป็นการสร้างแนวร่วม ให้ผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น จนเกิดการชุมนุมต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ จึงอยากให้รัฐบาลประเมินสถานการณ์ให้ขาด ใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น กฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถใช้เข้าควบคุม จัดการได้ การรับฟัง และตอบสนองในข้อเรรียกร้องที่เป็นไปได้ จึงเป็นทางออกสำคัญ ที่รัฐบาลต้องวางหลักใหัชัด เพื่อเปลี่ยนผ่านสถานการณ์ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ให้ลดระดับลง ไม่ให้บ้านเมืองต้องก้าวเข้าสู่ความสูญเสีย หรือสงครามกลางเมือง ที่ไม่มีใครชนะ มีแต่ชาติที่จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะความขัดแย้งภายในของพวกเราเอง

Advertisement

ขณะเดียวกันฝากไปถึงผู้ชุมนุม หากต้องการให้ข้อเรียกร้องมีพลัง มีแนวร่วมมากขึ้น ก็อยากให้ตั้งต้นข้อเรียกร้อง และประเด็นที่ปราศรัยไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย รวมถึงการปราศรัย ไม่ใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังหยาบคาย เพราะนั่นก็เป็นการใช้ความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

ทั้งนี้ การชุมนุมที่เกิดขึ้นจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ มีข้อเรียกร้อง 1 ข้อ ซึ่งดิฉันไม่สามารถกล่าวถึงได้โดยตรง ซึ่งดิฉันขอแสดงจุดยืนว่าไม่ควรนำ สถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง นั่นคือให้อยู่เหนือการเมือง แต่ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชุมนุมได้ เพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหว อาจสร้างความขัดแย้งในคนไทยด้วยกัน ดังที่ปรากฏในภาพข่าว เริ่มมีฝ่ายเห็นต่างปะทะกันในบางจุดแล้ว ขณะเดียวกันอยากเตือนสติไปถึงฝ่ายผู้ชุมนุมว่า การจะเปลี่ยนผ่านสังคม จะยึดแต่ความต้องการของตัวเองไม่ได้ เพราะต้องได้รับฉันทามติจากสังคมด้วย และไม่ควรแตะต้องสิ่งที่ผู้อื่นรักและศรัทธา​

ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองในระดับปกติ น่าจะเป็นเรื่องทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันได้

Advertisement

โดยกรรมาธิการฯที่กำลังศึกษาทั้ง 6 ญัตติ ต้องเร่งดำเนินการ อย่าทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีเจตนาประวิงเวลา ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะกลายเป็นชนวนที่ทำให้การชุมนุมลุกลามบานปลายขยายตัวใหญ่ขึ้น ด้วยความรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจรัฐสภา

ดิฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะเปิดใจกว้างรับฟัง เพื่อให้การประชุมสมัยวิสามัญครั้งนี้ เป็นเวทีหาทางออกอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงเวทีที่ให้แต่ละฝ่ายมาแสดงจุดยืนและห้ำหั่นกันเอง เพราะมองไม่ออกว่า จะมีข้อตกลงร่วมกันได้อย่างไร และรู้สึกเสียดายว่า หากเป็นไปได้ ควรใช้โอกาสในการประชุมสภาสมัยวิสามัญนี้ ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน แล้วค่อยไปรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญที่กลุ่มไอลอว์ เสนอตามมาทีหลังก็ได้ เพื่อแสดงเจตนาให้กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่า รัฐสภามีความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้อง ซึ่งจะช่วยคลายปมความขัดแย้งทางการเมือง อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง

หรือถ้าจะรอให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมพร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอรับหลักการทั้ง 6 ญัตติ ก็ควรจะแสดงเจตนาให้ผู้ชุมนุมรู้สึกไว้วางใจ โดยเฉพาะวุฒิสภาอย่างน้อย 84 คน ที่จะลงมติเห็นชอบรับหลักการ เปิดทางให้แก้รัฐธรรมนูญได้ ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ส่วนข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ดิฉันคงไม่สามารถก้าวล่วงได้ เพราะเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน ระหว่างมุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และความรู้สึกนึกคิดของผู้ชุมนุม ซึ่งทางที่ดีที่สุดหลังการประชุมครั้งนี้ ควรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการหรือเวทีที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกฝ่ายอย่างละเท่าๆ กัน มาหารือถึงข้อเรียกร้องและการแก้ไขปัญหาประเทศอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้น การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้จะเป็นเพียงพิธีกรรม เป็นเพียงเวทีให้แต่ละฝ่ายแสดงจุดยืนเป็นของตัวเอง แต่ไม่ได้นำไปสู่การหาทางออกให้กับบ้านเมืองอย่างแท้จริง ในที่สุดผลเสียเพื่อจะเกิดอยู่กับรัฐสภา ประชาชนจะมองว่ารัฐสภาไม่ใช่พื้นที่หาทางออกให้ประชาชน อาจเกิดภาพการปิดล้อมสภาขึ้นอีก ท้ายที่สุดประชาชนก็จะไม่เชื่อมั่นในรัฐสภา จะส่งผลร้ายต่อระบบการเมืองและประชาธิปไตยของไทย ไม่ว่าในเวลาอันใกล้นี้ หรือในอนาคตต่อไปข้างหน้า

จึงเรียนมาด้วยความปรารถนาดีต่อทุกฝ่าย และขอให้หลีกเลี่ยงการสร้างความรุนแรง ทั้งทางการใช้กำลังและการใช้คำพูด แล้วทุกฝ่ายก็จะหาทางออกร่วมกันได้ง่ายขึ้นเอง

(เนื่องด้วยข้อจำกัดทางเวลาที่จัดสรรในการอภิปราย.. ดิฉันจึงขอบันทึกบทความนี้ไว้ในเฟซนีั เพื่อสนทนากับประชาชนผู้เชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย​โดยมีพระ​มหา​กษัตริย์​ทรงเป็น​ประมุข)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image