บิ๊กตู่ ลั่นแก้รธน. 3 วาระรวด ในเดือน ธ.ค. ก่อนทำประชามติ ย้อนถามอยากให้ลาออกหรือยุบสภาฯ

บิ๊กตู่ ลั่นแก้รธน. 3 วาระรวด ในเดือน ธ.ค. ก่อนทำประชามติ ย้อนถามอยากให้ลาออกหรือยุบสภาฯ ฝ่ายค้านอภิปรายจี้ ‘ประยุทธ์’ ลาออก จุรินทร์ลงตั้งกก.

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มราษฎรที่เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก พร้อมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้คณะรัฐมนตรี เสนอให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปหาทางออกให้ประเทศนั้น สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาวันแรก 26 ตุลาคม นั้น พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลในการขอเปิดประชุมว่า เนื่องด้วย ครม.มีมติวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า บัดนี้มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ ครม.จะความเห็นสมาชิกรัฐสภา ตามมาตรา 165 ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่รวมถึงในต่างจังหวัด ส่อว่าจะยืดเยื้อและอาจมีผู้ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกซึมฉวยโอกาสได้

เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2557 รัฐบาลพยายามดูแลสถานการณ์ให้ดีที่สุด ใช้กฎหมายอะลุ้มอล่วย ผ่อนผันมาโดยตลอด แต่การชุมนุมยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้การชุมนุมจะมีเสรีภาพได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 แต่รัฐต้องใช้อำนาจเข้าควบคุมการชุมนุมที่ผิดกฎหมายที่เป็นข้อยกเว้นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของผู้ชุมนุมหลายเรื่องอยู่ในขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว และเริ่มมีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวหลายราย หลายครั้งที่การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่บางแห่งมีความรุนแรงเกิดขึ้น ปฏิบัติในสิ่งไม่สมควรก็เป็นห่วง รัฐบาลไม่อยากให้เกิดการปะทะ เกิดจลาจลในบ้านเมือง รัฐบาลมีหน้าที่รักษาสิทธิของคนไทยทุกคน 70 ล้านคน มั่นใจว่าคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีมุมมองด้านการเมืองแบบใด แต่ทุกคนรักชาติ และรู้ว่าทุกคนต้องการอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานและเยาวชนไทย เป็น 2 เรื่องนี้ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ต้องหาหนทางพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นมีความเจริญก้าวหน้า อย่างยั่งยืนต่อไป

  • พร้อมนำข้อเสนอสภาไปปฏิบัติ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในนามรัฐบาลรู้ว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของโลก ทั้งเทคโนโลยี และดิจิทัล แต่ต้องยอมรับคนไทยหลายสิบล้านคน ก็ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะนั้นจะต้องมีความสมดุลระหว่างความต้องการของตนเองกับคนอื่นๆ ในสังคมอย่างสร้างสรรค์ หวังว่าทุกคนจะใช้เวลา 2 วัน ในสภาอันทรงเกียรติ เพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน ท่ามกลางสภาวการณ์ที่จะมีการหยิบยกเรื่องสำคัญขึ้นมาหารือกันในสภา หากสมาชิกรัฐสภามีข้อเสนอใดที่สามารถปฏิบัติได้ เป็นประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่แทรกซ้อนมา รัฐบาลจะขอขอบคุณและจะรับไปดำเนินการ ส่วนตัวเชื่อว่าพื้นฐานสังคมไทย คือ ความเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกัน เมื่อทำแบบนั้นได้ การเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวประเทศไทย แม้จะมีเรื่องไม่เห็นด้วยกันบ้าง แต่ยังรักกันตลอดไป

  • สมพงษ์ซัดญัตติเพิ่มแตกแยก

ต่อมานายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายเป็นคนแรกของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ก่อนอื่นขอเรียนว่าเมื่อได้อ่านญัตติของรัฐบาลแล้ว มีความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่าญัตตินี้ เป็นญัตติที่ไม่สร้างสรรค์ เนื้อหาสาระของญัตติ มีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกแยกในสังคมไทย ให้ขยายเป็นวงกว้าง ทั่วประเทศ การตั้งญัตติเช่นนี้ รังแต่จะซ้ำเติมสถานการณ์ให้บานปลาย ไม่สามารถเป็นทางออกของสังคมไทยได้ แต่อย่างใดก็ตาม ยังมีความตั้งใจที่จะใช้โอกาสการอภิปรายครั้งนี้ เพื่อเสนอทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ จึงขอร้องให้ที่ประชุมแห่งนี้ ทุกฝ่ายอภิปรายเพื่อคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตของประเทศ การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ เพราะมีแนวโน้มว่าการบริหารจัดการปัญหาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะยิ่งนำพาไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากถ้อยคำ การกระทำ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นการราดน้ำมันลงไปในกองเพลิง

Advertisement
  • ชง4ข้อทางออก-จี้ลาออก

“ผมเห็นว่าสภาแห่งนี้ควรใช้เวลาที่มีอยู่ 2 วัน เสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาและหาข้อสรุปในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1.ต้องพิจารณาข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน อย่างจริงจัง เปิดใจรับฟังแต่ละปัญหาที่นำเสนอ อย่างมีวิจารณญาณ 2.ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ไม่เตะถ่วงหรือดึงเวลาให้ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์วิกฤตที่กำลังบานปลาย 3.ต้องเร่ง ปลดเงื่อนไข ที่เป็นมูลเหตุของวิกฤต เร่งปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขัง จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ยุติการปิดกั้นสื่อ เปิดช่องทางการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และยุติการใช้กฎหมายที่ดำเนินคดีกับประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาล โดยเร็วที่สุด และ 4.นายกฯต้องลาออก เพราะคืออุปสรรคสำคัญ ที่เป็นภาระของประเทศ” นายสมพงษ์กล่าว

  • ซัดไม่จริงใจแก้รัฐธรรมนูญ

ต่อมานายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรค พท. อภิปรายว่า การประชุมรัฐสภาจะพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น และเสนอแนะทางออกของปัญหาดังกล่าว จึงเห็นว่าสิ่งสำคัญประการแรกและเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ จะต้องดูว่าต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอะไร เมื่อดูถึงต้นตอของปัญหาก็ต้องเริ่มพิจารณาจากข้อเรียกร้องของ กลุ่มผู้ชุมนุมก่อนว่าข้อเรียกร้องหลักๆ คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน และยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงข้อเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน ดังนั้นต้นตอของปัญหาคือตัวรัฐธรรมนูญ 2560 พรรค พท.และพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับจากรัฐบาล เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้อง รัฐบาลคาดการณ์ผิดพลาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่สามารถจุดติดจึงไม่ได้ให้ราคากับผู้ชุมนุม แต่เมื่อการชุมนุมได้ขยายวงกว้างขึ้นทั่วประเทศและมีการชุมนุมกดดันมากขึ้น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็ทำแบบเสียมิได้ จึงได้เสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประกบกับร่างของฝ่ายค้าน แทนที่จะเสนอโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาล

  • ไพบูลย์หนุนบิ๊กตู่-อย่าลาออก

จากนั้นนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า การชุมนุมที่มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์มีมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ถึงขนาดกระทำการขัดขวางรุมล้อมตะโกนด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสมใส่ขบวนเสด็จ การกระทำของผู้ชุมนุมถือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเป้าหมายหลักต้องการปฏิรูปสถาบัน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่เป็นเลิศในเรื่องที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน เป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งในการปกป้องสถาบัน แกนนำผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพื่อให้การปกป้องประเทศชาติอ่อนแอลงจนนำไปสู่การรุกคืบต่อการปฏิรูป จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ต่อไป ขอให้ให้บริหารประเทศด้วยความมั่นคง และเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อย่าไปลาออกตามฝ่ายที่เรียกร้องซึ่งมีคนเพียงไม่กี่หมื่นคน ต้องคำนึงถึงเสียงประชาชน 8.4 ล้านคน ที่เลือกมาเป็นนายกฯ

  • จุรินทร์ขอทุกฝ่ายลดปมขัดแย้ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่ทุกประเทศในโลกประชาธิปไตยทำกัน เพื่อจะได้ให้รัฐสภาเป็นเวทีในการหาทางออกให้กับประเทศ การเปิดประชุมสมัยวิสามัญครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่สร้างเวทีโจมตีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ให้รัฐสภาเป็นที่พึ่งเป็นเวทีในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศอย่างแท้จริง สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นตลอดการพิจารณา 2 วันนี้คือ ต้องการเห็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความจริงใจ และไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดเงื่อนไขที่เป็นปมแห่งความขัดแย้ง

  • ชงตั้งกก.ดึงทุกฝ่ายหาทางออก

“การพิจารณาวันนี้ควรมีข้อยุติและมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การหาทางออกของประเทศร่วมกัน อยากเห็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยถือหลัก 3 ข้อคือ 1.องค์ประกอบนั้นต้องมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนของรัฐบาล ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น 2.ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ เน้นรูปแบบการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อาจต้องถอยคนละก้าวหรือคนละสองก้าว และ 3.ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ถ้าหากทำได้ อย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง” นายจุรินทร์กล่าว

  • ยุทธพงศ์ยก5ปมจี้นายกฯออก

จากนั้นนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. อภิปรายว่า เมื่อนายกฯมาขอฟังความคิดเห็นจาก ส.ส. แนะนำให้นายกฯลาออกไป เคยแนะนำ พล.อ.ประยุทธ์มา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกเมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งต่อมาคือตอนอภิปรายทั่วไป ทั้งนี้ มีเหตุผล 5 ข้อที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องลาออก คือ 1.ญัตติที่เสนอมามีความฉ้อฉล ไม่จริงใจต่อการแก้ไขปัญหา การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ได้ร่วมกันเสนอแต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไข ดึงเวลาโดยการตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาก่อนการแก้ไข 2.ประชาชนหมดศรัทธากับ พล.อ.ประยุทธ์แล้วจึงมารวมตัวกันขับไล่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับใช้ความรุนแรงเข้าควบคุมประชาชน ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 44 3.การบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวทั้งก่อนและหลังวิกฤตโควิด รีบออก พ.ร.ก.เงินกู้ แต่กลับไม่ได้เอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง 4.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ขอเปิดประชุมรัฐสภา เพราะ พล.อ.ประยุทธ์จะใช้สภาเป็นที่หลบภัย ทั้งที่ปัญหาอื่นๆ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และราคาพืชผลเกษตร ไม่เคยมาตอบ เพราะตัวเองไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่เข้าใจความสำคัญของสภา แต่วันนี้ตัวเองเดือดร้อนกลับมาขออาศัยสภา และ 5.ประเด็นการถวายความปลอดภัยในวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นความบกพร่องของ ผบช.น.ในการถวายความปลอดภัย และ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัย พ.ศ.2560 มาตรา 9 ให้นายกฯเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบเต็มๆ ดังนั้น ปัญหาต่างๆ จะจบสิ้นไปถ้า พล.อ.ประยุทธ์ลาออกไป

  • ถามจะให้ลาออกหรือยุบสภา

จากนั้นเวลา 15.22 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อภิปรายชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐบาลได้มีการพูดคุยหารือกันเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ทุกพรรค มาหารือว่าควรจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรในสภา และได้แจ้งให้ ครม.ทราบแล้ว ในเดือนพฤศจิกายนนี้สภา จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะเสร็จในวาระ 1-3 ในเดือนธันวาคม โดยประมาณ แต่ยังคงประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอการทำประชามติก่อน โดยสัปดาห์หน้านั้นรัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เข้าสภา ถ้า พ.ร.บ.ประชามติเสร็จเมื่อใด ต้องไปทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่าได้ให้ความสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงอีกว่า กรณีนายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง จะเกิดอะไรบ้าง ได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายแล้ว ถ้านายกฯลาออก ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และเลือกนายกฯใหม่จากที่ประชุมรัฐสภา ต้องใช้ทั้งเสียง ส.ส.และส.ว.ด้วย ต้องมีมติเสียงกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ต้องมี ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯด้วย ส่วนกรณีการยุบสภา พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเหมือนกัน สมาชิกภาพของ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลงเช่นกัน จึงไม่แน่ใจว่าท่านต้องการหรือไม่ต้องการอะไรตรงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image