“สาทิตย์”เตือนรบ.ใช้กม.บังคับ ม็อบสงบแค่ระยะสั้น ถ้ายุติธรรมไม่เกิด อนาคตยิ่งรุนแรง

“สาทิตย์” ชี้ ข้อเสนอแก้ปัญหาการเมืองแค่เฉพาะหน้า ทำให้สถานการณ์สงบชั่วคราวเท่านั้น

เมื่อที่ 27 ตุลาคม ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ เพื่อขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ต่อเป็นวันที่ 2

ต่อมาเวลา 15.30 น.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เราต้องยอมรับความจริงว่าในทุกการชุมนุมทางการเมืองอยากที่จะจบแบบสวยๆ หรือ happy ending ในการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองที่ผ่านมา 3 ครั้งจบด้วยรัฐประหารทั้งสิ้น และครั้งนี้ไม่มีใครอยากเห็นจุดจบของประเทศที่จะต้องเดินไปสู่รัฐประหารอีก เนื่องจากในการชุมนุมทางการเมืองแต่ละครั้งนั้นจะต้องมีที่มา ผู้ชุมนุมล้วนแล้วแต่มีชุดความคิด ข้อมูล ชุดความเชื่อที่แตกต่างจากที่รัฐมีโดยสิ้นเชิง ทางที่ดีที่สุดในการแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดคือ การต้องเผชิญหน้ากับความจริง ในปรากฏการณ์การชุมนุมช่วงนี้นั้น มีความจริงอยู่ 2 ข้อที่แตกต่างจากการชุมนุมทุกครั้งในอดีตคือ 1.กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่คือคนหนุ่มสาว เยาวชน เด็กที่ยังอยู่มหาวิทยาลัย ซึ่งยากที่จะประเมินได้ เพราะมีทั้งปรากฏตัวและไม่ปรากฏตัว เพรามีทั้งโลกความเป็นจริงและโลกโซเชียลฯ ซ้อนทับกัน

และ2. ถ้าเรามองผ่านแกนนำขณะนี้ทั้งวิธีการพูด การแสดงออก การแสดงอารมณ์ หรือประเด็นที่สร้างความไม่พอใจ เราก็จะเห็นความเป็นจริงว่า ประเด็นการชุมนุมอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งหรือไม่ จริงๆแล้วภายใต้ภูเขาน้ำแข็งยังมีอีกหลายเรื่องที่ซ้อนทับอยู่และเป็นปัจจัยหลัก ทำให้พวกเขาเหล่านั้นแสดงออกอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า จริงอยู่ว่าการปลุกปั่น หรือชุดความคิดอาจจะมีผลจริง แต่สิ่งอื่นเราที่มองข้ามไม่ได้ที่เป็นส่วนผลักดันให้ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงออก การเสนอทางออกที่เกิดขึ้นในสภาขณะนี้ ตนมองเห็นว่าอาจจะเป็นทางออกที่เกิดขึ้นได้ เช่น 1.การแก้รัฐธรรมนูญที่มีไทม์ไลน์ชัดเจน และ2.การเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ตนมองว่า ทั้ง 2 ประเด็นเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อาจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเพียงชั่วขณะเท่านั้น แต่การบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น เป็นธรรมและเท่าเทียม อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลควรที่จะคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะถ้าความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้พวกเขามีพฤติกรรมการชุมนุมที่รุนแรงมากขึ้น

Advertisement

“ในสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนี้การบังคับใช้กฎหมายอาจจะทำให้สถานการณ์สงบลงชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้ามีสิ่งที่เป็นปัจจัยหลักติดตัวอยู่ที่รุ่นของเขาสถานการณ์นี้จะไม่สงบตลอดไป แต่จะปะทุขึ้นมาอีก ทางออกของสถานการณ์ไม่ใช่เรื่องการทำเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น แต่ระยะยาวจะทำอย่างไรเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องร่วมกันคิด บางทีโครงสร้างทั้งหลายที่อยู่ในปัจจุบันไม่ได้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ”

นายสาทิตย์ อภิปรายว่า ดังนั้นรัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีคิด และควรหยิบยกขึ้นมาพูดหรือไม่ ในระยะยาว รวมถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องนี้เราต้องจริงจังในการคิดหาวิธีการให้มีการทำความเข้าใจพูดกันด้วยเหตุผล เพียงแต่บรรยากาศในขณะนี้อาจจะไม่ใช่เวลาที่จะพูดเรื่องนี้ แต่โจทก์เรื่องนี้จะยังอยู่ต่อไป เพราะเราต้องแข่งขันกับชุดความคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องคงอยู่ต่อไปแต่จะคงต้องอยู่ด้วยความเชื่อที่ตรงกันของคนทั้งประเทศด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image