เปิด ‘พงศาวดารฉ.บริติช มิวเซียม’ เอ่ยถึง ‘พันท้ายนรสิงห์’ นักปวศ.ชี้ มีตัวตนไหม ‘ตอบลำบาก’

เปิด ‘พงศาวดารฉ.บริติช มิวเซียม’ เอ่ยถึง ‘พันท้ายนรสิงห์’ นักปวศ.ชี้ มีตัวตนไหม ‘ตอบลำบาก’

จากกรณี ที่ นางสาวมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้วยการลาออก โดยเปรียบเทียบกับ ประวัติศาสตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ ทำให้ แดง ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ชื่อดัง ที่มีผลงานอย่าง บุพเพสันนิวาส คู่กรรม สายโลหิต รัตนโกสินทร์ นางทาส และ ดอกส้มสีทอง ได้ออกมาโพสต์ บทละครโทรทัศน์เรื่อง พรหมลิขิต และกล่าวว่า “พันท้ายนรสิงห์ไม่มีตัวตน นักประวัติศาสตร์แน่ใจ บทละครที่โพสต์นี้ อ้างอิงจากประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์แล้ว”

อ่าน ผู้เขียนบทละครดัง โต้ ส.ส.เพื่อไทย ชี้ พันท้ายนรสิงห์ไม่มีจริง จะอ้างอะไรควรค้นคว้าบ้าง

ในเรื่องนี้ ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้สัมภาษณ์ มติชน ว่า การจะบอกว่า พันท้ายนรสิงห์นั้น มีจริงหรือไม่มี ตอบได้ลำบาก แต่ พันท้ายนรสิงห์ ปรากฏครั้งแรกอยู่ในพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติช มิวเซียม ที่ชำระขึ้นในปลาย รัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุการณ์นายท้ายทำโขนเรือหัก แต่ไม่มีเรื่องราวของนวลแต่งอย่างใด เรื่องของนวลนี้ มาทีหลัง นำเอาท่อนหนึ่งในพงศาวดาร มาเขียนขยายซีนต่อ

สำหรับเรื่องการขุดคลองนั้น ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุว่า แม้ว่าในพงศาวดารจะไม่มีการพูดถึง แต่คลองเป็นเส้นตรงมาก แสดงว่าต้องเป็นคลองขุด ในปัจจุบันคลองสามารถมีเรือประมง 2 ลำแล่นสวนกันได้ ชี้ได้ว่าต้องมีการขุด จากหลักฐานพบว่าเป็นคลองโบราณ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น แต่ช่วงตอนปลาย ได้ไปแต่งใหม่ให้ตรง

Advertisement

สำหรับ เนื้อความในพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติช มิวเซียม ที่ปรากฏถึง พันท้ายนรสิงห์นั้น มีดังนี้

“อยู่มาครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จด้วยพระชลพาหนะออกไปประพาส ณ เมืองเพชรบุรี และเสด็จไปประทับแรมอยู่ ณ พระราชนิเวศน์ตำบลโตนดหลวง ใกล้ฝั่งพระมหาสมุทร และที่พระตำหนักนี้เป็นที่พระตำหนักเคยประพาสมหาสมุทรมาแต่ก่อน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรบรมราชาธิราชบพิตรเป็นเจ้านั้น และสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ก็เสด็จด้วยพระที่นั่งมหานาวาท้ายรถ แล่นไปประพาสในท้องพระมหาสมุทรตราบเท่าถึงตำบลเขาสามร้อยยอด และทรงเบ็ดตกปลาฉลามและปลาอื่นเป็นอันมาก แล้วเสด็จกลับมา ณ ตำหนักโตนดหลวง และเสด็จเที่ยวประพาสอยู่ดังนั้นประมาณ ๑๕ เวร จึ่งเสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร ลุศักราชได้ ๑๐๖๖ ปีวอก ฉศก ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย จะไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ครั้นเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม และครองที่นั้นคดเคี้ยวนัก และพันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งคัดแก้ไขมิทันที และศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นโดนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้า ก็หักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้นก็ตกใจ จึ่งโดดขึ้นเสียจากเรือพระที่นั่ง และขึ้นอยู่บนฝั่งแล้วร้องกราบทูลพระกรุณาว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท (ปก) เกล้า พระราช-อาญาเป็นล้นเกล้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ทำศาลขึ้นที่นี้สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดเอาศีรษะข้าพระพุทธเจ้ากับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักตกน้ำลงไปนั้น ขึ้นบวงสรวงไว้ด้วยกันที่นี้ ตามพระราชกำหนดในบทพระอัยการเถิด จึ่งมีพระราชโองการตรัสว่า ไอ้พันท้าย ซึ่งโทษเอ็งนั้นถึงตายก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่าบัดนี้กูจะยกโทษเสีย ไม่เอาโทษเอ็งแล้ว เอ็งจงคืนมาลงเรือไปด้วยกูเถิด ซึ่งศีรษะเรือที่หักนั้น กูจะทำต่อเอาใหม่ แล้วเอ็งอย่าวิตกเลย พันท้ายนรสิงห์จึ่งกราบทูลว่า ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดมิให้เอาโทษข้าพระพุทธเจ้านั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าจะเสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายไป

และซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาละพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินเสียดงนี้ ดูมิควรยิ่งนัก นานไปภายหน้าเห็นว่าคนทั้งปวงจะล่วงครหาติเตียนดูหมิ่นได้ และพระเจ้าอยู่หัวอย่าทรงพระอาลัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้ถึงแก่มรณโทษเลย จงทรงพระอาลัยถึงพระราชประเพณี อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมไปนั้นดีกว่า อันพระราชกำหนดมีมาแต่บุราณนั้นว่า ถ้าและพันท้ายผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่ง ให้ศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นหัก ท่านว่าพันท้ายผู้นั้นถึงมรณโทษ ให้ตัดศีรษะเสีย และพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระกรุณาโปรดให้ตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้า เสีย ตามโบราณราชกำหนดนั้นเถิด จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้ฝีพายทั้งปวง ปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ขึ้น แล้วก็ให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเสีย แล้วดำรัสว่าไอ้พันท้าย ซึ่งโทษเอ็งถึงตายนั้น กูจะประหารชีวิตเอ็งเสีย พอเป็นเหตุแทนตัวแล้ว เอ็งอย่าตายเลย จงกลับมาลงเรือไปด้วยกับกูเถิด พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้น ก็มีความละอายนัก ด้วยกลัวว่าจะเสียพระราชกำหนดโดยธรรมเนียมโบราณไป เกรงคนทั้งปวงจะครหาติเตียนดูหมิ่นในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งตนได้ สู้เสียสละชีวิตของตัวมิได้อาลัย จึ่งกราบทูลไปว่าขอพระราชทานซึ่งทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าทั้งนี้ พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าซึ่งตัดศีรษะรูปดินแทนตัวข้าพระพุทธเจ้าดังนี้ ดูเป็นทำเล่นไป คนทั้งหลายจะล่วงครหาติเตียนได้ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าเสียโดย ฉันจริงเถิด อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดไปเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะขอกราบทูลฝากบุตรภรรยาแล้ว ก็จะกราบถวายบังคมลาตายไปโดยลักษณยถาโทษอันกราบทูลไว้นั้น

Advertisement

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตรัสได้ทรงฟังดังนั้น ก็ดำรัสวิงวอนไปเป็นหลายครั้ง พันท้ายนรสิงห์ก็มิยอมอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาภาพแก่พันท้ายนรสิงห์เป็นอันมาก จนกลั้นน้ำพระเนตรนั้นไว้มิได้ จำเป็นจำทำตามพระราชกำหนด จึ่งดำรัสสั่งนายเพชฌฆาตให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา และให้เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น แล้วให้ออกเรือพระที่นั่งไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี แล้วเสด็จกลับยังพระมหานคร และศาลเทพารักษ์ที่ตำบลโคกขามนั้น ก็มีปรากฎมาตราบเท่าทุกวันนี้

จึ่งพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริ ว่า ณ คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวนัก คนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกก็ยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดารนัก ควรเราจะให้ขุดลัดตัดเสียให้ตรงจึ่งจะชอบ อนึ่งพันท้ายนรสิงห์ซึ่งตายเสียนั้น เป็นคนสัตย์ซื่อมั่นคงนัก สู้เสียชีวิตมิได้อาลัย กลัวว่าเราจะเสียพระราช-ประเพณีไป เรามีความเสียดายนัก ด้วยเป็นข้าหลวงเดิมมาแต่ก่อน อันจะหาผู้ซึ่งรักใคร่ ซื่อตรงต่อเจ้า เหมือนพันท้ายนรสิงห์นี้ยากนัก แล้วดำรัสให้เอากเฬวรพันท้ายนรสิงห์นั้น มาแต่งการฌาปนกิจพระราชทานเพลิง และบุตรภรรยานั้นก็พระราชทานเงินทอง สิ่งของเป็นอันมาก แล้วมีพระราชโองการตรัสสั่งสมุหนายกให้กะเกณฑ์เลกหัวเมืองให้ได้ ๓๐,๐๐๐ ไปขุดคลองโคกขาม และให้ขุดลัดตัดให้ตรงตลอดไป โดยลึก ๖ ศอก ปากคลองกว้าง ๘ วา พื้นคลองกว้าง ๕ วา และให้พระราชสงครามเป็นแม่กอง คุมพลหัวเมืองทั้งปวงขุดคลองจนแล้วสำเร็จดุจพระราชกำหนด

แล้วมีพระราชดำรัสแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายว่า แต่ครั้งศักราช ๘๖๐ ปีมะเมียศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านั้น ก็ได้ขุดคลองสำโรงตำบลหนึ่ง ครั้นล่วงมาศักราช ๘๘๔ ปีมะโรงศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านั้น ก็ได้ขุดคลองบางกอกใหญ่ตำบลหนึ่ง ครั้นล่วงมาศักราช ๙๐๐ ปีจอศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกนั้น ก็ได้ขุดคลองบางกรวยริมวัดชลอ ทะลุไปออกริมวัดมูลเหล็กนั้นตำบลหนึ่ง ครั้นล่วงมาศักราช ๙๗๐ ปีวอกศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น ก็ให้ขุดคลองลัดริมวัดไก่เตี้ย ณ ท้ายบ้านสามโคกนั้นตำบลหนึ่ง ครั้นล่วงมาศักราช ๙๙๘ ปีชวดศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองนั้น ก็ได้ขุดคลองเมืองนนทบุรีตำบลหนึ่ง ตัดมาออกตลาดแก้วนั้น และครั้งนี้เราจะขุดคลองโคกขามให้เป็นเกียรติยศไว้ตราบเท่ากัลปาวสาน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image