‘พรเพชร’ ชงเพิ่มกรรมการร่าง รธน.อีก 10 ตำแหน่ง จัดทำกฎหมายลูก

“พรเพชร” แจงขั้นตอนใส่คำถามพ่วงในร่าง รธน. ชงเพิ่ม กรธ.อีก 10 ตำแหน่ง จัดทำ กม.ลูก ชี้เลือกตั้งต้องยึดโรดแมปเดิม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการลงประชามติ ว่า ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการก่อน และเนื่องจากคำถามพ่วงผ่านประชามติด้วย ดังนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อนำคำถามพ่วงบรรจุเข้าในร่างรัฐธรรมนูญ โดย กรธ.มีเวลาพิจารณาภายใน 30 วัน จากนั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามีความถูกต้องเป็นไปตามบริบทและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ภายในระยะเวลา 30 วันเช่นเดียวกัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ก็จะส่งกลับมาให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าต้องแก้ไขก็ต้องส่งกลับให้ กรธ.แก้ไขภายในเวลา 15 วันก่อนที่ส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติก็เป็นผลดีต่อการเข้าใจในโรดแมป และการดำเนินการของ คสช.ที่นำไปสู่การเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น คนที่สงสัยอยู่จะมีความมั่นใจยิ่งขึ้น

นายพรเพชรกล่าวต่อว่า สำหรับการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของ กรธ.ในการจัดทำ จากนั้นเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งตามหลักเกณฑ์ ก็ต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน แต่ในความเห็นของตนคิดว่าไม่จำเป็นต้องรอ โดย กรธ.สามารถเตรียมการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปพลางๆ ก่อน เมื่อ รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ก็สามารถย่นระยะเวลาในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กรธ.ต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 8-10 ฉบับ แต่การทำให้เสร็จทั้งหมด ระยะเวลาจะคาบเกี่ยวไปถึงวันประกาศให้มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ในช่วงประกาศเลือกตั้งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้น กรธ.จะต้องเร่งทำกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้เพื่อให้ สนช.พิจารณาก่อน โดย สนช.มีเวลาในการพิจารณารวม 60 วันเท่านั้น

เมื่อถามว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิน้อยกว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นายพรเพชรกล่าวว่า คิดว่าเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน การทำประชามติครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ 54-55 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปี 2550 มีผู้มาใช้สิทธิ 57 เปอร์เซ็นต์ อาจเป็นเพราะสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นปัจจัยทำให้ผู้ออกมาใช้สิทธิลดลงก็ได้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

เมื่อถามว่า คาดการเลือกตั้งจะมีเร็วขึ้น เป็นปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ให้เอาโรดแมปเดิมบวกระยะเวลาในขั้นตอนการบรรจุคำถามพ่วงในรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 60-75 วันด้วย ส่วนภาพของ ส.ว.ต้องรอให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการสรรหา ส.ว.ก่อน โดยกำหนดไว้กว้างๆ แต่ให้อำนาจ คสช.ไว้ ซึ่งขณะนี้ กรธ.มีจำนวน 21 คน แต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้มีภารกิจมากมาย ดังนั้นอาจจะมีการเพิ่มจำนวน กรธ.อีก 10 คน โดย คสช.จะเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง ขึ้นอยู่กับ กรธ.เป็นหลักว่าต้องการเพิ่มหรือไม่ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การเลือกตั้ง พรรคการเมือง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image