ผอ.ศูนย์นโยบายพท. ชี้ มีแนวโน้มสูง รบ.ประยุทธ์ทำยอดคนจนพุ่งขึ้นอีก เป็นครั้งที่3

“ผอ.ศูนย์นโยบายฯเพื่อไทย” ชี้ ปัญหาหลายครั้งไม่ได้เกิดจากวิกฤติศก. แต่หากเกิดจากประสิทธิภาพของรบ. แนะ ใช้ข้อมูลระยะยาวในการประเมินประสิทธิภาพ มากกว่าใช้ข้อมูลระยะสั้น

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพท. กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีพอใจภาพรวมผลการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายหลังสภาพัฒน์รายงานสถานการณ์ความยากจนในปี 62 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ว่า ศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพท. เห็นว่า การนำตัวเลขปีต่อปีในลักษณะนี้มาวิเคราะห์ จะนำไปสู่การตีความที่คลาดเคลื่อนและได้ข้อสรุปที่ผิดพลาด ซึ่งตามปกติแล้ว ตัวเลขคนจน หรือจำนวนคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนนั้น มีแนวโน้มลดลงอยู่แล้วโดยปกติ จากปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี การศึกษา การพัฒนาของทุนและแรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่มีการรายงานมา ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น ทั้งหมด 5 ครั้ง และเป็นไปได้สูงที่จะมีครั้งที่ 6 จากวิกฤติโควิด ได้แก่ 1.ปี 2541 จากวิกฤติต้มยำกุ้ง 2.ปี 2543 ผลพวงต่อเนื่องจากวิกฤติต้มยำกุ้ง และวิกฤติ Dot-com 3.ปี 2551 จากวิกฤติซับไพรม์ 4.ปี 2559 รัฐบาล คสช. 5.ปี 2561 รัฐบาล คสช. และ 6.คาดว่าปี 2563 จากวิกฤติโควิด รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ข้อมูลระยะยาวนี้บ่งชี้ว่า ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ คนไทยจะจนมากขึ้นถึง 3 ครั้ง จากทั้งหมด 6 ครั้ง มากครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าผู้นำทุกคนของไทย ตั้งแต่มีการรายงานมา นอกจากนั้น 2 ครั้งในช่วงรัฐบาล คสช. (ปี 2559 และ 2561) ไม่ได้เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่หากเกิดขึ้นจากปัญหาด้านประสิทธิภาพของรัฐบาลโดยตรง รัฐบาลควรจะใช้ข้อมูลระยะยาวลักษณะนี้ในการประเมินประสิทธิภาพ มากกว่าใช้ข้อมูลระยะสั้นปีต่อปี เพราะนอกจากจะทำให้เกิดข้อสรุปเชิงนโยบายที่ผิดพลาดแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าขาดความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ตัวเลขหรือดัชนีดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image