ลุ้นโมเดล “กก.สมานฉันท์” สถาบันพระปกเกล้าชงปธ.สภา จะมีโครงสร้างอย่างไร

ลุ้นโมเดล “กก.สมานฉันท์” สถาบันพระปกเกล้าชงปธ.สภา จะมีโครงสร้างอย่างไร

วันที่ 2 พฤศจิกายน จับตาดูรูปแบบคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่สถาบันพระปกเกล้าได้รับมอบหมายจากจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้ช่วยคิดโครงสร้างและจะนำเสนอโครงสร้างให้กับนายชวนในวันนี้ ตามที่นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สถาบันพระปกเกล้าในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับของประธานรัฐสภามีหน้าที่หาคำตอบให้กับสภาเท่านั้น ไม่ได้เป็นฝ่ายดำเนินการเองทั้งหมด โดยจะคิดค้นโครงสร้างที่เหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการปรองดองในอดีตและข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการอภิปรายหาทางออกร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะรวบรวมเสนอต่อประธานรัฐสภา อย่างเร็วสุดในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ โดยจะเสนอให้เห็นว่าโครงสร้างแต่ละโครงสร้างมีข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อห่วงใยของสถาบันฯ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ให้ความเห็นถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ว่า การมีคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่ช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ น่าจะเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากกว่าที่จะปล่อยให้สถานการณ์เดินหน้าไปเรื่อยๆ ส่วนโครงสร้าง และรูปแบบของคณะกรรมการจะเป็นแบบไหนก็ได้ที่จะช่วยกันนำไปสู่การพูดคุยกันเพื่อหาทางออกให้ประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคณะกรรมการรูปแบบเดิมๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีประธานคณะกรรมการ แต่อาจจะให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ระหว่างคู่ขัดแย้งหลักคือผู้เรียกร้องกับผู้ถูกเรียกร้อง โดยคณะกรรมการจากภาคส่วนอื่นๆ อาจเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ช่วยทำให้เกิดการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

นายองอาจ กล่าวว่า สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการจะเอาแบบที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคปชป.เสนอ 7 ฝ่าย คือ 1. รัฐบาล 2. ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 3. ส.ส.ฝ่ายค้าน 4. ส.ว. 5. กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง 6. ผู้ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุม 7. ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ หรือจะออกแบบใหม่ จะเพิ่มจะลดองค์ประกอบของคณะกรรมการอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันสามารถทำได้

Advertisement

ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ว่า เดิมเหมือนรัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา แล้วมีคนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ 7 ฝ่าย ถ้าเป็นอย่างนั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น เพราะจาก 7 ฝ่าย จะมีเพียง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายค้าน กับฝ่ายนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นคนพูดถึงปัญหา แต่ตอนนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา และสถาบันพระปกเกล้า กำลังดูโครงสร้างของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ถ้าเป็นอย่างนั้นเราขอดูหน้าตาโครงสร้างของคณะกรรมการที่จะเกิดขึ้นก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วจะพิจารณาว่าเข้าร่วมหรือไม่

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานวิปรัฐบาล ให้ความเห็นว่า ส่วนการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ต้องรอแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าก่อน เชื่อว่าจะมีการทำตุ๊กตามาเป็นตัวเลือกเพื่อให้พิจารณาว่าแนวทางใดเหมาะสมกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้
นายวิรัช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังสภาเริ่มเปิดสมัยสามัญแล้ว ว่า ขณะนี้รายงานดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยในรายงานจะเป็นแนวทางที่ให้เห็นว่าจะโหวตรับหรือไม่รับร่าง หากคนที่มีความคิดว่าจะไม่โหวตรับร่าง หากอ่านรายงานนี้แล้วอาจจะเปลี่ยนใจได้ หรือคนที่ไม่เห็นด้วยก็อาจจะเห็นด้วยได้ เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม หากรอพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือ ไอลอว์ ก็น่าจะเป็นช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image