รองเลขาฯศาลกางป.วิอาญา เปิดหลักเกณฑ์ออกหมายจับ แจง 3 เหตุสิ้นผลของหมาย

รองเลขาฯศาลกางป.วิอาญา เปิดหลักเกณฑ์ออกหมายจับ พร้อมบอก 3 เหตุสิ้นผลของหมายชี้การปฏิบัติต้องตามหลักสมดุลรักษาความสงบคุ้มครองสิทธิตามรธน.

นายศุภกิจ แย้มประชา รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การออกหมายจับจะเป็นไปตาม ป.วิ อาญามาตรา 66 ซึ่งหลักเกณฑ์ในความผิดที่มีอัตราโทษเกิน3ปี กฎหมายเขียนว่าแค่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ที่ถูกขอหมายจับกระทำผิดอาญาตามที่ได้ขอออกหมายจับไป ก็เข้าเหตุขอออกหมายจับได้เเล้ว แต่ในกรณีข้อหาที่มีโทษจำคุกไม่ถึง 3 ปีจะต้องมีเหตุอื่นด้วยนอกจากว่าผู้ถูกออกหมายน่าจะกระทำผิด ก็จะต้องมีเหตุที่เชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ก่อภยันตรายประการอื่น ซึ่งเรื่องการหลบหนีก็จะมีข้อสันนิษฐานตามกฏหมายอยู่ เช่นพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกหรือนัดมาแล้วไม่ยอมมา

แต่ความสัมพันธ์ที่ศาลจะพิจารณาก็คือ ศาลจะดูว่ามีพยานหลักฐานตามสมควรหรือไม่ว่าจะกระทำความผิด ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการในการนำเสนอพยานหลักฐานที่ออกขอหมายจับนั้นมาจากพนักงานสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาพยานหลักฐานดังกล่าว เราเองก็พยามกลั่นกรองดูว่า สำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมามีพยานหลักฐานตามสมควรหรือไม่ กฎหมายใช้คำว่าตามสมควร จะเเตกต่างกับในชั้นพิจารณา เพราะหากศาลจะลงโทษใครจะต้องปราศจากข้อสงสัย เเต่ในชั้นหมายจับยังไม่ถึงขนาดนั้น

การสิ้นผลของหมายจับจะเป็นไปตามป.วิ อาญามาตรา68 คร่าวๆมีอยู่3เหตุคือ 1.การออกหมายจับเเละจับได้เเล้ว ถือว่าหมายสิ้นผล จะเอาไปจับซ้ำไม่ได้ 2.การจับตามอายุความเพราะ เเต่ละคดีมีอายุความไม่เหมือนกัน ถ้าความผิดขาดอายุความจะนำไปจับใครไม่ได้ เเละ3.ศาลมีคำสั่งเพิกถอน เช่นกรณีที่ศาลเคยออกหมายจับไว้มีอายุความเเค่เท่าที่ตามข้อหา เเต่ต่อมามีเหตุผลข้อเท็จจริงหรือสถานะผู้ต้องหาเปลี่ยนศาล ก็อาจจะเพิกถอนหมายจับเดิมเเละออกหมายจับใหม่ หรือกรณีที่เพิกถอนหมายจับเดิมเเต่ไม่ออกหมายจับใหม่ก็ได้ เช่นมีความปรากฎใหม่ที่เป็นเหตุในการเพิกถอนหมายจับ

อย่างเรื่องการไต่สวนขอเพิกถอนหมายจับก็ไม่มีอะไรห้ามไว้ เเต่เท่าที่ผ่านมาในทางปฏิบัติเคยมีการดำเนินการหรือไม่ ตนยังไม่ทราบข้อมูล เเต่ในหลักสากลทั่วประเทศ เรื่องการออกหมายจับเป็นการดำเนินการระหว่างเจ้าพนักงานของรัฐและศาล ที่เท่าผ่านมาเเละที่ทราบไม่ได้มีการไต่สวนทุกฝ่าย

Advertisement

ในทางปฏิบัติเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับหมายจับจากศาลเเล้วตามป.วิอาญา ได้เขียนหลักเอาไว้จำนวนมากถึงที่การออกหมายจับไปบังคับใช้ ถ้าเราเอาหมายจับไปจับใคร 1.ต้องเเจ้งข้อความในหมาย เเละต้องเเสดงให้เห็น เเละถ้าจับได้เเล้วต้องส่งตัวไปที่ไหน ถ้าบอกว่าส่งที่ศาล ต้องส่งทันที เว้นเเต่ศาลปิดทำการก็จะสามารถคุมตัวไว้ชั่วคราว เเต่ถ้าให้ส่งพนักงานสอบสวนก็จะมีกระบวนการเเจ้งข้อหาเเจ้งสิทธิ ป.วิอาญายังได้เขียนถึงอำนาจอื่นตามหมายจับ เช่นการค้นตัว มีระเบียบกระบวนการอย่างไร การค้นเพศหญิงต้องผู้หญิงค้น ตรงนี้กฎหมายเขียนไว้ละเอียดพอสมควรในเรื่องกระบวนการในการจับ

ซึ่งข้อปฏิบัติจริงก็จะเป็นตามหลักการทั่วไป เช่นโดยหลัก ให้จับเเล้วให้นำมาไว้ที่ทำการของพนักงานสอบสวน ถ้าเป็นกรณีที่เราบอกให้ผู้ต้องหามาเเล้วผู้ต้องหามา ขั้นตอนการจับทางกายภาพอาจจะไม่ต้อง เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า’ถ้าจำเป็น’ตรงนี้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณากฎหมาย ถือเป็นมุมของเจ้าพนักงานที่จะใช้อำนาจในการดำเนินการ ถ้าคนที่ถูกจับมีความพยายามขัดขวางหรือหลบหนี เจ้าพนักงานจะมีอำนาจในการดำเนินการตามที่กฎหมายเขียนไว้รับรอง ถือเป็นการป้องกัน ที่กฎหมายเขียนไว้กว้างๆ ที่ต้อง มาตีความกันเรื่องพฤติการณ์ที่เหมาะสมและพฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับตามหมาย

เเต่ในการใช้อำนาจรัฐนอกจากที่กล่าวมาในกรอบใหญ่ๆ รัฐธรรมนูญเองก็มีกรอบว่าการใช้อำนาจต้องทำตามเท่าที่จำเป็น เหมือนกับว่า การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อย แต่สิทธิเสรีภาพของชีวิตและร่างกายรัฐธรรมนูญก็รับรองไว้ จะเห็นว่ากฎหมายยุติธรรมทางอาญาหรือรัฐธรรมนูญก็ดีจะต้องรักษาสมดุลไว้ทั้ง2ส่วน ไม่ใช่ว่าจะให้เจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรก็ได้ จะต้องพิจารณาตามกฎเกณฑ์ เพราะหลักการของประเทศระบบเสรีประชาธิปไตย การจะทำอะไรได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image