บทบาท คณะกรรมการสมานฉันท์ กับบทบาท ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พลันที่ปรากฏข้อเสนอให้ส่งเทียบเชิญ 1 อดีตนายกรัฐมนตรี 1 อดีต ประธานรัฐสภา ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งใน ‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ ก็ต้องเอามือทาบอกด้วยความวิตก
คำถามตามมามากมาย ไม่ว่าจะต่อ ‘อดีตนายกรัฐมนตรี’ ไม่ว่าจะต่อ ‘อดีตประธานรัฐสภา’
เพราะคำว่า ‘อดีตนายกรัฐมนตรี’ มิได้ครอบคลุมไปยังที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น หากที่สำคัญและแหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ มีทั้งที่พำนักอยู่ในประเทศและต่างประเทศ
ภาพของ นายทักษิณ ชินวัตร ภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ลอยเด่นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
ยิ่งกว่านั้น ยิ่งมองไปยังรายละเอียดของ ‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ ตามข้อเสนอจากสถาบันพระปกเกล้า ก็ยิ่งเด่นชัดว่าอะไรคือปัญหาอันเป็นรากฐานแห่งการเกิดขึ้นของ ‘คณะกรรมการ’
ภาพของ ‘นายกรัฐมนตรี’ คนปัจจุบันก็ลอยเด่นขึ้นมา
ลอยเด่นขึ้นมาพร้อมกับภาพของ นายทักษิณ ชินวัตร ภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรวมถึง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
แม้จะมีความเชื่อตามบทสรุปของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า สังคมสยามเป็นสังคมแห่งการประสานประโยชน์ สังคมแห่งการผสมกลมกลืน แต่ก็ยากยิ่งจะคาดหวังต่อกระบวนการอันมา จาก ‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ ได้อย่างง่ายๆ
ต้องยอมรับว่าข้อเสนอซึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์และได้รับการผลักดันอย่างเต็มกำลังจากประธานรัฐสภาเป็นความตั้งใจดี
แต่ปมที่ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับร่วมกันก็เป็นดังที่ นายอานันท์ ปันยารชุน จะประมวลมาล่าสุดว่าปัญหาตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมานั้นใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ขณะเดียวกัน ก็มีความจำเป็นต้องย้อนกลับไปทบทวนถึงในห้วงก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ในห้วงก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
ที่เคยประกาศว่าจะมาสร้างความปรองดอง ยุติปัญหาและความขัดแย้งนั้นกระทำได้ผลมากน้อยเพียงใด
หลังการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคมก็ต้อง ยอมรับว่าภาพของ ‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ ได้สร้างความหวังหนึ่งให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
แต่ความหวังนี้จะปรากฏเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด
นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าภายใน ‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ จะยอมรับต่อความเป็นจริงอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยความซื่อสัตย์หรือไม่