หาดใหญ่โพล HATYAI POLL สำรวจความเห็นเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรกับการชุมนุมทางการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ร้อยละ 41 เห็นด้วยกับการให้นายกฯลาออก
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน “หาดใหญ่โพล” โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการชุมนุมทางการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 400 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม จำนวน 104 คน และด้วยวิธีแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 296 คน มีภูมิลำเนาในจังหวัดสงขลา มากที่สุด (ร้อยละ 63.50) รองลงมา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนราธิวาส คิดเป็นร้อยละ 6.25 และ 5.00 ตามลำดับ ระหว่างวันที่ 26-31 ตุลาคม 2563 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยถึงผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 89.00 ไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มคณะราษฎร 63 มีเพียงร้อยละ 11.00 ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มคณะราษฎร 63
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 63 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 41.00 เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รองลงมา เห็นด้วย (ร้อยละ 19.50) เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นตามกลุ่มอายุ พบว่า ประชาชนกลุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปี กลุ่ม 21-30 ปี และกลุ่มอายุ 31-40 ปี ส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก คิดเป็นร้อยละ 44.19 55.90 และ 29.27 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุ 41-50 ปี ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย (ร้อยละ 24.53) และกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก (ร้อยละ 66.67) ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 36.25 เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน รองลงมา ร้อยละ 29.75 เห็นด้วย และเมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นตามกลุ่มอายุ พบว่า ประชาชนกลุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปี และกลุ่ม 21-30 ปี เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อข้อเรียกร้องให้มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนร้อยละ 44.19 และ 49.07 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุ 31-40 ปี และกลุ่มอายุ 41-50 ปี มีความคิดเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน คิดเป็นร้อยละ 35.37 และ 26.42 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อข้อเรียกร้องนี้ คิดเป็นร้อยละ 38.89
ประชาชนร้อยละ 40.50 เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรลาออกเพื่อในการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน รองลงมา เปิดเจรจากับกลุ่มแกนนำคณะราษฎร 63 การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออกของประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 16.25 13.25 และ 12.50 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นตามกลุ่มอายุ พบว่า ทุกกลุ่มอายุเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุด คือ นายกรัฐมนตรีลาออก ยกเว้นกลุ่มอายุ 41-50 ปี ที่เห็นว่าทางออกที่เหมาะสมที่สุดเป็นการเปิดประชุมสภาเพื่อหาทางออก (ร้อยละ 23.03) และกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป ที่เห็นว่าทางออกที่เหมาะสมที่สุด คือให้นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และปัญหาสภาพเศรษฐกิจให้ผ่านไปก่อน (ร้อยละ 43.75) โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.25 เห็นว่าบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีควรเป็นบุคคลนอก ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปี กลุ่มอายุ 21-30 ปี และกลุ่มอายุ 31-50 ปี มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ควรเป็นบุคคลภายนอก ส่วนกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป เห็นว่าบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีควรมาจากการสรรหาโดยรัฐสภา
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 85.75 เห็นด้วยที่จะให้มีการปฏิรูปการเมืองและนักการเมืองภายใต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ พบว่า ทุกช่วงอายุมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันให้มีการปฏิรูปการเมืองและนักการเมือง โดยมีช่วงร้อยละความคิดเห็น 55.56-92.55 นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 54.75 เห็นว่าการเปิดประชุมรัฐสภาไม่สามารถแก้ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองและหาทางออกให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งทุกกลุ่มอายุมีความคิดเห็นสอดคล้องกันยกเว้นกลุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปี ที่เห็นว่าการเปิดประชุมรัฐสภาสามารถแก้ปัญหาได้ (ร้อยละ 58.14) และกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป ที่มีร้อยละความคิดเห็นเท่ากันระหว่างสามารถแก้ปัญหาได้และไม่ได้
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรให้มีการปฏิรูปด้วยการกระจายและเพิ่มโอกาสและคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียม มากที่สุด (ร้อยละ 32.21) รองลงมา ควรปฏิรูปหลักสูตรและปฏิรูปการบริหารจัดการทางการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 21.82 และ 19.74 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปี กลุ่มอายุ 21-30 ปี และกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวม ส่วนกลุ่มอายุ 41-50 ปี ต้องการเห็นการปฏิรูปการศึกษาในด้านการบริหารจัดการ มากที่สุด (ร้อยละ 36.17) นอกจากนี้ประชาชนในจังหวัดสงขลาร้อยละ 23.62 เห็นว่า อบจ.สงขลา ควรปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด รองลงมา คือ ปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน ปัญหาราคายางและปาล์มน้ำมันตกต่ำ และปัญหาคุณภาพการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 22.44 16.54 และ 14.17 ตามลำดับ