เดินหน้าชน : ‘นิคมฯจะนะ’น่าห่วง

กระแสการลุกฮือของชาวอำเภอจะนะและเอ็นจีโอระยะนี้อาจดูเหมือนซาลง ในการเคลื่อนไหวต่อค้านคัดค้านโครงการนิมคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ด้วยมองว่า ไม่คุ้มค่า ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

นับเป็นความสงบเงียบรอวันปะทุ จากความพยายามของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่รุกคืบเดินหน้าผลักดันโครงการอย่างต่อเนื่อง

กล่าวสำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปก่อนหน้า 3 โครงการ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา

ล่าสุดคือเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา วางเป้าหมายสวยหรูจะพัฒนาเชิงพื้นที่ กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น ยกระดับความเป็นอยู่คนในพื้นที่อย่างครบวงจร สร้างสันติสุขเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

Advertisement

ในระยะแรกของการพัฒนาจะใช้พื้นที่ประมาณ 1 หมื่นไร่ ประกอบด้วย เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้สินค้า อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า แหล่งที่พักอาศัย

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างสูง แต่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ก่อนจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่มีการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทั้งที่มีกฎหมายกำหนดไว้

นำมาซึ่งการต่อต้านอย่างหนักก่อนหน้านี้

Advertisement

ยิ่งมีการกล่าวอ้าง นิคมอุตสาหกรรมจะนะจะสร้างงานสร้างอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ถึง 1 แสนอัตรา

แต่เมื่อเข้าไปดูไส้ใน พบว่ามีความเป็นไปได้น้อยอย่างยิ่งที่จะสร้างงานได้มากมายขนาดนั้น เพราะอุตสาหกรรม ที่จะถูกบรรจุอยู่ในนิคมฯ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้สินค้า อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ ล้วนเป็นกิจกรรมที่ใช้เครื่องจักรที่มีความซับซ้อนและอัตโนมัติ ที่ว่าจ้างงานนับแสนตำแหน่งจึงเป็นไปได้น้อยมาก

มีคำถามว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาส่วนมากประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและการประมงเป็นหลัก

หรือแม้แต่ความจำเป็นของการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ก็ยังมีคำถามเช่นกัน

เพราะต้องรับรู้ด้วยว่า ปัจจุบัน จ.สงขลา มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ก่อตั้งเมื่อปี 2527 นิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ก่อตั้งเมื่อปี 2558 และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ก่อตั้งเมื่อปี 2562

การบรรจุนิคมอุตสาหกรรมจะนะลงไปอีกแห่งใหม่ อาจทำให้เกิดการผลิตล้นเกิน ไม่คุ้มค่าการลงทุนไปจนถึงขั้นล้มเหลวได้

มีการซุบซิบนินทากันว่า การผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะคือการเตะหมูเข้าปากนายทุนผู้ครอบครองที่ดินและนักการเมืองบางราย

คำถามสุดท้าย โครงการลงทุนมหาศาลที่รัฐต้องทุ่มเงินลงไปพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน ทั้งยังส่งผลต่อวิถีชีวิตคนในพื้นที่ที่แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นอะไรด้วย

ตอบโจทย์การพัฒนาจริงหรือ

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image