อ.นิติศาสตร์ มช. ชี้ ฉีกบัตรเชิงสัญลักษณ์-อารยะขัดขืน ไม่ควรผิดกม.-ต้องโทษอาญา

วันนี้ (8 สิงหาคม) อ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊กแสดงความเห็นกรณีการฉีกบัตรลงประชามติประท้วง โดยระบุว่า “ว่าด้วยเรื่อง ฉีกบัตร”

เคยเขียนบทความบอกว่า “การฉีกบัตรออกเสียงเชิงสัญลักษณ์” เพื่อต่อต้านกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมในแนวทาง Civil Disobedience นั้นไม่ควรผิดกฎหมาย และไม่ควรต้องโทษทางอาญา
แต่ก็มีนักกฎหมายสายประชาธิปไตย เข้ามาแขวะ มาด่า เพราะติดภาพ อ.ไชยันต์ ฉีกบัตร ทั้งที่ตอน อ.ไชยันต์ฉีกบัตรต้านการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ก็เป็นที่ยอมรับของขบวนการต้านการเลือกตั้ง ไม่ฟรี ไม่แฟร์ ในเวลานั้นเป็นอย่างมาก

ครับ พอตอนนี้ โตโต้ กระทำการฉีกบัตรเพื่อปักหมุดทางประวัติศาสตร์ พวกท่านจะว่าอย่างไร นี่ไงครับ ความสำคัญของ Freedom of Expression และ Human Rights ที่ต้องเดินไปคู่กับระบอบประชาธิปไตยเสมอ

ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ผู้มีอำนาจใช้ทรัพยากรและอำนาจที่ตนมี มาบิดเบือนผลการออกคะแนนไปโดยไม่สนใจเสียงวิจารณ์ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ

Advertisement

เอ้า…ตอบแบบนักกฎหมายด้วยก็ได้ ความผิดทำลายบัตรลงคะแนน ตาม ม.59 ของ พ.ร.บ.ประชามติ เนี่ย ก็เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์เดียวกับ กฎหมายที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออก อย่าง พรบ.อนุวัติการกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) นะครับ หากมีคดีที่ต้องตีความ กติกาบอกว่าต้องไม่ตีความไปในทางที่จำกัดสิทธิ

ยิ่งถ้ามองว่า รัฐธรรมนูญประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ก็ย่อมอยู่เหนือ พ.ร.บ.กำหนดความผิด ที่เป็นกฎหมายลำดับต่ำกว่า แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้จะไม่ได้รับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดแจ้งแบบ รธน.2540 (ที่มีผลบังคับใช้ในตอนคดี อ.ไชยันต์) แต่ก็รับรองสิทธิเสรีภาพและย่อมหมายรวมถึงสิทธิตาม พรบ.อนุวัติการ ICCPR ที่ไทยเป็นภาคีนั่นเอง

เข้าใจว่าคดีฉีกบัตร ของ อ.ไชยันต์ ศาลชั้นต้นยกฟ้อง และเคยออกเป็นธงคำตอบวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน ในการสอบเนติบัณฑิต ด้วย แต่ต่อมา ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาเป็นลงโทษ? และศาลฎีกากำลังจะตัดสินคดีในอีกไม่นาน?

Advertisement

เอาล่ะครับ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ จะบอกกับคนที่รักประชาธิปไตย เชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนว่า เราต้องยึดมั่นในหลักการ วินิจฉัย “การกระทำ” ไม่ติดกับดัก “บุคคล” และการเมืองแบบ “เลือกข้าง” มิเช่นนั้น

มันจะกลายเป็น “บ่วงบาศพิฆาตตัวเอง”

ทั้งนี้ บทความวิชาการที่เสนอให้ กปปส. อย่าไปปิดขวางคูหาเพราะละเมิดสิทธิคนอื่น แต่ถ้าจะต่อต้านการเลือกตั้งให้ไปฉีกบัตร ครับ
ทศพล ยังมีจุดยืนเดิม และจะเดินไปในเส้นทางนี้ “สิทธิมนุษยชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image