วิพากษ์‘กฎเหล็ก’กกต. ห้าม‘ส.ส.’หาเสียงอบจ.

วิพากษ์‘กฎเหล็ก’กกต. ห้าม‘ส.ส.’หาเสียงอบจ.

วิพากษ์‘กฎเหล็ก’กกต.
ห้าม‘ส.ส.’หาเสียงอบจ.

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงกรณีที่พรรคการเมืองได้มีข้อสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง มาตรา 34 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 โดยที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

วิพากษ์‘กฎเหล็ก’กกต. ห้าม‘ส.ส.’หาเสียงอบจ.

Advertisement

การออกข้อห้ามหาเสียงตามมาตรา 34 เป็นหลักคิดที่มีความพยายามในการสร้างความเสมอภาคระหว่างผู้สมัครนายก อบจ.แต่ละรายหรือกลุ่มการเมือง แต่ในสภาพความเป็นจริงคงเกิดขึ้นได้ยากและในทางกลับกันอาจจะมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมืองที่จะทำให้มีการร้องเรียน นำไปสู่การเลือกตั้งที่มีปัญหา ดังนั้นจึงสะท้อนภาพให้เห็นว่าเป็นการออกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคม และการใช้ข้อบังคับอย่างแท้จริงเกิดขึ้นได้ยาก ท้ายที่สุดก็ทำให้มีการออกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

นอกจากนี้ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติเป็นไปได้ยาก ทั้งการกำหนดนโยบาย การบริหารที่สอดคล้องกันในอนาคต ดังนั้นก่อนการออกกฎหมายห้ามในลักษณะนี้จึงควรมองให้ครบทุกมิติ อย่ามองเพียงให้การเลือกตั้งมีความเสมอภาค หรือไม่ต้องการให้อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่สำคัญการกำกับด้วยกฎหมายดังกล่าวจะทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่ จะเป็นคำถามสำคัญที่ กกต.ควรรับฟังเสียงสะท้อน เพราะในทางพฤตินัยคงเป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก เนื่องจากความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองของมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่สามารถกำกับได้ด้วยกฎหมายทั้งหมด เพราะฉะนั้นการใช้กฎหมายแบบนี้ท้ายที่สุดก็อาจจะได้เห็นการใช้กฎหมายที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของความสัมพันธ์ในสังคมหรือหลักนิติทางสังคม เพราะกฎหมายที่กำหนดโดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว เพื่อควบคุมกำกับการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดอาจจะมีปัญหาในการบังคับใช้ เพราะจะมีระบบพรรคพวก สังคมเชิงอุปถัมภ์เข้าไปเกี่ยวข้อง

ทำให้การใช้กฎหมายอาจมีการเลือกปฏิบัติกับบุคคลบางกลุ่ม หรือปฏิบัติอีกแบบกับบุคคลบางกลุ่ม สุดท้ายก็ไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เพียงแต่กำหนดไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และจะทำให้การหาเสียงมีความซับซ้อน ทำให้ระบบการหาเสียงมีปัญหามากขึ้นกว่าเดิม ในที่สุดก็อาจถูกหยิบไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยประชาชนไม่ได้อะไรจากเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือการประกาศนโยบาย เพราะทุกฝ่ายต้องระวังตัว ทำให้กลไกที่จะถูกเชื่อมต่อกับประชาชนถูกลดทอนลง

Advertisement

ถ้าต้องการให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นบริสุทธิ์ยุติธรรม ควรมองในหลากหลายมิติ ขณะที่การควบคุมกำกับไม่ให้นักการเมืองในระดับชาติมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่รัฐไปเกี่ยวข้องพรรคการเมือง มิติเท่านี้ยังไม่พอ แต่ต้องคิดว่าควรทำอย่างไรให้การเมืองท้องถิ่นเป็นพื้นที่สำหรับการตอบสนองความต้องการให้กับประชาชน จะต้องมองในมิติอื่นครอบคลุมมากกว่านี้ เชื่อว่าหลังประกาศใช้กฎหมายก็ยังเห็นรัฐมนตรีที่เดินทางไปต่างจังหวัดให้เหตุผลว่าจะไปตรวจราชการ หรือแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่เชื่อว่าอาจจะกลายเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการหลบเลี่ยง ดังนั้นการแทรกแซงทางการเมืองจึงไม่จำเป็นต้องลงไปช่วยหาเสียง แต่มีวิธีการอื่นที่หลากหลาย กฎหมายจะไม่สามารถใช้กำกับอะไรได้มากนัก เพราะเชื่อว่า กกต.ยังไม่มีวิวัฒนาการอะไรมากมายกว่าที่ผ่านมา หากพิจารณาจากการบริหารการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยเฉพาะผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทบจะไม่มีบทบาทอะไรที่ทำให้ประชาชนเห็นผลงานอย่างชัดเจน

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

วิพากษ์‘กฎเหล็ก’กกต. ห้าม‘ส.ส.’หาเสียงอบจ.

ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่ามีความพยายามผลักดันไม่ให้การเมืองระดับประเทศเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองท้องถิ่น ถ้าดูในมุมของกฎหมาย มาตรา 34 ในมุมหนึ่งอาจจะมองว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้สมัครทุกคน ซึ่งบางคนอาจไม่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองในระดับประเทศ หากกลุ่มการเมืองที่เป็น ส.ส.ก็จะมีฐานเสียงอยู่ เพื่อปกป้องกันอิทธิพลตรงนี้นั้น ซึ่งหากมองในมุมกฎหมายในแง่ของการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้สมัครที่อาจจะไม่ได้มีงบประมาณมากนัก หรือไม่ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นก็อาจจะดีในระดับหนึ่ง

แต่ส่วนตัวมีข้อสังเกตอยู่บางประการ ถ้าเราดูปัญหาของการจัดการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา เหมือนกับว่ามีเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะดำเนินการกับกลุ่มการเมืองใด ซึ่งส่วนตัวมองว่าจุดนี้จะกลายเป็นปัญหาในเรื่องของการตีความที่อาจจะส่งผลกระทบกับผู้สมัครบางกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ในอีกมุมหนึ่ง ถือเป็นข้อดีด้วยซ้ำ ในการที่ไม่ให้ ส.ส.หรือนักการเมืองท้องถิ่นช่วยหาเสียง ก็อาจจะไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะความจริงในอีกมุมหนึ่ง การลงคะแนนในช่วงนี้คนส่วนหนึ่งจะมีความผูกพันกับพรรคการเมืองอยู่แล้ว บางทีเราอาจจะต้องมีการตั้งคำถาม กับการที่พยายามแยกการเมืองท้องถิ่นออกจากการเมืองระดับประเทศว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะในความเป็นจริงกลุ่มเหล่านี้ก็มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว จึงอาจจะต้องมามองว่าจะมีวิธีอื่นหรือไม่ในการป้องกันอิทธิพลเหล่านี้

อย่างไรก็ดี การทำงานที่มีความเชื่อมโยงกันในระดับท้องถิ่นกับระดับประเทศ อาจจะเอื้อในเรื่องการพัฒนาอีกมุมหนึ่งก็ได้ แต่ส่วนตัวมองว่า การใช้มาตรา 34 นี้ ก็มีความเป็นไปได้ในเรื่องของการพยายามจำกัดพื้นที่ทางการเมืองของพรรคการเมืองใหม่ เช่น คณะก้าวหน้า เพราะเราก็เห็นแล้วว่ามีการเคลื่อนไหวในการช่วยหาเสียงของกลุ่มคณะก้าวหน้า ซึ่งชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์กับนักการเมือง อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตได้ว่าการตีความเหล่านี้อาจจะเพื่อป้องกันโอกาสของผู้สมัครที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มคณะก้าวหน้ากับพรรคก้าวไกลก็เป็นได้ เหมือนกับการพยายามรักษาฐานอำนาจของรัฐบาล ป้องกันไม่ให้กลุ่มก้าวหน้าได้โตขึ้นในการเมืองระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ จะส่งผลให้ผู้ที่เป็นญาติ หรือมีนามสกุลเดียวกัน ไม่สามารถหาช่วยหาเสียงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตีความของ กกต. ซึ่งการตีความกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านมา การพิจารณาของ กกต.มีปัญหาค่อนข้างมาก ไม่สะท้อนความเป็นกลาง จากการตั้งคำถามการทำงานของ กกต.จึงมองเห็นปัญหาของการตีความ และการตีความเพื่อเอื้อให้กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล

เมื่อดูมาตรา 34 นี้เขียนไว้ค่อนข้างกว้างมาก ซึ่งเปิดโอกาสในการตีความ ถามว่าผู้สมัครจะต้องระวังมากขึ้นหรือไม่ ความจริงแล้วก็ไม่ต่างจากช่วงเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะต้องระวังในทุกอย่างอยู่แล้วภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นตัวรัฐบาลเอง นายกรัฐมนตรีที่ยังเป็นคนเดิม ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ สะท้อนให้เกิดความไม่แน่ใจว่าจะมีการใช้อำนาจรัฐในด้านอื่นๆ ด้วยหรือไม่

วิจารณ์ กุลชนะรัตน์
ที่ปรึกษาสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย

วิพากษ์‘กฎเหล็ก’กกต. ห้าม‘ส.ส.’หาเสียงอบจ.

ในความเป็นจริงคงห้ามไม่ได้ แม้ว่า กกต.จะมีการออกกฎหมายเพื่อปิดกั้น เนื่องจากนักการเมืองระดับชาติจะอยู่เบื้องหลังเพื่อหาเสียงให้นักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายหัวคะแนนในระบบเดิม และการออกระเบียบจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องอาจจะไม่ทราบตัวตนที่แท้จริงกรณีกฎหมายมีข้อห้าม ขณะที่ข้อดี กกต.อาจจะไม่ต้องการเห็นว่ามีการใช้ทรัพยากรบุคคลหรือเครื่องมือที่เป็นของรัฐเข้าไปสนับสนุนผู้สมัคร หากปล่อยไว้ก็จะมีการนำตัวบุคคลของรัฐและเครื่องมือไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงให้กับพรรคพวกหรือญาติพี่น้องซึ่งจะเป็นผลเสีย ที่สำคัญ กกต.ไม่ต้องการให้นักการเมืองระดับชาติลงมาคลุกฝุ่นในสนามการเมืองท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงคงแบ่งแยกได้ยาก

แต่การออกข้อห้ามของ กกต.ถูกมองว่าผิดธรรมชาติจากระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม การมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนจากฐานคะแนนเสียงในกลุ่มเดียวกัน และเรื่องนี้ขัดแย้งกันเองในทางปฏิบัติเพราะ กกต.เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองส่งตัวบุคคลลงรับสมัครแข่งขันได้ ใช้โลโก้หรือภาพหัวหน้าพรรคการเมืองได้แต่ต้องได้รับอนุญาต ทั้งที่พรรคการเมืองไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้อง อาจทำให้แนวทางการปฏิบัติตามข้อห้ามทำได้ง่ายขึ้น

ส่วนตัวเชื่อว่าการเมืองส่วนหนึ่งอาจจะมีความกังวลบ้าง แต่เชื่อว่าในที่สุดก็คงจะต้องหาวิธีการเพื่อให้การช่วยเหลือในการหาเสียงได้แน่นอน และขอให้ กกต.พิจาณาว่าหากมีการใช้วิธีการใต้ดินจะน่าวิตกกว่าวิธีการที่เห็นได้บนดินหรือไม่ หากนักการเมืองระดับชาติเปิดหน้าชัดเจนว่าให้การสนับสนุนใครก็คงไม่เป็นปัญหา สำหรับผู้ที่เป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยากับผู้สมัครอาศัยหลับนอนในบ้านหลังเดียวกันกับผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์ในลักษณะต้องห้าม เช่น นั่งประทานอาหาร ขับรถไปด้วยกัน กกต.จะใช้หลักเกณฑ์ใดพิจารณาตามข้อกฎหมาย จะไปเปิดเผยตัวในที่สาธารณะในทางพฤตินัยได้หรือไม่ หรือถ้าสามีสมัครนายก อบจ. ภรรยาที่เป็นข้าราชการหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไม่สนับสนุนสามีได้อย่างไร

สำหรับการวินิจฉัยเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก หากมีการร้องเรียนต้องคำนึงด้วยว่ากฎหมายที่เป็นข้อห้ามจะใช้บังคับผู้เกี่ยวข้องได้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ เพื่อไม่ให้ถูกว่ามีการเลือกปฏิบัติจากการวางกรอบหรือบรรทัดฐานในการวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย เพราะ กกต.มีกรอบวิธีคิดที่กว้างมาก แต่ใช้คำว่าน่าเชื่อได้ว่าก็จะเป็นปัญหาแล้ว ส่วนพยานหลักฐานที่นำมาพิจารณาคงไม่ง่าย หาก กกต.จะมีเป้าหมายเพื่อรับการร้องเรียน มากกว่าการมีเบาะแสแล้วส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสืบสวนสอบสวนหาข่าวหาข้อเท็จจริง เพราะส่วนตัวเคยมีประสบการณ์จากการทำงานเป็น กกต.จังหวัดมาก่อน ส่วนใหญ่ กกต.จะรอเรื่องร้องเรียนแล้วนำเอกสารหลักฐานไปพิสูจน์ในภายหลังโดยยึดหลักการใช้ดุลพินิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image