ไอลอว์ แจงหลักการทำงานกับแหล่งทุน ยันโปร่งใส ตรวจสอบได้ ย้ำ อีกฝ่ายไม่มีส่วนกำหนดรูปแบบกิจกรรมที่ทำ

ไอลอว์ แจงหลักการทำงานกับแหล่งทุน ยันโปร่งใส ตรวจสอบได้ ย้ำ อีกฝ่ายไม่มีส่วนกำหนดรูปแบบกิจกรรมที่ทำ

สืบเนื่องจากกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี เปิดเผยว่า โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รับเงินจากหน่วยงานต่างชาติ ประกอบด้วย 1.Open Society Foundation (OSF) 2.Heinrich Böll Stiftung (HBF) 3.National Endowment for Democracy (NED) 4.Fund for Global Human Rights (FGHR) 5.American Jewish World Servic (AJWS) และ 6.ได้รับเงินสนับสนุนเป็นรายครั้งจากบริษัท Google และผู้สนับสนุนอิสระ จนเกรงว่าต่างชาติสามารถแทรกแซงประเทศไทยผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ไอลอว์ ชี้แจงกรณีดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์โครงการ ระบุว่า ไอลอว์ก่อตั้งเมื่อปี 2552 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม มีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงหลักการประชาธิปไตย, เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และระบบยุติธรรมไทยที่เป็นธรรมและตรวจสอบได้กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน iLaw ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1.Open Society Foundation (OSF) 2.Heinrich Böll Stiftung (HBF) 3.National Endowment for Democracy (NED) 4.Fund for Global Human Rights (FGHR) 5.American Jewish World Servic (AJWS) 6.ได้รับเงินสนับสนุนเป็นรายครั้งจากบริษัท Google รวมทั้งผู้สนับสนุนอิสระรายย่อย

ไอลอว์ระบุอีกว่า หลักการทำงานกับแหล่งทุนคือ เราจะพิจารณาแหล่งทุนที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกันกับเป้าหมายขององค์กร ไม่ได้จำกัดว่าต้องมาจากประเทศใด ถ้ามีแหล่งทุนในประเทศที่วัตถุประสงค์ตรงกันก็จะทำงานด้วยเช่นกัน โดยเราเป็นผู้ร่างโครงการที่ต้องการทำงานในแต่ละปี กิจกรรมทั้งหมดเราเป็นผู้ริเริ่มเสนอ และเป็นผู้ออกแบบ กิจกรรมที่ทำไม่มีผลต่อปริมาณเงินที่ได้รับ และแหล่งทุนไม่มีส่วนในการกำหนดรูปแบบและวัตถุประสงค์ของกิจกรรม

Advertisement

ไอลอว์กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้อยู่บน เว็บไซต์ของเรา มาตั้งแต่ก่อตั้ง และเว็บไซต์ของผู้ให้ทุนทุกแห่ง โดยหลักการเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำโดยปิดลับและไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เป็นเช่นเดียวกับการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ในประเทศไทยและทั่วโลก

ด้าน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า จากประสบการณ์ 11 ปีในวงการ เมื่อเอ็นจีโอไหนประสบความสำเร็จในการทำงาน สั่นสะเทือนการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลได้ รัฐบาลทุกประเทศ เมื่อไม่มี “เหตุผล” จะมาสู้ ก็จะเอาข้อหา “รับเงินต่างชาติ” มาใช้ตลอด เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้ในสนามเหตุผล เป็นเช่นนี้เองเป็นการทั่วไป เสมอมา ชิน

“ในการนี้ หากงานใดที่เราทำ มีปัญหาในทางเนื้อหา หากเห็นว่าเป็นผลเสียกับไทยหรือเป็นผลดีกับชาติอื่น ก็ขอให้โต้แย้งมาด้วยเหตุผล ผมเตรียมตัวเก็บข้อมูลมานานกว่า 6 ปี เพื่อจะรอต่อสู้เรื่องความชอบธรรม ของ คสช. ให้เห็นกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง” นายยิ่งชีพกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image