‘นิกร’ ชี้ คกก.สมานฉันท์ เหมือนพื้นที่กลาง แนะทุกฝ่ายเข้าร่วม หวังไม่ใช่กันชนให้รัฐบาล

‘นิกร’ ชี้ คกก.สมานฉันท์ เหมือนพื้นที่กลาง แนะทุกฝ่ายเข้าร่วม หวังไม่ใช่กันชนให้รัฐบาล

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา  กล่าวถึงข้อเสนอแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า ขณะนี้สังคมยังยึดติดอยู่กับความคาดหวัง ว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นต้องแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาต่างที่เกิดขึ้นในอดีต ล้วนแต่ล้มเหลว ซึ่งจริงๆแล้วควรคิดว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่กำลังจะตั้งขึ้น เป็นการสร้างพื้นที่กลางที่ปลอดภัยเพื่อให้เกิดการพูดคุย โดยมีคนกลาง เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งทุกฝ่ายควรเข้ามาร่วม รวมถึงผู้ชุมนุมก็ไม่ควรละทิ้งความคิดว่าคณะกรรมการเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อยากให้คิดว่าเป็นที่กลางเพื่อให้เข้ามาพูดคุยกัน เพราะถ้าไม่มีแล้วจะไป พูดคุยกันตรงไหน แต่ถ้าผู้ชุมนุมไม่เข้าร่วม ที่มีอยู่ก็สามารถคุยกันได้

“หวังว่าคณะกรรมการชุดนี้จะไม่ใช่กันชนให้รัฐบาล และไม่อยากให้มองว่าคณะกรรมการนี้เป็นของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง หรือของรัฐบาล เพราะคำสั่งแต่งตั้งก็ออกโดยประธานรัฐสภาจึงไม่อยากให้มีการล้ม อยากให้เป็นพื้นที่กลาง ที่ทุกคนพูดคุยกันได้แบบยิ้มๆ  แต่ถ้ามันจะล่มก็ให้มันล่มไป เพราะว่าได้ลองแล้ว ดีกว่ายังไม่ได้ลองอะไรเลย” นายนิกร กล่าวและว่า ที่ยึดติดว่าคณะกรรมการชุดเดิมๆก็เคยล้มเหลวในการดำเนินการ ก็ไม่ได้ล้มเหลวในทุกชุด ชุดของนายดิเรก ถึงฝั่ง ซึ่งเคยเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุย ก็ทำให้แรงกดดันภายในประเทศขณะนั้นลดลง อย่างไรก็ตาม คนกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมที่จะเข้ามาร่วม ปัจจุบันเป็นเพียงคนๆเดียวไม่ได้ เพราะจะถูกมองว่าเป็นคนของฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ จึงต้องเป็นบุคคล 3-4 คน ที่มีประสบการณ์ เป็นผู้ใหญ่ที่หวังดีต่อบ้านเมืองพอสมควร

ส่วนที่สภากำลังจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนั้น ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.) จัดทำรายงานในกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ กล่าวว่า ทางอนุกรรมาธิการ ได้มีการศึกษาร่างทั้ง 6 ร่างไว้อย่างละเอียดเป็นเล่มเอกสารประมาณ 400 หน้า ซึ่งจะมีรายละเอียดความเห็นของบุคคลต่างๆทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย ในประเด็นข้อกังวลที่เราคิดว่า ถ้าแก้ไขแล้วจะขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ซึ่งคิดว่าเป็นข้อมูลที่เพียงพอที่สมาชิกจะพิจารณาว่ารับหรือไม่รับ ซึ่งเมื่อสมาชิกได้พิจารณาทั้ง 6 ร่างแล้ว จากนั้นจะพิจารณาร่างของไอลอว์แล้วจึงจะโหวตไปที่ละร่างจนครบ 7 ร่างในคราวเดียว จากนั้นก็จะมีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่รัฐบาลเสนอร่างมาพิจารณาลำดับถัดไป  ซึ่งสะท้อนถึงเจตจำนงของรัฐบาลในการแก้กฎหมาย โดยรอประธานรัฐสภากำหนดวาระประชุมอีกครั้ง และหากมีการรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญจะมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในชั้นแปรญัตติจำนวน 45 คนตามสัดส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และ ส.ว.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image