ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน สังคมวิทยาฯ จี้ มธ.คุ้มครองสวัสดิภาพ บีบ ‘อธิการบดี’ ลาออก กรณีการชุมนุม-พิธีรับปริญญา

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน เพจเฟซบุ๊ก งานกิจกรรมนักศึกษาสังคมวิทยาฯ มธ. เผยแพร่แถลงการณ์ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่ยังคงยึดมั่นในหลักการ “เข้าใจ เคารพ เปลี่ยนแปลง” คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อ “ธรรมศาสตร์” : ขอให้คุ้มครองสวัสดิภาพและปกป้องเสรีภาพของประชาชน พร้อมแนบ 256 รายชื่อต่อท้าย

แถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ ถูกจับกุมและนำตัวไปฝากขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิง ในฐานะผู้ต้องหาในคดีการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน พ.ศ.2563 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมเวลาเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2563 กรณีการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2563 และกรณีเหตุการณ์ในระหว่างการปล่อยตัวรุ้ง เพนกวิน และไมค์ จากเรือนจำในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2563 รวมไปถึงการดำเนินคดีกับนักศึกษาคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา

ประกอบกับกรณีการตรวจเพื่อรักษาความปลอดภัยทางกายภาพและขั้นตอนในการตรวจสุขภาพอันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2561 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30-31 ตุลาคม พ.ศ. 2563 แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเกี่ยวกับการส่งมอบข้อมูลผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรโดยมหาวิทยาลัย หากแต่การเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนั้นกลับเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดแต่อย่างใด และมีการกล่าวอ้างว่าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรผ่านไปด้วยความเรียบร้อยนั้นก็มิได้เป็นความจริงตามเหตุการณ์ที่ได้ปรากฏขึ้นมา

เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีลักษณะคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งด้วยการใช้กำลังเข้าจับกุมและสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล การตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็นเพื่อควบคุมและตีตราประชาชน การใช้อำนาจพิเศษในสภาวะยกเว้นด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกฉินโดยอ้างสถานการณ์ COVID-19 และการดำเนินคดีความโดยไม่เป็นธรรมด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110, 112, 116, 215, 368 และมาตรา 385 ตลอดจนกฎหมายต่างๆ ที่ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ การใช้เครื่องขยายเสียง การรักษาความสะอาด และการจราจรทางบก

Advertisement

พวกเราศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่ยังคงยึดมั่นในหลักการ “เข้าใจ เคารพ เปลี่ยนแปลง” คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน “ธรรมศาสตร์” ดังนี้

1.ขอให้สมาคมศิษย์เก่าคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาธรรมศาสตร์ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมศิลปศาสตร์ฯ สมาคมนักศึกษาเก่าคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชมรมศิษย์เก่าวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยเหลือ เยียวยา และคุ้มครอง นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นักศึกษา และศิษย์เก่าคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมการชุมนุมหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ การแสดงออกถึงการคัดค้านการดำเนินคดีผู้ชุมนุมทางการเมือง การช่วยเหลือด้วยความสามารถทางวิชาชีพแก่บุคคลที่ได้รับ

ผลกระทบจากการเข้าร่วมการชุมนุม อันเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงการยึดถือจริยธรรมทางวิชาชีพที่ท่านได้รับการศึกษามา อีกทั้งในฐานะที่พวกท่านเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่พัฒนาขึ้นบนเจตนารมณ์ของคณะผู้ก่อตั้ง เพื่อให้เป็นการวางรากฐานประชาธิปไตยและให้การศึกษาเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในประเทศไทย

2.รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออกจากตำแหน่งโดยทันที เนื่องจากมีการปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐในการล่วงละเมิดสิทธิในข้อมูลบุคคลและข้อมูลทางการแพทย์ของผู้เข้าร่วมงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่นักศึกษา บัณฑิต และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากแต่ยังรวมไปถึงประชาชนที่เป็นทั้งครอบครัว มิตรสหาย และบุคคลอันเป็นที่รักของบัณฑิต ที่เข้ามาร่วมงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ โดยข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวตามหลักการของการรักษาความเป็นส่วนบุคคล และสิทธิที่บุคคลได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เพื่อให้ประโยคที่กล่าวว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำโฆษณาของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ดังที่ได้ถูกนำเสนอในงาน “Thammasat Open house 2020” “ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่” และ “รับเพื่อนใหม่”

3.คณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์และท่าพระจันทร์ ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อันเป็นสถานที่จัดงาน ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษอย่างจริงใจ และต้องจัดให้มีมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการอนุญาตให้มีการละเมิดสิทธิในครั้งนี้ รวมทั้งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและเปิดเผยรายละเอียดการประมวลผลข้อมูล พร้อมกับอธิบายเหตุผลในการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานภายนอกเข้ามาดำเนินการเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย อีกทั้งต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย ไม่ว่าในกรณีใดในอนาคต

“ธรรมศาสตร์” มิใช่เป็นเพียงแค่กิจการของคณะผู้บริหาร กรรมการสภามหาวิทยาลัย และสมาคมศิษย์เก่า หรือธุรกิจของคนใดคนหนึ่งหรือเพียงคนไม่กี่คน หากแต่เป็นประชาคมที่รวมเข้าด้วยกันจากนักศึกษา อาจารย์ พนักงาน ลูกจ้าง ข้าราชการ และศิษย์เก่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้พวกเราศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่ยังคงยึดมั่นในหลักการ “เข้าใจ เคารพ เปลี่ยนแปลง” คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ฉบับนี้ เพื่อให้ “ธรรมศาสตร์” เป็นสถาบันทางวิชาการและชุมชนที่มุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพและปกป้องเสรีภาพของประชาชนตามคำกล่าว “ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” ที่มิใช่การทำตามคำสั่งของผู้เผด็จการหรือรัฐที่มุ่งกดขี่ประชาชนดังเช่นที่เป็นอยู่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image