พท.ปัด พ.ร.ก.ไม่ใช่มติพรรค แจงไอเดียส่วนตัว ‘เจ๊หน่อย’

พท.ปัด พ.ร.ก.ไม่ใช่มติพรรค แจงไอเดียส่วนตัว “เจ๊หน่อย”

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน กรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมาชิกพรรค พท. เสนอให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รองรับคณะกรรมการสมานฉันท์

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนว่า เข้าใจเจตนาว่าคุณหญิงสุดารัตน์คงอยากให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ มีกฎหมายรองรับ เพราะหากกรรมการลักษณะนี้ตั้งขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีอำนาจสั่งการหรือผูกพันองค์กรต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม ก็ไร้ประโยชน์ ทั้งนี้ สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ควรได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และต้องมีอำนาจในตัวพอสมควร

เมื่อถามถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เตรียมเชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ในฐานะอดีตนายกฯ มาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ นายสุทินกล่าวว่า มองว่าใหญ่ไปก็อาจไม่เหมาะ สูงไปก็จะขาดอิสระเสรี อย่างไรก็ตาม ต้องถามว่ากลุ่มผู้ชุมนุมนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยอมรับหรือไม่ ถ้ายอมรับก็ไม่มีปัญหา ออกกฎหมายมารองรับคณะกรรมการฯ ได้เลย แต่ถ้าผู้ชุมนุมไม่เอาด้วยก็จบ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการหาทางลงหรือซื้อเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์นั้น หากเป็นประโยชน์กับทุกคนก็จบ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าทุกคนรับได้หรือไม่

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เงื่อนไขการตรา พ.ร.ก.คงต้องพิจารณาตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 บัญญัติไว้ กล่าวคือ เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ กรณีเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นปัจจุบันอาจถือได้ว่าเป็นปัญหาอันกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศได้ แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือพระราชกำหนดดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อให้เกิดการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้ การจะออก พ.ร.ก.เพื่อรองรับอำนาจการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่จะตั้งขึ้นนั้นจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการ ต้องถือว่ามีฐานทางกฎหมายรองรับ แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่กรรมการไม่มีอำนาจที่จะทำให้สำเร็จได้ในตัวเอง ต้องเสนอรัฐบาล รัฐสภาไปทำ

Advertisement

“เช่น คณะกรรมการที่เรียกชื่อย่อว่า คอป. ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน คณะกรรมการชุดดังกล่าวจัดทำรายงานและเสนอความเห็นต่อ ครม.แล้ว แต่สุดท้ายพอจะนำมาปฏิบัติก็เกิดข้อขัดแย้งขึ้นมาใหม่ สุดท้ายก็ล้มเหลว จึงเห็นได้ว่าการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ไม่อาจจะใช้กฎหมายหรือคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการหาข้อสรุปเพื่อบังคับให้ทุกคนต้องปรองดองกันได้ ที่ผ่านมามีสมาชิกพรรคได้ให้ความเห็นกันหลากหลายเกี่ยวกับการปรองดอง แต่ก็เป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น พรรคยังไม่ได้มีมติเรื่องนี้แต่อย่างใด เหตุเพราะยังไม่มีรูปธรรมอะไรชัดเจน ตนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะเดินอย่างไรควรเป็นเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคควรจะได้หารือกัน” นายชูศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image