กฎเหล็ก “กกต.” ตัวแปรศึก “อบจ.” ระวัง “ตกม้าตาย”

กฎเหล็ก “กกต.” ตัวแปรศึก “อบจ.” ระวัง “ตกม้าตาย”

ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายก อบจ.ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง

(กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกระทั่งมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นนายกฯอีกสมัย โดย กกต.กำหนดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบจ.และนายก อบจ.ระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน

ส่วนประเด็นที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบจ./นายก อบจ. รวมทั้งกองเชียร์ ต้องพึงระวังไม่ให้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยเฉพาะการหาเสียงเลือกตั้ง

Advertisement

ทั้ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ในมาตรา 34 ที่ระบุว่า “ในกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกระทำการใดๆ โดยมิชอบด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย มีอำนาจสั่งให้ยุติหรือระงับการกระทำนั้นได้”

“ให้กรรมการการเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำนั้นได้แล้วรายงานให้คณะกรรมการ การเลือกตั้งทราบ”

รวมทั้งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้สนับสนุนต้องศึกษาข้อกฎหมายและข้อห้ามให้ดี เพื่อป้องกันข้อร้องเรียนในภายหลัง ยิ่งในยุคดิจิทัลที่มีช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย หลากหลายช่องทาง การกระทำใดๆ จึงต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดี

โดยวิธีการหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นฯ ข้อที่ 8-10 ระบุไว้ว่า ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด สามารถใช้วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเองหรือนิติบุคคลดำเนินการแทนได้ ด้วยวิธีการ 1.เว็บไซต์ 2.โซเชียลมีเดีย 3.ยูทูบ 4.แอพพลิเคชั่น 5.อีเมล์ 6.เอสเอ็มเอส 7.สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ซึ่งผู้สมัคร พรรคการเมือง ต้องแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียง รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบก่อนหาเสียง

สำหรับข้อกฎหมายที่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งมีข้อสงสัยและอยากให้ กกต.ชี้แจงให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งจะมีผลต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.นั้น

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้มีหนังสือตอบกลับข้อหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่นไปยังพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ทั้ง 2 พรรคได้สอบถามมาก่อนหน้านั้น โดยหนังสือตอบดังกล่าว สำนักงาน กกต.ยืนยันว่า พรรคการเมืองสามารถส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และสามารถสนับสนุนให้สมาชิกพรรคการเมือง หรือบุคคลใดลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย หรือกรณีสมาชิกพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งโดยที่พรรคไม่ได้มีมติส่งสมัครในนามพรรค แต่พรรคอนุญาตให้ผู้สมัครดังกล่าวใช้ชื่อของพรรค ภาพเครื่องหมายพรรคในการหาเสียงก็สามารถทำได้

แต่ในส่วนของกรรมการบริหารพรรค ส.ส. หรือสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น หรือผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส. ผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ส. จะไปช่วยโดยมีภาพถ่ายในแผ่นป้าย เอกสารอื่นใดที่ใช้ในการหาเสียงร่วมกับผู้สมัครท้องถิ่น แจกใบปลิว ขึ้นเวทีปราศรัยกับผู้สมัคร หรือสนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงให้ผู้สมัครท้องถิ่นนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากถือเป็นบุคคลที่ตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นห้ามดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด

ขณะที่ ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กกต. ย้ำถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.ด้วยว่า เมื่อเสร็จสิ้นการรับสมัครเลือกตั้งแล้ว ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัด รวบรวมรายชื่อ ตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครทุกคน จะประกาศผู้ที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งภายใน 7 วัน หากผู้สมัครรายใดไม่มีชื่อ หรือไม่ผ่านคุณสมบัติ สามารถที่จะยื่นคำร้องต่อ กกต.ภายใน 3 วัน หลังจากที่ได้รับแจ้ง หากปรากฏว่าตนเองไม่มีชื่อ แล้ว กกต.ก็จะพิจารณาคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครทุกคนที่ตัดสิทธิ หากมีข้อโต้แย้งสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้

อยากฝากผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ว่าสามารถที่จะให้มีผู้ช่วยหาเสียงได้ตามกฎหมาย แต่นักการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่สามารถช่วยผู้สมัครหาเสียงได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น คือการหาเสียงทางออนไลน์ ผู้สมัครจะต้องมาขออนุญาตและลงทะเบียนต่อสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดว่าประสงค์ที่จะหาเสียงทางออนไลน์

“สิ่งที่ กกต.กังวลคือ การกดไลค์ กดแชร์ ของบุคคลที่ไม่สามารถช่วยผู้สมัครหาเสียงได้ตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้าหากท่านกดไลค์ กดแชร์ ท่านต้องมีความผิดทันที และผู้สมัครก็จะมีความผิดด้วย” ฐิติเชฏฐ์ย้ำเตือน

นี่เป็นบางส่วนของกฎหมายควบคุมศึกเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและกองเชียร์หวังช่วงชิงทุกคะแนนเสียงบนแพลตฟอร์ม ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดี เพื่อไม่ให้ต้องตกม้าตายในภายหลังว่าทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image