สกู๊ปหน้า 1 : สายเลือด-ศักดิ์ศรี ศึกชิง ‘นายกอบจ.’ ตรัง-เชียงใหม่

สายเลือด-ศักดิ์ศรี ศึกชิง ‘นายกอบจ.’ ตรัง-เชียงใหม่

หลังจากปิดรับสมัครเลือกตั้ง “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” หรือนายก อบจ.เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

สนามจังหวัดตรังมีผู้สมัครเพื่อชิงบัลลังก์ “นายก อบจ.” 3 คน ประกอบด้วย นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ เบอร์ 1 ทีมกิจปวงชน , นายสาธร วงค์หนองเตย เบอร์ 2 ทีมตรังพัฒนาเมืองตรัง และ นายภูผา ทองนอก เบอร์ 3 ลงในนาม ตรังก้าวใหม่

สนามนี้ บรรดาคอการเมืองให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ระหว่าง “บุ่นเล้ง” กับ “สาธร” เป็น “ศึกสายเลือด” แข่งขันกันเองของคนประชาธิปัตย์ชนิดอย่ากะพริบตา

Advertisement

หากเทียบฟอร์ม ประเมินตามขุมกำลัง เช็กความได้เปรียบเสียเปรียบ

“บุ่นเล้ง” เป็นตระกูลนักการเมืองยึดหัวหาดพื้นที่ เขต 3 ครอบคลุมพื้นที่ อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน อ.หาดสำราญ อ.กันตัง

มีพี่ชายคือ “สมชาย โล่สถาพรพิพิธ” อดีต ส.ส.ตรัง หลายสมัยที่มี “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาสนับสนุนแต่เกิดอุบัติเหตุถูกเว้นวรรคทางการเมือง

Advertisement

ล่าสุดส่งบุตรสาว “สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ” ลงสมัคร ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน

ขุมกำลังของ “บุ่นเล้ง” ยังมี “กิจ หลีกภัย” อดีตนายก อบจ.ตรัง ที่ “ชวน” เรียกพี่มาแต่เกิด ผูกขาดสนามแห่งนี้มานาน 25 ปี

ก่อนวางมือทางการเมืองส่งไม้ต่อให้ “บุ่นเล้ง” เป็นหัวหน้าทีม “กิจปวงชน” ส่งผลให้ฐานคะแนนเสียงเดิมของทีมกิจปวงชนทั้ง 30 เขต ยังแน่นปึ้ก

หันมาทางคู่แข่ง “สาธร วงศ์หนองเตย” น้องชาย “นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง พรรค ปชป. นักการเมืองฝีปากกล้า

“สาธร” มีพรสวรรค์ “ฝีปาก” ไม่แพ้พี่ชาย ทำงานการเมืองให้กับผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จังหวัดตรังมายาวนาน

ทั้งขึ้นเวทีช่วยหาเสียงให้ “ชวน หลีกภัย-ประกิต รัตมณี-วิเชียร คันฉ่อง”

จนได้รับตำแหน่งผู้ช่วย “ชวน” ทำงานการเมือง

แต่หลังจากที่ “สาทิตย์” เป็น ส.ส. “สาธร” ก็ผันตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว “สาทิตย์” ทำหน้าที่พบปะกับกลุ่มชาวบ้านที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน คร่ำหวอดบนเวทีการเมืองมาอย่างโชกโชนอีกคนหนึ่ง

ฐานเสียงขุมกำลังหลักอยู่ในพื้นที่เขต 2 ใน อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา อ.วังวิเศษ อ.สิเกา และ ต.โคกยาง อ.กันตัง ซึ่งเป็นพื้นที่ของ “สาทิตย์”

“สาธร” งัดกลยุทธ์ด้วยสโลแกน “เปลี่ยนตรังให้ดังกว่าเดิม” ทำให้พี่ชายเดินเข้าสู่สภาอีกรอบ

ครั้งนี้น่าจับตาว่าจะงัดยุทธวิธีอะไรที่จะครองใจคนทั้งจังหวัดตรัง และฝ่าด่านหิน “บุ่นเล้ง” ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นแห่งนี้

ด้าน “ภูผา ทองนอก” ผู้สมัครในนาม “ตรังก้าวใหม่” จะต้องทำงานหนักมากไม่แพ้กัน เพื่อฝ่าด่าน “บุ่นเล้ง” และ “สาธร” เข้าเส้นชัย

สนามเลือกตั้ง อบจ.ตรังครั้งนี้ จึงเป็นศึกสายเลือดในประชาธิปัตย์โดยแท้!?!

อีกสนามที่น่าจับตาไม่แพ้กันคือ นายก อบจ.เชียงใหม่ ที่มีผู้สมัคร 6 คน ดังนี้ หมายเลข 1 “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” หรือ ส.ว.ก๊อง อดีต ส.ว.เชียงใหม่ กลุ่มเพื่อไทยเชียงใหม่ หมายเลข 2 “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” อดีตนายก อบจ. 2 สมัย กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม หมายเลข 3 “วินิจ จินใจ” สมาชิกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่ หมายเลข 4 “บดินทร์ กินาวงค์” หรือลุงติ่ง อดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กลุ่มประชารัฐเชียงใหม่ หมายเลข 5 “วสันต์ วัชวงษ์” อดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคความหวังใหม่ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 6 “เฉลิมศักดิ์ สุรนันท์” อดีตเลขานุการนายก อบจ.เชียงใหม่ ผู้สมัครอิสระ

ทำให้สนามเลือกตั้งเชียงใหม่ครั้งนี้คึกคัก มีสีสัน การคาดหมายว่าใครจะเข้าป้าย มีรสชาติเป็นพิเศษ

เริ่มจาก “บุญเลิศ” แชมป์เก่า 2 สมัย เคยสวมเสื้อในนาม “เพื่อไทยคุณธรรม” ที่มี “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” หรือเจ๊แดง แกนนำกลุ่มวังบัวบาน น้องสาว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีสนับสนุน

ผลเลือกตั้งปี 2555 กวาดคะแนนสูงถึง 402,484 คะแนน เป็นอันดับ 1 ทิ้งห่าง “ถาวร เกียรติไชยากร” อดีต ส.ว.เชียงใหม่ น้องชาย “สุรพล เกียรติไชยากร” อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ไม่เห็นฝุ่น

ว่ากันว่า “บุญเลิศ” เข้าป้ายแบบไร้กังวล เพราะมี “ปกรณ์ บูรณุปกรณ์” อดีต ส.ส.เชียงใหม่ น้องชาย เป็นแม่ทัพคุมบังเหียน กวาดชัยชนะแบบถล่มทลาย

การเลือกตั้งครั้งนี้ของ “บุญเลิศ” ลงในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ที่ก่อตั้งโดย “ปกรณ์” มากว่า 20 ปี

ก่อนหน้านี้มีคำสั่ง คสช. ให้ “บุญเลิศ” หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเมื่อปี 2557 ก่อนคืนเก้าอี้ให้ดังเดิมในปี 2561 พร้อมกับกระแสข่าว “บุญเลิศ” ต้องปรับแนวการเมือง เหตุผลความจำเป็นในด้านคดีความ

ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับ “นายใหญ่-เจ๊แดง” สะดุดทันที!

ขณะที่ “ชูชัย” ชื่อเดิม “พิชัย” หรือ ส.ว.ก๊อง ประกาศตัวลงสมัครนายก อบจ.ตั้งแต่ปี 2557 หรือ 6 ปีที่ผ่านมา โดยลงพื้นที่หาเสียงเป็นระยะ ก่อนถูกทาบทามจาก “เจ๊แดง” ลงชิงตำแหน่งกับ “บุญเลิศ” อดีตคนคุ้นหน้า ในนามเพื่อไทยแทน

แต่ชื่อบุญเลิศก็ยังไม่ธรรมดา “ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เขต 1 เป็นหลาน “บุญเลิศ” ส.ส.เพื่อไทย หลายพื้นที่มีความสนิทสนมแน่นแฟ้นมายาวนาน ทั้ง เขต 4 “วิทยา ทรงคำ” เขต 5 “ประสิทธิ์ วุฒินันชัย” เขต 9 “ศรีเรศ โกฎคำลือ”

ย้อนดูฐานเสียงของ “พิชัย” สมัยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.เชียงใหม่เมื่อปี 2551 หรือ 12 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า “พิชัย” ไดัรับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ได้เสียงสนับสนุน 171,090 คะแนน เทียบกับฐานเสียง “บุญเลิศ” ถือว่ายังตามห่าง

ทว่า “ทีเด็ด” ที่ “พิชัย” จะงัดมาใช้ครั้งนี้ คือ แบรนด์ “เพื่อไทย” ที่ทำให้ต้องนึกถึง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”

บวกกับฐานเสียงกลุ่มสตรี แม่บ้าน ผู้สูงอายุ คนเสื้อแดง พลังมวลชน และฝ่ายประชาธิปไตย ที่ยังเหนียวแน่นและยืนเคียงข้าง

อาจเป็น “ไพ่ใบสำคัญ” ทำให้ “พิชัย” คว้าเก้าอี้นั่งเป็นนายก อบจ.สมัยแรกได้เช่นกัน!

ผู้สมัครนายก อบจ.อีก 4 ราย หมายเลข 3 “วินิจ” สมาชิก ก.ก. อดีตเคยเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้ตั้งกลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่ ลงสมัคร

ชูนโยบาย “อินทนนท์โมเดล” เป็นพิมพ์เขียว การมีส่วนร่วมประชาชน เพื่อการปฏิรูปด้านการเมืองและการบริหารราชแผ่นดิน

“วินิจ” ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ยึดอุดมการณ์ของ อนค. ก่อนมาสู่ ก.ก. ซึ่งต้องอาศัยฐานคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง ส.ส.9 เขต ที่ผ่านมาของพรรคสีส้มเป็นหลัก

หมายเลข 4 “ลุงติ่ง-บดินทร์” ในนามกลุ่มประชารัฐเชียงใหม่ ชูนโยบายพัฒนาแหล่งน้ำ โครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพชีวิต การลงสมัครทำในนามส่วนตัวไม่เกี่ยว “พปชร.”

พร้อมปฏิเสธว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า

พปชร. และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดูแลพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ไม่ได้สนับสนุนหรือช่วยหาเสียงแต่อย่างใด

โอกาส “ลุงติ่ง-บดินทร์” ยังต้องดูกันต่อไป

ส่วนหมายเลข 5 “วสันต์” ผู้สมัครอิสระ คราวนี้เจอศึกหนัก หมายเลข 6 “เฉลิมศักดิ์” หรือพี่ติ๊ก อดีตเลขานุการนายก อบจ.เชียงใหม่ สมัยบุญเลิศเป็นนายก อบจ.สมัยที่ 2 มีบุคลิกขรึม พูดน้อย น้ำหนักในการแข่งขันยังห่าง เว้นแต่จะเกิดสถานการณ์พิเศษ

วิเคราะห์แล้ว คอการเมืองเชียงใหม่ ส่องกล้องมอง 2 ค่ายใหญ่ คือ “บุญเลิศ” แชมป์เก่า กับ “พิชัย” ผู้ท้าชิง

แพ้ไม่ได้ทั้งคู่ หาก “บุญเลิศ” ชนะ กลับมาเป็นนายกสมัย 3 ย่อมส่งผลกระเทือนใหญ่หลวง

แต่หาก “พิชัย” ชนะ อาจหมายถึงการกู้ศักดิ์ศรี และเพื่อไทยได้เครดิตกลับมา

ศึกเชียงใหม่ มีศักดิ์ศรีที่ไม่อาจตีราคา เป็นเดิมพัน!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image