แหล่งน้ำขนาดเล็กที่ต้องซ่อม โอนและเชื่อมถึงกัน โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

แหล่งน้ำขนาดเล็กที่ต้องซ่อม โอนและเชื่อมถึงกัน โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้เผยแพร่ บทความเรื่อง แหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่ต้องซ่อม โอน และเชื่อมถึงกัน โดยระบุว่า

“เฉพาะอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่กรมชลประทานกรมเดียวได้ถ่ายโอนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไปตั้งแต่ พ.ศ.2546 ถึง 2561 หรือใน 15 ปีที่ผ่านมาก็มีถึง 3 พันอ่างแล้วครับ
ถ้านับ ฝาย ที่กรมชลประทานสร้างและถ่ายโอนให้อบต.ต่างๆ ในช่วง15ปี ก็มีอีก 4,324 ฝาย
มีประตูระบายน้ำ ทำนบดิน สระเก็บน้ำและอะไรทำนองเดียวกันอีก 2,078 แห่งที่ถ่ายโอนให้อบต. เทศบาลแล้ว
มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ถ่ายโอนออกไปแล้วอีก 2,400 แห่ง
แปลว่ามีโครงการชลประทานขนาดเล็กรวมๆกันจากกรมชลประทานกรมเดียวที่ถูกถ่ายโอนออกไปให้ท้องถิ่นแล้ว 11,846 แห่ง ใน15ปี
นี่ยังไม่นับที่ถ่ายโอนไปอีกหลังปี2561จนถึงปัจจุบันคือ2563นะครับ
ทิศทางนี้ทำถูกต้องแล้วครับ
ลองคิดดูว่าถ้าทั้งหมดนี้ยังคงต้องบริหารโดยกรมเดียว งานจะคับคั่งขนาดไหน ทั้งการคัดเลือกสับเปลี่ยนเวียนและแทนเจ้าหน้าที่ประจำของแต่ละจุด การรักษาและซ่อมบำรุง การเก็บเอกสารบัญชีควบคุม
ถูกล่ะครับ ว่ากรมเป็นหน่วยราชการ ย่อมสามารถมีสำนักงานย่อยๆและผู้บริหารตามโครงสร้างตามลำดับชั้นลงไปที่จะกำกับรับผิดชอบไปจนถึงทุกจุดที่ว่าข้างต้น
แต่ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บริหารจะสามารถรู้จักลึกๆและสามารถไปถึงจุดปลายทางของโครงการได้บ่อยๆ เพราะแต่ละจุดที่สร้าง ที่ทำขึ้นนั้นมีฤดูกาลของมัน มีช่วงการรับมือน้ำมาก น้ำน้อย มีอุปกรณ์ชำรุดทรุดเสื่อมลงตามเหตุและปัจจัยเสมอ และหลายโครงการก็อยู่ไกลปืนเที่ยงน่าดู
ดังนั้นการถ่ายโอนออกไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่นที่สิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นอยู่ใกล้ และชุมชนคนแถวนั้นเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากการจัดการแหล่งน้ำเหล่านั้นจึงถูกต้องแล้ว
แต่เมื่อคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรทางบก ซึ่งมีพลเอกจีระศักดิ์ ชมประสพเป็นประธานได้ไปรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษา ติดตาม สำหรับนำมาเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศในช่วง1ปีที่ผ่านมา
คณะอนุกรรมาธิการพบว่า โครงการชลประทานที่ถ่ายโอนออกไปข้างต้นนั้น สิ่งที่เรียกว่า อ่างเก็บน้ำจำนวน 3,044แห่งนั้น ใช้งานได้ 2,038แห่ง
ที่เหลืออีก 1,006 อ่างไม่ได้ถูกเรียกว่า “ใช้งานได้”
ฝายที่เรียกว่าใช้งานได้ มี2,758ฝาย อีก1,566 ฝายชำรุดเสียหาย
ประตูน้ำ ทำนบดิน และสระเก็บที่ใช้งานได้มี1,374แห่ง ส่วนอีก 704แห่ง ชำรุดเสียหาย
สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ยังใช้งานได้มี1,622แห่ง ส่วนอีก778แห่งชำรุด
ไม่มีใครผิดหรอกครับ


น้ำมีพลัง ดินมีการทรุด โลหะมีการกร่อนสึก และการซ่อมบำรุงสิ่งต่างๆที่สร้างขึ้นต้องอาศัยความรู้พอประมาณ ไม่ใช่ท่อไอเสียหรือปะยางสตีมที่จะแวะอาเฮียตามร้านห้องแถวให้จัดการได้ง่ายๆ
แต่ในเมื่อโอนถ่ายไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วในช่วง15ปีที่ผ่านมา
กรมชลประทานจะขอตั้งงบประมาณไปตามซ่อมให้อีกก็ไม่ได้ตามกติกาปกติ
ความชำรุดเสียหายต่อโครงการชลประทานขนาดเล็กๆเหล่านี้ ถ้ามองทีละชิ้นอาจดูเล็กในสายตาระดับประเทศ แต่ในสายตาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กอย่าง อบต. ซึ่งมักจะมีรายได้ท้องถิ่นน้อย ก็ย่อมจะมองค่าซ่อมแซมเป็นเรื่องใหญ่ แถมความรู้ทางเทคนิคก็อาจจะไม่พอเพียง หาผู้รับจ้างที่รอบรู้ไม่สะดวก
และถ้าแยกจัดการ ค่าบริหารการจ้างซ่อมก็อาจจะสูงกว่ารวมจัดการได้เช่นกัน
แม้แต่การยื่นขอรับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน บางอบต.ก็ทำไม่คล่อง และยื่นแล้วก็ไม่สามารถไปตามถึงสำนักงบประมาณเพราะไม่รู้จักคน ไม่คุ้นเคยระเบียบ ไม่คุ้นเคยกับตารางประเพณีปฏิทินงบประมาณ
ดังนั้นการหาทางช่วยให้โครงการที่รับถ่ายโอนและเกิดปัญหาทำนองนี้มีทางออกจึงสำคัญ
เพราะหากยังใช้งานไม่ได้ ก็น่าเสียดายมาก
น้ำทั้งนั้นที่ไม่ได้บริหาร และเงินทั้งนั้นที่เคยลงทุนกันไปแล้ว
ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอบต. หลายๆแห่ง
จะโอนคืนให้กรมเจ้าของเดิมได้หรือเปล่า หรือจะโอนให้ไปอยู่กับหน่วยอื่นใดช่วยรับไปจะได้หรือไม่
เช่นโอนให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่20ธันวาคม2563นี้ เพราะอบจ.มักมีศักยภาพสูงกว่า มีรายได้มากกว่า และสามารถผูกรวมหลายโครงการชลประทานย่อยๆเข้ามาร่วมบริหารจัดการได้สะดวกกว่า
นี่แค่โครงการด้านน้ำจากกรมชลประทานกรมเดียวนะครับ
เอาเข้าจริง ยังมีโครงการถ่ายโอนแหล่งน้ำจากกรมอื่นๆของราชการส่วนกลางกระจายอยู่กับกรมอื่นอีกเช่น แหล่งน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
จากสำนักงานสปก. กระทรวงเกษตรฯ
จากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรฯ
จากหน่วยงานในกองทัพบก เป็นต้น
แปลว่าถ้าจะลุยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยยังไม่พูดถึงพื้นที่ต้นน้ำอย่างพื้นที่ในกรมอุทยาน พื้นที่ในกรมป่าไม้
หรือพื้นที่เก็บน้ำเพื่อไม่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำโดยกรมประมง
พื้นที่น้ำไหลและเดินทางของกรมเจ้าท่า
พื้นที่แหล่งน้ำสาธารณะและแหล่งน้ำในที่ดินราชพัสดุ
เราก็ต้องช่วยให้สิ่งที่สร้างมาเพื่อจัดการน้ำที่ตอนนี้อยู่กับท้องถิ่น
ใช้งานได้ !


ที่เล่ามาถึงบรรทัดนี้ยังเป็นงานระดับช่าง งานบนกระดานและแผนที่ในสนามกับงานระเบียบบริหารทรัพย์สินระหว่างหน่วยงานของรัฐกันเองเท่านั้นนะครับ
ยังมีงานระดับบริหารบนกระดาษที่ต้องเสนอเข้าที่ประชุมตามกฏหมายทรัพยากรน้ำ 2561 ที่ต้องให้คณะกรรมการรายลุ่มน้ำ คณะกรรมการจังหวัด และคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มาร่วมรับรู้และพิจารณาเห็นชอบให้การซ่อมแซม การถ่ายโอนแหล่งน้ำและสถานีสูบน้ำตลอดจนประตูน้ำข้างต้นไปอยู่ในมือที่เหมาะสมให้ได้
และแม้ทำทั้งหมดข้างต้นสำเร็จแล้ว ก็ยังต้องคำนึงว่า ยังต้องให้เกิดการขุดเชื่อม ต่อท่อเชื่อม ขจัดสิ่งกีดขวางการรวมน้ำเข้าแหล่งน้ำ และบริหารการแจกจ่ายใช้น้ำให้เรียบร้อย และภาวนาให้ฝนฟ้าตกลงมาใกล้ระบบบริหารรายลุ่มน้ำ รายจังหวัดด้วย
นี่ยังไม่ได้พูดถึงการปรับปรุงให้เกิดระบบการใช้น้ำซ้ำด้วยนะครับ
ทีนี้เห็นมั้ยครับ ว่าน้ำเนี่ย ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ…
แม้มีเงิน มีกฏหมาย มีช่างเชี่ยวชาญประจำจุดแล้ว สิ่งที่สำคัญคือยังต้องมีนักบริหารจังหวะที่รู้จักธรรมชาติของน้ำด้วย
ยิ่งบางพื้นที่ไม่ใช่เพียงการบริหารแต่น้ำผิวดินกับน้ำจากฟ้าตามชุดบทความนี้เสียด้วย แต่ยังต้องรู้จังหวะกับการบริหารน้ำใต้ดิน และระบบน้ำขึ้นน้ำลง
และน้ำทะเลหนุน เพราะเป็นพื้นที่ที่เข้าใกล้อิทธิพลของชายฝั่ง
นี่ว่าเฉพาะปริมาณน้ำนะครับ ถ้าจะเอาคุณภาพน้ำไม่กร่อย น้ำไม่เสีย น้ำไม่เป็นกรด และน้ำไม่เคลื่อนไหวนานๆแล้วเน่าอีกด้วย
นี่แหละครับ ที่ทำให้คนรุ่นผมพอจะเข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำอะไรคิดอะไรมาต่อเนื่องตั้งแต่คนรุ่นผมยังไม่เกิด และทำไมจึงเป็นสิ่งที่เจ้านายของไทยจึงทรงติดตามเรื่องน้ำมากมายขนาดที่เป็นอยู่นี้”

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image