“ไอลอว์” ยัน ร่าง รธน.ฉบับประชาชน ชงยกเลิกยุทธศาสตร์20ปี-แผนปฏิรูปประเทศ

“ไอลอว์” ยัน ร่าง รธน.ฉบับประชาชน ชงยกเลิกยุทธศาสตร์20ปี-แผนปฏิรูปประเทศ

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.63 เพจเฟซบุ๊ก ไอลอว์ ได้เผยแพร่ บทความเรื่อง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ เตรียมบรรจุเพื่อพิจารณาโดยรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563″ ว่า เป็นร่างที่มีข้อเสนอครอบคลุมการแก้ปัญหาการเมืองที่มีอยู่รอบด้านมากที่สุด หนึ่งในนั้น คือ การเสนอให้ ยกเลิก “แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี” และ “แผนปฏิรูปประเทศ” ที่เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก ​แม้ชื่อของแผนการเหล่านี้จะฟังดูสวยหรู แต่เบื้องหลังทั้งผู้เขียน ผู้อนุมัติประกาศใช้ และผู้ตีความบังคับใช้ กลับเป็นองคาพยพของ คสช. ทั้งสิ้น

“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” หรือจะเรียกให้ถูกต้องคือ “ยุทธศาสตร์ คสช.” เป็นอีกหนึ่งประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สมควรถูกแก้ไขหรือยกเลิก แม้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตอกย้ำความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติว่า จะเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความต่อเนื่อง แต่เวลาไม่นานหลังการประกาศใช้ในปี 2561 ก็แสดงให้เห็นชัดว่ายุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ไม่สามารถป้องกันประเทศจากวิกฤติต่างๆ ได้

ยุทธศาสตร์ของ คสช. เป็นหนึ่งในเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. ทำให้ชนชั้นนำภาครัฐที่นำโดยกองทัพกับนายทุนผูกขาดสามารถมีบทบาทควบคุมการออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปถึง 20 ปี ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทหารและนายทุน ประธานคณะกรรมการก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเอง นอกจากนี้ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติเกือบทั้งหมดต่างเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช. ด้วยเหตุนี้ไม่ว่ารัฐบาลในอนาคตจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม แม้จะสามารถชนะเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่การออกนโยบายหรือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลนั้นจะอยู่ภายใต้แนวทางยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางเอาไว้

รัฐบาลสืบทอดอำนาจของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ เจ้าของยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น จึงยังเห็นชัดว่ายุทธศาสตร์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาล คสช. แต่ในทางกลับกันหากเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ คสช. ก็อาจถูกกลไกยุทธศาสตร์ล้มรัฐบาลได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ ส.ว. แต่งตั้งจาก คสช. มีอำนาจหน้าที่ติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่ากระทำของรัฐบาลขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด ก็ให้ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่มาชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องถูกปลดจากองค์กรซึ่งมีที่มาโยงใยจาก คสช. ทั้งหมด

Advertisement

แผนยุทธศาสตร์ที่เขียนขึ้นนั้นมีระยะใช้งาน 20 ปี คือตั้งแต่ปี 2561-2580 นับถึงปี 2563 แม้จะเพิ่งประกาศใช้ไม่นาน ก็สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการที่จะนำประเทศไทยไปเผชิญความท้าทายกับโลกอนาคต ดังจะเห็นได้จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นหลังยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่พบแนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่การยกระดับรายได้ของคนไทยให้เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปี ก็ดูจะสวนทางการสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกต่ำและเหลี่ยมล้ำมากยิ่งขึ้น ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. จะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยที่จะคอยเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ และเป็นเครื่องมือทางการเมืองของ คสช. เท่านั้น

แผนยุทธศาสตร์ ของ คสช. เป็นกลไกสำคัญที่กำหนดชะตาชีวิตของคนไทยถึง 20 ปี ซึ่งยาวนานจนแม้แต่คนร่างยุทธศาสตร์ชาติอาจจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่ตัวเองก่อไว้ ดังนั้น การจะมียุทธศาสตร์ชาติหรือไม่? เนื้อหาจะเป็นอย่างไร? จะใช้บังคับนานแค่ไหน? ประชาชนเจ้าของประเทศควรมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต ทั้งนี้ การร่างแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา ถูกจัดทำโดย คสช. ฝ่ายเดียว ตั้งแต่คนร่างก็เป็นคนที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น กระบวนพิจารณาเห็นชอบในขั้นต่างๆ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจาก คสช. และการรับฟังความคิดเห็นก็ทำกันอย่างเงียบๆ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่เห็น และดูจะเป็นการกระทำเชิงพิธีกรรมมากกว่า

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ถูกแต่งตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยแผนและการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ มีหน้าที่จัดทำแผนเพื่อปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ รวมทั้งทำงานอื่นๆ ตามที่รับมอบหมายจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

Advertisement

แผนปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน เมื่อร่างขึ้นเสร็จแล้วต้องให้คณธกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหา และส่งให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมเป็นผู้อนุมัติ เท่ากับว่า มีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนการเหล่านี้

และเมื่อจัดทำเสร็จแล้วและประกาศใช้แล้วมีความยาวกว่า 3,000 หน้า ครอบคลุมสารพัดเรื่องและลงรายละเอียดมากพอสมควร จนแทบไม่มีใครศึกษาและเข้าใจแผนการนี้ได้ทั้งหมด แต่กลับเป็นแผนการที่บังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องเดินตาม

นอกจากนี้คนของ คสช. ที่ไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ แม้จะทำแผนเสร็จแล้วยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ยังคงทำหน้าที่อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไปจนกระทั่งหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลใหม่ จนถึงปี 2565

ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศบางคนยังไปดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจในการติดตามกำกับรัฐบาล ทำให้กรรมการบางคนเป็นทั้งคนร่างแผน และคนกำกับติดตามรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน เช่น เสรี สุวรรณภานนท์, พรทิพย์ โรจนะสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น

แผนการปฏิรูปประเทศ จึงเป็นทั้งที่ทางให้พรรคพวกของ คสช. ได้ “มีงานทำ” และยังเป็นแผนที่กำหนดอนาคตโดยการ “คิดแทน” คนไทยทั้งประเทศ ข้อเสนอชุดนี้จึงต้องการยกเลิกกลไกนี้ทั้งหมด และเดินหน้าประเทศไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันเป็นแนวทางตามระบบที่ใช้มาตลอดหลายสิบปีอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image