วิเคราะห์ : ระทึก ญัตติ แก้ รธน. ระเบิด‘การเมือง’ ในอุ้งมือ‘บิ๊กตู่’

วันที่ 17-18 พฤศจิกายน รัฐสภามีวาระพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน เมื่อสมัยการประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้ว รัฐสภาเคยพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วครั้งหนึ่ง

จำนวนญัตติที่แก้ไขรัฐธรรมนูญครานั้นมี 6 ญัตติ

ญัตติที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทั้งญัตติของพรรคฝ่ายค้าน มีทั้งญัตติของพรรคฝ่ายรัฐบาล

Advertisement

หัวใจสำคัญของญัตติ คือ การแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 เพื่อให้สามารถเลือกตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

และเป็นญัตติที่แก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ส.ว. ให้ตัดอำนาจของ ส.ว. โดยเฉพาะการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป

ครานั้นเกิดเหตุการณ์ประหลาด เมื่อถึงที่สุดก่อนที่จะโหวตรับหรือไม่รับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ วิปฝ่ายรัฐบาลประกาศตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาญัตติต่างๆ ใหม่อีกครั้ง

Advertisement

และในการประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ รัฐสภาจะพิจารณาผลการศึกษา และมีวาระโหวตญัตติดังกล่าว

ด้วยใจระทึกว่ารัฐสภาจะเห็นชอบวาระ 1 แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

การลงมติรับหรือไม่รับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้เกิดกระแสสับสนมาเป็นระยะ ตั้งแต่เริ่มต้นมีการยื่นกระทั่งมาถึงบัดนี้

หากย้อนกลับเมื่อถึงวันเวลาที่มีการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่าเกิดขึ้นจากการเร่งเร้าของม็อบราษฎรที่ชุมนุมและมีข้อเรียกร้อง รัฐสภาในฐานะที่เป็นตัวแทนประชาชนจึงแสดงบทบาทรับเงื่อนไขในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน รวมไปถึงรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีทีท่าสนับสนุนให้มีการแก้ไข

แต่เมื่อถึงเวลาที่จะโหวต กลับเกิดการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา จึงถูกตีความว่า “ถ่วงเวลา”

หลังจากนั้น รัฐสภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกในเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง โดย พล.อ.ประยุทธ์แถลงต่อรัฐสภาตอนหนึ่งยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จ 3 วาระในเดือนธันวาคมนี้

แต่ปรากฏว่า หลังจากการประชุมรัฐสภาผ่านพ้นไป ท่าทีของฝ่ายรัฐสภากลับสวนทาง

เมื่อสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแสดงความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติก่อนดำเนินการ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเอาไว้

หลังจากเกิดกระแส โดยสมาชิกวุฒิสภาล่ารายชื่อเพื่อเสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่

ญัตติดังกล่าวมีสมาชิกจากพรรคพลังประชารัฐร่วมลงชื่อด้วย 25 คน

ในจำนวน 25 คน มี 21 คน เคยลงชื่อสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และวุฒิสภา ล้วนเป็นกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

เมื่อนายกฯพูดอย่างหนึ่ง แต่สมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กลับกระทำสวนทาง

ความสับสนในทิศทางของรัฐบาลจึงเกิดขึ้น

น่าสังเกตว่า อาการของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมักปรากฏขึ้นหลังจากฝ่ายความมั่นคงประเมินว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องอ่อนแรงลง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน ฝ่ายความมั่นคงเคยประเมินมาครึ่งหนึ่งว่า ม็อบแผ่ว

หลังจากนั้นอาการกระตือรือร้นของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็แผ่วตาม

ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะช่วยผ่อนคลายความร้อนแรงของสถานการณ์ กลายเป็นการเร่งเร้าสถานการณ์ให้ร้อนขึ้น

อาการของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไปรวมตัวกันที่รัฐสภาในวันที่ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการพิสูจน์ได้ถึงอุณหภูมิกลุ่มผู้ชุมนุมในวันนั้น

ยืนยันอีกหลายครั้งด้วยจำนวนผู้ชุมนุมที่มีมาก สวนทางกลับผลวิเคราะห์ว่า ม็อบแผ่ว

มาครั้งนี้ หลังจากกลุ่มราษฎรได้ชุมนุมกันเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน วันต่อมา สภาความมั่นคงแห่งชาติประเมินกำลังของม็อบอีกครั้ง

และรายงานที่เสนอต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีนั้น ยังเป็นเหมือนเดิม

นั่นคือ ม็อบแผ่ว

ทำให้หลายคนเริ่มจับจ้องผลการประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความร้อนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากกลุ่ม ส.ว.และ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐยื่นญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ บรรเทาลงไป หลังจากนายชวนยืนยันว่า รัฐสภาจะพิจารณาและโหวตญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน

ส่วนญัตติเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะบรรจุหลังวันที่ 18 พฤศจิกายน

ทำให้ความสับสนในเจตนาของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญน้อยลงไป

ทุกสายตาจึงจ้องจับอยู่ที่ผลการประชุมรัฐสภาในวาระโหวตญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

ผลการลงมติย่อมเกี่ยวพันกับการชุมนุมของกลุ่มราษฎร

ดูเหมือนว่าแนวร่วมที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมาก แต่อุปสรรคการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปติดอยู่ที่ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกวุฒิสภา

ขณะที่วุฒิสภาทั้ง 250 คน มาจากการกลั่นกรองจาก คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า

และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐก็เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ดังนั้น ผลการลงมติของรัฐสภา แม้จะเป็นเรื่องของรัฐสภาแต่ก็เกี่ยวพันกับ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่เดิมเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพของ คสช.ในการสืบทอดอำนาจ

รัฐธรรมนูญฉบับที่ได้รับฉายา “ดีไซน์มาเพื่อเรา” กำลังพ่นพิษใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

เป็น “ระเบิดการเมือง” ลูกสำคัญที่อยู่ในอุ้งมือ พล.อ.ประยุทธ์

การอ่านโจทย์ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลสมควรจะรอบคอบ

ต้องตีโจทย์ให้แตก

อย่าให้รัฐธรรมนูญที่เคยเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพของรัฐบาล กลายมาเป็น “ระเบิดการเมือง” ที่แตกตัวและทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในสังคม

รวมทั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image