‘คำนูณ’ ยันโหวตเห็นชอบแก้ 256 ตั้ง ส.ส.ร.- ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ แต่ไม่ปลงใจรับร่างไอลอว์ได้

‘คำนูณ’ ยัน โหวตเห็นชอบแก้ 256 ตั้ง ส.ส.ร.- ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ แต่ไม่ปลงใจรับร่างไอลอว์ได้

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ว่า จุดยืนของตนที่แน่นอนคือเห็นชอบกับร่างที่ 1, 2 แก้มาตรา 256 และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และร่างที่ 4 คือการแก้รายประเด็นในการตัดอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือไอลอว์นั้น แตกต่างจาก 6 ร่าง เพราะเป็นการผสมแก้มาตรา 256 บวกตั้ง ส.ส.ร.และแก้รายประเด็น ตนเห็นว่าจะเป็นปัญหาในหลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งข้อเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ป.ว่าด้วยรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ โดย 2 ใน 7 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งผลในทางปฏิบัติเมื่อเลิกกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะเสมือนเป็นการนิรโทษผู้กระทำความผิดทันทีทั้งที่คดีเสร็จแล้วหรือกำลังต่อสู้คดี

นายคำนูณกล่าวต่อว่า รวมทั้งเมื่อยกเลิกอาจทำให้ประเทศตกอยู่ในสุญญากาศ ไม่มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายการตรวจเงินแผ่นดิน ประมาณ 5-6 เดือนเป็นอย่างต่ำ และในร่างของไอลอว์ถ้ามีผลบังคับใช้ จะยกเลิก ส.ว.ชุดปัจจุบันทันที และไปเลือกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ใช้เวลา 2-3 เดือน ระหว่างที่ไม่มี ส.ว.ชุดใหม่ รัฐสภาองค์ประกอบก็จะไม่ครบ การพิจารณาร่างกฎหมายทำไม่ได้ และเมื่อได้ ส.ว.ชุดใหม่เข้ามาต้องใช้เวลาทำกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายการตรวจเงินแผ่นดินไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน โดยสรุปบ้านเมืองก็จะไม่มีกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ 5-6 เดือน รวมทั้งยังมีประเด็นอื่นๆ ซึ่งตนเห็นว่าโดยหลักการถ้าเราให้มีการเพิ่มเติมหมวดใหม่ในรัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว หลักการรายละเอียดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองต่างๆ การเซ็ตซีโร่องค์กรต่างๆ ควรจะเกิดขึ้นหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการร่างจากส.ส.ร.และประกาศใช้

เมื่อถามว่า มีข้อเสนอว่าให้รับหลักการร่างไอลอว์ก่อน เพื่อลดกระแสความกดดัน นายคำนูณกล่าวว่า ยังมองไม่เห็นว่าจะลดความกดดันหรือเพิ่มความกดดันกันแน่ เพราะเราเห็นว่ากระบวนการที่รับหลักการเข้ามาแล้วจะไปแปรญัตติแก้ไขในวาระที่ 2 อาจจะเป็นปัญหา เมื่อรับหลักการร่างใดร่างหนึ่งเข้ามาก็เท่ากับว่าเรารับทั้งหมดของเขา รวมถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย การไปแก้ไขก็แก้ไขได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น มีคนบอกว่าเมื่อประชาชนเข้าชื่อก็ควรรับไว้ก่อน แล้วหาทางแก้ไข แต่สิ่งที่ตามมาไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะแก้ไขได้ อีกทั้งก็มีเสียงเรียกร้องว่าถ้ารับร่างไอลอว์แล้ว ต้องเอาร่างไอลอว์เป็นหลักในการพิจารณาและการพิจารณาก็จะไปปรับหลักการที่ร่างไอลอว์เสนอเข้ามาไม่ได้ ซึ่งมันเป็นประเด็นที่จะทำให้การพิจารณาในวาระที่ 2 เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ดังนั้นตนจึงไม่ปลงใจที่จะเห็นด้วยได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image