‘วงสามัญชน’ เผยสมาชิกโดนคดีรวด 3 คน ยันสู้ต่อ งง ตร.ติดกล้อง 2 ตัวส่องราษฎรบางมด

‘วงสามัญชน’ เผยสมาชิกโดนคดีรวด 3 คน ยันสู้ต่อ ร่วม ‘ภาคีศิลปิน’ งง ตร.ติดกล้อง 2 ตัวส่องราษฎรบางมด

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรม ‘เสวนาทางการเมือง อย่านิ่งดูดาย’ โดย กลุ่ม ‘มดปฏิวัติ’

บรรยากาศตั้งแต่ช่วงเวลา 17.00 น. เป็นต้นมา มีการผลัดเปลี่ยนขึ้นเสวนา โดยนักเรียน นักศึกษา และตัวแทนกลุ่มแรงงานในประเด็นต่างๆ อาทิ รัฐประหารกับสังคมไทย, ถ้าการเมืองดี และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นต้น จากนั้นเป็นการแสดงดนตรีโดยวง t_047 และวงสามัญชน

ในตอนหนึ่ง นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือ ‘แก้วใส’ นักร้อง และมือกีตาร์วงสามัญชน กล่าวว่า ตนเดินเข้ามาในงาน พบว่าตำรวจเยอะมาก อยากบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้ และอย่าซุ่มอยู่ข้างหลัง เพราะพวกเรากลัว ขอให้มานั่งฟังเพลงข้างหน้าดีกว่า ทราบว่าวันนี้มีการมาติดกล้อง 2 ตัวบริเวณจุดจัดกิจกรรม ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าจะติดทำไม ไม่มีใครมาก่ออาชญากรรม

จากนั้น ร้องเพลง ‘เราคือเพื่อนกัน’ และ ‘บทเพลงของสามัญชน’ โดยช่วงท้ายมีการร้องด้วยประโยคที่ว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคน ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ไหนๆ เราก็ต้องเจอการเมือง ไม่ว่าจะเรียนน้อยหริอเรียนสูงแค่ไหน จบออกไปก็เป็นแรงงาน ไม่ว่าจะแรงงานในบริษัท หรือแรงงานกลางแจ้ง บ้านเมืองทุกวันนี้ไม่มีใครเสกขึ้นเอง แต่มาจากการก่อสร้างของชนชั้นกรรมกรทั้งหลาย การต่อสู้ครั้งนี้ สมาชิกวงโดยคดีแล้ว 3 คน ขอให้คนอื่นอย่าโดนเหมือนพวกตน อย่างไรก็ตาม จะสู้ต่อ เพราะหากประเทศมีประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และประชาชนได้เลือก สว. ประเทศคงมีรัฐสวัสดิการที่ดี

ADVERTISMENT

“เด็กหลายคนไม่ได้เรียนจบแล้วอยากเป็นข้าราชการ แต่ก็ต้องเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ได้มีฐานะ พอต้องอยู้ในระบบห่วยๆ ทำให้เราเปลี่ยนจากคนเป็นหุ่นยนต์ทำตามคำสั่งนาย แต่หากประเทศมีรัฐสวัสดิการ ตั้งแต่เกิดยันตาย ก็ไม่ต้องกลัวว่าลูกต้องเกิดในรพ.ห่วย ลูกได้เรียนหนังสือ ป่วยก็ได้รับการรักษาอย่างเป็นธรรม แก้ไปก็มีบำนาญ” นายณัฐพงษ์กล่าว

จากนั้น ร้องเพลง ‘อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้’ ซึ่งมีเนื้อหาในประะเด็นรัฐสวัสดิการและเพลง ‘แตกต่างเหมือนกัน’ เนื้อหาสื่อถึงความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์

ในตอนท้าย นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงการร่วม ‘ภาคี
ศิลปินและคณะดนตรีเสรีแห่งประเทศไทย’ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการออกแถลงการณ์ เนื้อหาดังนี้

‘ด้วยวิกฤตการทางการเมืองอันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการสื่อสารและการทำความเข้าใจร่วม

เราเห็นเพื่อนพี่น้องกำลังโดนคุกคามมากขึ้นทุกวันจากการที่พวกเขาออกมาพยายามเปล่งเสียงของตัวเอง

จากกรณีที่มีการพยายามปิดกั้นสื่อมวลชนในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ‘เรา’ ในฐานะศิลปินผู้ผลิตงานศิลปะและคณะดนตรี มีความกังวลว่า วันนึงการคุกคามทางนิติรัฐและอำนาจอยุติธรรมเช่นนี้จะขยายวงกว้างขึ้น และสักวันนึงมันอาจจะมาเคาะประตูบ้านของ ‘เรา’ ในไม่ช้า

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเคลื่อนไหวของมวลชนที่เรียกร้องการปฏิรูปนั้นมีข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนหลักการสากล โดยมีมูลเหตุมาจากปัญหาทางโครงสร้างที่ควรได้รับการรื้อ ถกเถียง และแก้ไขอย่างเป็นวงกว้าง เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันในท้ายที่สุด

เราอยากเชิญชวนให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ได้ศึกษาและทำความเข้าใจที่มาที่ไปในมูลเหตุของข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและคณะราษฎรอย่างถี่ถ้วน อันได้แก่

1.ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ลาออก
2.รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
3.ปฏิรูปสถาบัน

เมื่อพิจารณาตามวิจารณญาณของท่านแล้ว เราขอให้มีการเกิดพื้นที่สำหรับการเปิดใจรับฟังและถกเถียงกันอย่างอารยะในข้อเรียกร้องที่ไม่อาจมองข้ามได้ในเวลานี้

สังคมที่มีความเคารพจุดยืนของทุกคนโดยการเปิดทางให้มวลชนมีเจตจำนงค์อย่างเสรี และขับดันให้เกิดภาวะและกติกาอันปกติวิสัยตามแนวคิดการเมืองแบบระบอบประชาธิปไตย ย่อมนำพามาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกภาคส่วน

รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการไว้ในมาตรา 34 ที่บัญญัติว่า “มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

บัญญัติกฎหมายข้อนี้ ควรครอบคลุมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกขั้นพื้นฐาน การเสนอความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ แต่จากการจับกุมนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว และความพยายามในการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามคือ ความมั่นคงของรัฐคืออะไร และการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงนั้นเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่หรือคนบางกลุ่มกันแน่

เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม นักศึกษา นักวิชาการ ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองในขอบเขตการแสดงออกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ยืนยันสิทธิมนุษยชนให้มีเสรีภาพในการพูดและออกความเห็นทางการเมืองโดยปลอดภัย
เราไม่สนับสนุนและขอประนามการใช้ความรุนแรงทุกชนิดต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง และขอต่อต้านการรัฐประหารไม่ว่าเงื่อนไขและบริบทของสถานการณ์การเมืองจะเป็นเช่นไร

เราทุกคนต้องอยู่ร่วมกันและค้ำจุนกันและกันในสังคมนี้ต่อไป

ด้วยความเคารพในเสรีภาพ และชีวิตของทุกคน’