เดินหน้าชน : ล้วง‘ส.ป.ก.’

หัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดสรรที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.ให้แก่เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ไม่มีที่ดินของตนเอง หรือเกษตรกรมีที่ดินไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทําประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม

ประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมล่าสุด ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา มีบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนัก

เพราะเป็นประกาศขยายขอบเขตผู้มีสิทธิจะได้รับจัดสรรเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูป นอกเหนือจากผู้เป็นเกษตรกร

แม้พอจะเข้าใจได้ ในเขตปฏิรูปที่จัดสรรให้เกษตรกรเมื่อนานวันเข้า ย่อมพัฒนาเป็นชุมชนทำให้มีความจำเป็นต้องมีกิจกรรมอื่นๆ รองรับความเจริญเติบโต แต่ประกาศดังกล่าวกำหนดเพิ่มไว้อย่างกว้างขวางหลายประเภท ตั้งแต่ปั๊มน้ำมัน โรงงานน้ำตาล โรงงานน้ำมันพืช โรงงานแปรรูปไม้ โรงฆ่าสัตว์ ตลาดสด ร้านค้าปลีก ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านตัดผม สถานีขนส่ง รวมไปถึงที่พักที่อาจตีความไปจนถึงรีสอร์ต โฮมสเตย์

Advertisement

จึงถูกตั้งคำถามว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ อาจเป็นการ
เปิดช่องให้กลุ่มทุนเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ส.ป.ก. เคยเป็นข่าวครึกโครมมาแล้วในอดีต

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ชี้แจงการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ว่า เพื่อแก้ปัญหาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) 72 จังหวัดทั่วประเทศ ที่เป็นผู้พิจารณาอนุญาตใช้ที่ดินตามคำขอของประชาชน มักมีดุลพินิจไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ก็อนุญาตเกินวัตถุประสงค์การใช้ที่ดิน ส.ป.ก.

Advertisement

ประกาศของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินฯ ก็เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การอนุมัติให้ชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และดึงอำนาจอนุมัติจากคปจ. กลับมายังคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินฯ ที่มี ร.อ.ธรรมนัสเป็นประธาน

ก็ยิ่งมีคำถามตามมาเช่นกัน

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด หรือ คปจ. เป็นคณะบุคคลประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีกรรมการได้แก่ เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ป่าไม้จังหวัด ประมงจังหวัด ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน สหกรณ์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด นายอําเภอ และปลัดอําเภอผู้เป็นหัวหน้าประจํากิ่งอําเภอในท้องที่ที่มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พัฒนาการจังหวัด ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ราชพัสดุจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนเกษตรกรในจังหวัดนั้นอีก 4 คน และผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ที่น่าจะรู้สภาพพื้นที่ดีกว่าใคร

การดึงอำนาจพิจารณาอนุมัติกลายมาเป็นของส่วนกลาง ถือว่าขัดต่อหลักการกระจายอำนาจหรือไม่

และในเมื่อไหนๆ จะปรับหลักเกณฑ์ให้รัดกุม ลดการใช้ดุลพินิจ เป็นมาตรฐานเดียวกัน เหตุใดไม่ให้ คปจ.
ทำหน้าที่ต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ให้ความมั่นใจจะไม่ปล่อยให้มีการทุจริตหรือฉวยโอกาส ยึดหลักประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร เป็นไปตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่ต้องการให้อุตสาหกรรมแปรรูปอยู่ใกล้แหล่งผลิต เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า

ดูเหมือนเป็นการมองภาพเพียงด้านบวก ที่ยังต้องถามหาหลักประกันสิ่งไม่พึงประสงค์ นอกเหนือเพียง “เราจะทำตามสัญญา”

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image