โหวตวันนี้บ่ายโมง 7 ญัตติร่างแก้ไขรธน. ไอลอว์แจงยิบ วุฒิหนุนรื้อรายมาตรา

โหวตวันนี้บ่ายโมง 7 ญัตติร่างแก้ไขรธน. ไอลอว์แจงยิบ วุฒิหนุนรื้อรายมาตรา สุรชัย ยินดีปิดสวิตช์ ส.ว. ‘พท.’ จวกรัฐบาลไม่จริงใจ

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7ญัตติของที่ประชุมร่วมรัฐสภายังถูกจับตามองว่าสุดท้ายแล้วผลการโหวตรับร่างจะออกมาแบบไหนโดยเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่หลายฝ่ายเกรงว่าหากไม่รับร่างจะยิ่งจุดชนวนการชุมนุมของม็อบราษฎรหรือไม่ ล่าสุดในการการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติ มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นายชวน กล่าวชี้แจงก่อนเข้าสู่วาระการประชุมว่า เข้าใจว่าวันนี้การจราจรมีปัญหา จึงทำให้การเดินทางเข้ามาทำหน้าที่ในสภา ยากลำบาก ดังนั้นจะรอเพื่อให้องค์ประชุมครบก่อน

ทั้งนี้ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ขอหารือว่า ที่ผ่านมามีการอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาแล้ว ดังนั้นเห็นว่าไม่ควรใช้เวลามากถึงขนาด 2 วัน การลงมติโดยการขานชื่อมีข้อกำหนดว่าต้องใช้เสียง ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา จึงขอเสนอว่า เวลาลงมติขอให้ ส.ว.ลงก่อน เพราะสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ก็อยู่ที่ ส.ว. 84 คน แล้วจะขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 ชื่อทั้งสภาทำไม หาก ส.ว.ลงมติ 84 เสียง ก็รู้ผลแล้วว่าร่างใดจะผ่านหรือไม่ผ่าน

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ขอหารือว่า ขอให้รัฐสภาจัดเครื่องขยายเสียงเพื่อถ่ายทอดการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอกรัฐสภา รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้ร่วมชุมนุม

ขณะที่นายชวนกล่าวว่า ขอให้ดำเนินการตามปกติ ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมสามารถดำเนินการรับฟังได้ด้วยตนเอง หากให้รัฐสภาดำเนินการจัดเครื่องพิเศษอาจไม่พร้อม อย่างไรก็ตาม รัฐสภาไม่กีดกันฝ่ายใด แต่ขอให้ชุมนุมอย่างสงบ

Advertisement
  • วิป 2 ฝ่ายยันลงมติเย็น 18 พ.ย.

จากนั้นนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ขอให้สมาชิกเร่งพิจารณา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน จะยุติในเวลา 24.00 น. และอภิปรายต่อในวันที่ 18 พฤศจิกายน จนกระทั่งเวลา 13.00 น. เริ่มลงมติ และน่าจะจบได้ไม่เกินเวลา 18.00 น.

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เวลาของรัฐบาลจะใช้เวลา 4 ชั่วโมง รวมกับรายงานผลการศึกาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ ส่วนของ ส.ว.ได้เวลา 5 ชั่วโมง และการนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ตัวแทนผู้เสนอได้เวลา 30 นาที ทั้งหมดจะพยายามพูดให้อยู่ในเวลาร่วมกัน

  • สุรชัยยินดีปิดสวิตช์ ส.ว.

จากนั้นเข้าสู่วาระการประชุม โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธาน กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ ที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว รายงานผลการศึกษา

Advertisement

ต่อมานายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายว่า ยังมีความไม่ชัดเจนในอำนาจของรัฐสภาว่ามีอำนาจเพียงแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปัญหาต่างๆ สมควรจะต้องบัญญัติให้ชัดเจน ถ้าที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อนาคตจะได้ไม่ต้องมา

ถกเถียงอีก และถ้าคำตอบของกมธ.ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างชัดได้ มีความจำเป็นที่ต้องโหวตให้ความเห็นชอบสำหรับการแก้ไขรายมาตรา และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าในฐานะที่เป็น ส.ว.คนหนึ่ง ยินดีให้ความเห็นชอบการเสนอแก้ไขรายมาตรา ญัตติที่ 3 ถึงญัตติที่ 6 ที่พรรคฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ โดยเฉพาะมาตรา 272 ที่เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภา ที่มีส่วนให้ความเห็นชอบ

  • นายกฯ หรือที่เคยพูดว่าปิดสวิตช์ ส.ว.

“ผมยินดีที่จะปิดสวิตช์ตัวเอง และผมประเมินผลมาโดยตลอด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 60 ประกาศใช้ เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการบัญญัติให้มีมาตรา 272 ที่มาจากประชามติผ่านคำถามพ่วง เพื่อให้มีการต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศในช่วงบทเฉพาะกาล 5 ปี ดังนั้นถ้าที่ประชุมเห็นว่าบทบัญญัติตรงนี้ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูป ผมยินดีที่จะสละอำนาจส่วนตัวของผม ยินดี และยืนยันไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”นายสุรชัยกล่าว

  • พท.จวกรัฐบาลไม่จริงใจ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นคร ราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า ผิดหวังต่อรายงานของ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ เพราะเข้าใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกประเทศ แต่เมื่อดูสาระสำคัญแล้วปรากฏว่าไม่มี และไม่ได้ชี้ให้เห็นผลการพิจารณาว่าจะไปทิศทางใด เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้ตัดสินใจ รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะทุกฝ่ายเห็นควรแก้ไขแต่ท่านกลับเตะถ่วง เป็นการเล่นละครตบตาพี่น้องประชาชนย้อนแย้งตัวเอง เพราะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พวกเดียวกันกลับยื่นร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอา นอกจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความจริงว่าอยากอยู่ยาว เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่อยากแก้ไข กมธ.ชี้รัฐสภาเคาะแก้ทั้งฉบับ

ต่อมานายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นคร ศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธาน กมธ. ชี้แจงว่า การแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น ตามความเห็นทางวิชาการ ของนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าสามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาก่อน เหมือนกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีข้อเสนอต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่การออกเสียงประชามตินั้น กมธ.เห็นว่าตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ นั้นกำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ทำหลังจากรัฐสภาลงมติผ่านวาระสามแล้ว

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.ชี้แจงว่า เหตุผลที่ กมธ.ไม่สรุปความเห็นเป็นทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นการทำงานที่ลำบาก เนื่องจากมีบางฝ่ายไม่เข้าร่วม ขณะที่มีความเห็นที่แตกต่างกันของ ส.ว. ดังนั้นการทำงานต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนไทยและประเทศ ทั้งนี้ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พบว่าสร้างความแตกแยก แบ่งฝ่ายและต่อสู้กันของคนในสังคมไทย ส่วนกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภา เข้าชื่อเพื่อยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของสมาชิกรัฐสภาถือเป็นความหวังดี

  • สมชายหนุนแก้รายมาตรา

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะ กมธ. กล่าวชี้แจงรายงานผลการศึกษาของคณะ กมธ.ว่า ไม่ได้เป็นการบันทึกการอภิปราย แต่เป็นการบันทึกความเห็นที่มีการศึกษามาแล้ว และหากหวังจะให้ ส.ว.ร่วมลงมติด้วย ขณะนี้มีเพียง 11 เสียงเท่านั้น ไม่ถึง 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด แต่ส่วนตัวจะร่วมรับหลักการญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 ญัตติ คือเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้งกลับมาใช้บัตร 2 ใบ และการตัดอำนาจ ส.ว.ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ พร้อมย้ำว่าจะสนับสนุนเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

  • โรมจี้รับร่างฉบับประชาชน

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า มีความหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การผ่อนคลายสถานการณ์ แม้จะไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยรัฐสภาควรได้ทำหน้าที่เพื่อให้มั่นใจว่าสังคมไทยจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่สร้างความเกลียดชัง เพื่อไปถึงจุดนั้นรัฐสภาต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับด้วยหลักการ 3 ข้อ 1.สมาชิกรัฐสภาต้องไม่เติมฟืนเข้ากองไฟ ผ่านการใส่ร้ายร่างรัฐธรรมนูญ หรือประวิงเวลาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า หรือดึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมาตรวจสอบ

2.ต้องยอมรับว่าลำพังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาล ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.กว่าจะบรรลุเป้าหมาย ต้องใช้เวลายาวนาน กว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่สร้างปัญหาต่อไปเรื่อยๆ จนครบวาระ ดังนั้นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องแก้ไขรายมาตรา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น อำนาจการโหวตเลือกนายกฯของ ส.ว. และ 3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะต้องถูกให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะคือพลังของประชาชน ที่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นอย่าทำลายความหวังของประชาชน และเมื่อเราผ่านหลักการ 3 ข้อนี้ได้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นทันทีคือการเปิดพื้นที่พูดคุยกันอย่างมีสติบนเนื้อหาและข้อเท็จจริง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ชี้แจงว่า เมื่อไม่มีสมาชิกอภิปราย และ กมธ.ได้ชี้แจงแล้ว เป็นอันว่าที่ประชุมรับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว

  • จอนแจงหลักการร่างไอลอว์

จากนั้น 15.30 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 98,041 คน เข้าชื่อเสนอร่วมกับโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ โดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ผู้แทนภาคประชาชน ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ชี้แจงหลักการต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่ของไอลอว์ แต่เป็นของประชาชน 1 แสนคนที่ร่วมลงชื่อภายในเวลา 1 เดือน ได้รับรอง 98,824 ชื่อ เหตุที่ประชาชนจำนวนมากกระตือรือร้นที่จะลงชื่อก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะประชาชนอยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบเพื่อให้ คสช.ยังคงอำนาจอยู่ แม้หลังจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม เห็นได้ชัดว่าผู้นำ คสช.เป็นรัฐมนตรีหลายคน แม้รัฐธรรมนูญนี้เขียนไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่เป็นเรื่องโกหก ถือเป็นโมฆะ เพราะความจริงไม่ใช่ ประชาชนมีสิทธิแค่เลือกผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีโอกาสกำหนดว่าใครจะมาตั้งรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกฯ เพราะมีองค์ประกอบส่วนอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชนเข้ามาเป็นตัวกำหนด

  • ชู 5 ความฝันแก้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ในฐานะผู้แทนริเริ่มเสนอกฎหมาย ชี้แจงหลักการตอนหนึ่งว่า ได้นำความฝันไปนำเสนอสู่สาธารณะก็มีคนที่เห็นด้วยและมาช่วยกันเข้าชื่อถึง 100,732 คน ภายในเวลาเพียง 43 วัน สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัว และความต้องการของสังคมที่แพร่กระจายไปทั่วในปัจจุบัน ความฝันของพวกเรามี 5 ข้อ 1.ฝันว่าจะมีการปกครองที่ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างน้อยด้วยการเลือกทางอ้อมผ่านสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชนทุกคน 2.ฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่รัฐบาลโปร่งใส และถูกตรวจสอบได้ โดยมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องมีที่มาเป็นอิสระจากคนที่ใช้อำนาจตรวจสอบ

3.ฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเอง โดยผู้สมัครเลือกตั้งต้องแถลงนโยบายว่า จะพาประเทศไปทางไหน และประชาชนมีสิทธิเปลี่ยนใจได้ทุกๆ อย่างน้อย 4 ปี 4.ฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่ระบบยุติธรรมเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการยกเว้นความผิดให้กับใคร ไม่ว่าจะมีอำนาจหรือใหญ่โตมาจากไหน และ 5.ฝันว่าจะอยู่ในกติกาสูงสุดที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขียนขึ้นโดยประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วม อย่างน้อยการยกร่างต้องมีที่ทางจากประชาชนทุกคน ภายใต้บรรยากาศที่ปลอดภัย เปิดกว้างให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมกระบวนการนี้

  • ขอรัฐสภารับหลักการร่างไอลอว์

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องดำเนินการโดย ส.ส.ร.ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อป้องกันการซ่อนเร้นการสืบทอดอำนาจอยู่ตามกลไกต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่อึดอัดจนต้องลงบนถนนมาพูดคุยกันในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ได้กติกาใหม่ที่อยู่ร่วมกันได้และเป็นกติกาที่ใช้กันยาวนาน สิ่งเหล่านี้ที่นำมาเสนอต่อรัฐสภา เป็นข้อเสนอธรรมดา พื้นฐานมากๆ เป็นข้อเรียกร้องที่อยากจะขอแก้ไขระบอบการเมืองการปกครองที่ผิดปกติอยู่ในปัจจุบัน ให้กลับเป็นปกติเท่านั้น

หากรัฐสภาลงมติรับหลักการก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาประชาธิปไตยและทำให้ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนถนนได้มีพื้นที่พูดคุยอย่างมีเหตุผล แต่หากรัฐสภาไม่รับไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป สมาชิกรัฐสภาจะต้องอธิบายต่อประชาชนนับแสนคน และเจ้าของอำนาจอีกหลายล้านคนที่กำลังติดตาม และกำลังรอฟังคำอธิบายอยู่เช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image