“ไอลอว์” สะอื้น ที่ประชุมรัฐสภาคว่ำร่างประชาชน ปลอบอย่าเสียใจ ขอให้ภูมิใจในสิ่งที่ทำ

“ไอลอว์” สะอื้น ที่ประชุมรัฐสภาคว่ำร่างประชาชน ปลอบอย่าเสียใจ ขอให้ภูมิใจในสิ่งที่ทำ ประตูเปิดขึ้นแล้วต้องเดินหน้าต่อไป

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. เวลา 18.15 น. ที่รัฐสภา นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังสมาชิกรัฐสภาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เรามีโอกาสได้มานำเสนอแล้วว่าเราอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทิศทางไหน เพราะเหตุอะไร เราทำไปเพื่อสิ่งใด เราได้ฟังอภิปรายตลอดสองวันเต็มจากสมาชิกรัฐสภาทั้งส.ว.และส.ส. ซึ่งก็ปรากฏชัดแล้วว่ามันไม่ใครให้เหตุผลได้ว่ามีหลักการใดที่ประชาชนนำเสนอแล้วท่านเห็นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหลักการนายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชน ต้องไม่มีส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมาเลือกนายกฯ ต้องไม่มีนายกคนนอก องค์กรอิสระต้องเป็นอิสระไม่ใช่มาจากการคัดเลือกของคนที่มีอำนาจบริหารประเทศ การนิรโทษกรรมแบบนี้ไม่ถูกต้อง ต้องยกเลิกออกจากรัฐธรรมนูญ หลักการเหล่านี้ตลอดสองวันที่ผ่านมาไม่มีสมาชิกท่านใดเลยที่จะอภิปรายเห็นว่ามันควรจะเป็นอย่างอื่นนอกจากสิ่งที่เราเสนอไป แต่ตลอดการอภิปรายที่ผ่านมาเราก็เห็นว่ามีการพยายามเบี่ยงประเด็นไปพูดถึงปัญหาทางเทคนิค นิติวิธี หรือพูดถึงตัวผู้ที่ริเริ่มเสนอกฎหมาย องค์กรพยายามรวบรวมรายชื่อบ้าง แต่พูดถึงการลงมติซึ่งเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาไม่ใช่อำนาจของประชาชน ประชาชนมีอำนาจในการเข้าชื่อและนำมาเสนอเท่านั้น ซึ่งเราได้ทำหน้าที่ของเราเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ส่วนการลงมติเป็นเรื่องของรัฐสภาที่เราไม่จำเป็นต้องใส่ใจอะไรมากนัก ในเมื่อเรานำความฝันของเรามาเสนอและไม่ได้เห็นว่ามีใครเห็นเป็นอย่างอื่น มีหลายท่านทั้งฝ่ายค้าน, ฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ที่อภิปรายสนับสนุนก็เป็นเรื่องที่ดี ในส่วนนี้ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายและนำมาเสนอเข้าสู่สภาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

“ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เห็นว่ามันประสบความสำเร็จได้ก็เพราะความร่วมมือร่วมแรงของประชาชนทุกคนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายและทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อรวบรวมรายชื่อมาเสนอสภาได้ ทางข้างหน้าต้องบอกว่าประตูของการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เปิดขึ้นแล้ว การที่รัฐสภามีผลมติอย่างไรไม่ใช่การปิดประตูของประชาชนที่ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแค่ว่าหากเดินช่องทางเดิมด้วยข้อเสนอชุดเดิมแล้วเข้าชื่อให้ครบ 50,000 รายชื่อแล้วนำมาเสนอต่อสภาด้วยข้อเสนอชุดเดิมก็อาจจะได้ผลประชามติแบบเดิม ดังนั้นการเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็ดี การพยายามทำกิจกรรมต่างๆ ก็ดี มันไม่ได้ดำเนินมาโดยนามไอลอว์เพียงลำพัง เป็นดำเนินมาด้วยคนเป็นจำนวนมากที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง วันนี้เราทำหน้าที่ของเราสำเร็จแล้ว ดังนั้นทางข้างหน้าไม่ใช่หน้าที่ของเราเสมอไป คงจะไม่ต้องเป็นไอลอว์ที่จะเป็นผู้ริเริ่มในการเข้าชื่อกันอีกครั้งหนึ่ง แม้กฎหมายจะสามารถทำได้แต่ก็ไม่จำเป็นต้องต้องเป็นเส้นทางนั้น หากมีประชาชนคนอื่นที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงก็สามารถเป็นผู้ริเริ่มในการเข้าชื่อให้ครบ 50,000 ชื่อแล้วมาเสนอให้กับทางสภาได้” นายยิ่งชีพกล่าว

และยังกล่าวต่ออีกว่า ในกระบวนการวาระที่ 2-3 ไม่ว่าเขาจะรับร่างที่เราเสนอไปหรือไม่ก็ตาม ตามข้อบังคับปัจจุบัน ประชาชนก็ยังไม่มีตัวแทนเข้าไปในวาระที่ 2-3 เรามาสุดท้ายในวันนี้ แต่ว่าอย่างไรก็ตามโดยหลักการที่เห็นด้วยกันทั้งประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกันมาและสมาชิกรัฐสภาทุกท่านที่ร่วมกันอภิปรายแช้วเห็นตรงกัน หลักการเหล่านี้ยังคงอยู่ แน่นอนว่าเราจะต้องเสนอหลักการนี้เพื่อผลักดันสู่สังคม สู่ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงในทุกกิจกรรมในทุกช่องทางที่เราสามารถทำได้ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ยังคาดหมายได้ คือสมาชิกสภาทุกท่านที่อภิปรายสนับสนุนหลักการต่างๆ บางท่านก็บอกว่าเห็นด้วยแต่คิดนิดเดียว ติดในเรื่องเทคนิคบางประการ แต่เนื่องจากท่านลงมติไม่รับร่างไว้พิจารณาในวันนี้ ดังนั้นหลักการอื่นๆ ที่ท่านเห็นด้วยในฐานะสมาชิกรัฐสภาก็สามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อนำเสนอใหม่ โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนรวบรวมแล้วยื่นต่อสภาอีก

เมื่อถามว่าได้เตรียมบุคคลเพื่อสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ไม่ได้เตรียมเลย แต่ตนเตรียมมาว่าถ้าสภารับหลักการโมเดลส.ส.ร. ตามร่างของประชาชน ตนก็มีความตั้งใจจะประกาศว่าเราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการตั้งส.ส.ร. และจะไม่มีตัวแทนคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะตัวเอง ลงสมัครเป็นส.ส.ร.เด็ดขาด เพราะการร่างกติกาเอง ออกแบบกลไกเอง แล้วลงสมัครเพื่อเข้าไปมีตำแหน่งเอง เป็นเรื่องน่าเกลียดและไม่ควรทำ แต่เนื่องจากขณะนี้ร่างของเราตกไปแล้ว โมเดลส.ส.ร.จึงไม่ใช่แบบที่เราเสนอ แล้วจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ถ้ามาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ที่จะต้องติดตามต่อว่าจะได้ตัวแทนของประชาชน และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประโยชน์หรือไม่ แต่หากโมเดลที่ออกมาในวาระสอง และวาระสาม มีตัวแทนที่มาจากการคัดเลือกด้วยวิธีพิเศษ คนมีอำนาจสามารถแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาได้แบบนี้ ไม่ใช่ส.ส.ร.ที่เราอยากเห็น ก็ต้องคัดค้าน

Advertisement

ถามย้ำว่าหากส.ส.ร.ใช้วิธีการเลือกตั้ง ทางไอลอว์สนใจที่จะส่งคนสมัครหรือไม่ นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ต้องดูโมเดลว่าเป็นอย่างไรก่อน แต่ตอนนี้ยังไม่สนใจ

ถามต่อว่ารู้สึกอย่างไรที่มีส.ว. จำนวน 3 คน โหวตสนับสนุนร่างของไอลอว์ นายยิ่งชีพ กล่าวว่า รู้สึกชื่นชม อยากมีโอกาสได้เจอท่านเพื่อเข้าไปไหว้ ทั้งนี้ เราได้เห็นความหลากหลายในการลงมติของส.ว.มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะร่างของประชาชนเท่านั้น แต่ร่างอื่นๆก็เห็นว่าส.ว.ลงมติค่อนข้างหลากหลาย ไม่ได้เป็นทิศทางเดียวกันทั้งหมด หลายท่านที่ไม่ได้สนับสนุนร่างของเรา แต่สนับสนุนการลดอำนาจของตัวเองก็น่าชื่นชม

เมื่อถามว่าอยากถามอะไรถึงประชาชนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างฉบับประชาชน นายยิ่งชีพ กล่าวตอบด้วยเสียงสั่นเครือว่า ขอให้ภาคภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำ สองวันที่ผ่านมาเป็นวันประวัติศาสตร์ที่รัฐสภาได้พิจารณาข้อเสนอของประชาชน อย่าได้เสียใจ เพราะประตูเปิดขึ้นแล้วก็มีแต่จะเดินไปข้างหน้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image