‘รัฐสภา’ ลงมติรับ 2 ร่างรบ.-ฝ่ายค้าน แก้รธน. ม.256 ตีตกรวด 5 ร่าง ฉบับไอลอว์ไม่รอด

ขานชื่อลงมติร่างรธน.ยาว 5ชั่วโมง 4 ร่างรายมาตรา-ร่างไอลอว์คว่ำหมด ผ่านแค่ 2 ร่างแก้ 256 ฮือฮา ส.ว.ไร้เสียง รื้อทิ้งอาวุธคสช. ตั้ง 45 กมธ. ประชุมนัดแรกเริ่ม 24 พ.ย. กรอบทำงานแล้วเสร็จ 45 วัน

ต่อมา เวลา 13.00 น. หลังจากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครบถ้วนทุกคนแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับหรือไม่ ประกอบด้วย 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ตามที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ 2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256 ให้ตั้งส.ส.ร.ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ 3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 ตัดอำนาจส.ว.พิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี 5.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ยกเลิกรับรองประกาศคำสั่งคสช. 6.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งส.ส.ให้ใช้ระบบบัตร 2 ใบ 7.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอ หรือร่างไอลอว์ โดยการลงมติใช้วิธีให้สมาชิกรัฐสภาขานชื่อเป็นรายบุคคลว่าจะรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่1-7 ไปในคราวเดียวกัน ใช้เวลาขานชื่อลงมติกันยาวนานเกือบ 5 ชั่วโมง จนเกือบถึงเวลา 18.00น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 19.05 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งผลการลงมติ ปรากฏว่ามีร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการรับหลักการเพียง 2ร่างคือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้งส.ส.ร.ของฝ่ายค้าน ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน 576 ต่อ 21 เสียง งดออกเสียง 123 โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 127 เสียง และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาล ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน 647 ต่อ 17 งดออกเสียง 55 โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 176 เสียง ทำให้ทั้งสองร่างได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้จำนวน 732 คน หรือ 366 เสียงขึ้นไป และในจำนวนกึ่งหนึ่งที่มีเสียงเห็นชอบนั้น ยังมีคะแนนเสียงของส.ว.เกิน 1ใน3 จึงถือว่าได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ

ส่วนอีก 5 ร่างที่เหลือมีคะแนนเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ได้แก่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 มีเสียงเห็นชอบด้วยคะแนน 213 ต่อ 35 งดออกเสียง 472 โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 4 เสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 มีเสียงเห็นชอบ 268 ต่อ 20 งดออกเสียง 432 โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 56 เสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ยกเลิกรับรองประกาศคำสั่งคสช. มีเสียงเห็นชอบ 209ต่อ 51 งดอกเสียง 460 โดยในร่างนี้ไม่มีเสียงส.ว.ให้ความเห็นชอบในวาระรับหลักการเลยแม้แต่เสียงเดียว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งส.ส.ให้ใช้ระบบบัตร 2 ใบ มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 209 ต่อ 19 งดออกเสียง 432 มีส.ว.รับหลักการ 59 เสียง และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน มีเสียงเห็นชอบ 212ต่อ 139 งดออกเสียง 369 มีเสียงส.ว.รับหลักการ 3 เสียง แต่ทั้ง 5ร่างดังกล่าว มีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ถือว่า ไม่ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ

จากนั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็นส.ว. 15 คน ส.ส. 30 คน แยกเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคละ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคละ 3คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1คน แปรญัตติ 15 วัน โดยใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา และนัดประชุมนัดแรกวันที่ 24 พฤศจิกายน ห้อง 307 อาคารรัฐสภา เวลา 09.30 น. โดยมีกรอบระยะเวลาพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 45 วัน จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สั่งปิดการประชุมในเวลา 19.30 น.

Advertisement

 

สภา รัฐสภา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image