เปิดชนวนเดือด ร่างแก้ รธน.ฉบับ ‘ไอลอว’

เปิดชนวนเดือด ร่างแก้ รธน.ฉบับ “ไอลอว์”

ที่ประชุมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน พิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติ ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน รวมทั้งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีประชาชนเข้าชื่อ จำนวน 98,041 คน

ประเด็นร้อนที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายกันอย่างดุเดือด คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ต่างอภิปรายตั้งข้อสังเกต และสอบถามถึงความโปร่งใสในการดำเนินการจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ โดยเฉพาะการรับเงินของมูลนิธิจากต่างชาติ เช่น หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดย นายจอร์จ โซรอส ผู้มีส่วนทำให้ประเทศไทยต้องประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 ไอลอว์ จึงไม่ควรมีสิทธิในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงครอบงำการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทย

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ ที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. มีความกังวลใจ ถึงขั้นลงมติไม่รับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ เป็นดังนี้

หลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อรื้อถอนอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลดความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างโอกาสกลับสู่ประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังต่อไปนี้

Advertisement

1.ยกเลิกความในมาตรา 65 มาตรา 88 มาตรา 203 มาตรา 217 มาตรา 270 มาตรา 272 มาตรา 275 มาตรา 279

2.ยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 257 ถึงมาตรา 261

3.การตัดยุทธศาสตร์ชาติออกจากรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142)

Advertisement

4.แก้ไขจากการใช้ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ เป็นการกำหนดให้นายกฯต้องเป็น ส.ส. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคแรก)

5.ตัดข้อความที่บังคับให้ ครม.ต้องแถลงนโยบายสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 162 วรรคแรก)

6.ตัดข้อความที่ให้มี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยŽ จำกัดให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 252 วรรคสอง)

7.แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256)

8.ยกเลิกที่มาของ ส.ว.ชุดพิเศษ จำนวน 250 คน และให้มี ส.ว.ชุดใหม่ จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 269)

9.ยกเลิกกระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่มาของกรรมการชุดปัจจุบัน รวมทั้งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 11)

10.ให้เริ่มสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ (ร่างมาตรา 12)

11.การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เพิ่มหมวด 17 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 261/1 มาตรา 261/2 มาตรา 261/3 มาตรา 261/4 และมาตรา 261/5)

แม้นายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ในประเด็นที่ว่าทำไมภาคประชาชนไม่ห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 นั้น คิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2550 ไม่เคยมีข้อห้ามไม่ให้แก้ไข มีความเชื่อว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หากห้ามตัดตรงนั้นตรงนี้ มันขัดแย้งกัน ต้องเชื่อมั่นประชาธิปไตย เชื่อว่า ส.ส.ร.ที่ได้รับเลือกจะมีความหลากหลายไม่ต่างจากรัฐสภาแห่งนี้ และจะมีหลายทรรศนะความคิด

หน้าที่ของ ส.ส.ร. คือ ไกล่เกลี่ยหาทางออกที่ดีที่สุด โดยดูว่าเสียงส่วนใหญ่ไปทางไหน แต่ตลอดเวลาการเมืองไทยปัญหาเกิดขึ้น เพราะผู้มีอำนาจไม่ไว้ใจประชาชน จึงได้เกิดรัฐประหารบ่อย แต่ถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนไม่ใช่เด็กๆ ที่จะมีผู้ใหญ่มาบอกว่า ห้ามอย่างนั้นอย่างนี้ แสดงว่ามองตัวเองว่าใหญ่กว่าประชาชน

“ผมเชื่อว่าในส่วนของรายชื่อ 1 แสนรายชื่อที่ลงชื่อรับรองเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีความเห็นที่หลากหลาย สมาชิกหลายคนอาจจะวาดภาพเกินไป เชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ จึงเป็นเหตุที่เราไม่กำหนดว่า ห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 เรามองว่า ต้องไว้ใจประชาชนที่จะนำประเทศไปข้างหน้า เราไม่คิดว่าหมวด 1 หมวด 2 แก้ไขไม่ได้เลย อาจต้องมีแก้บางจุด หรือไม่ต้องแก้เลย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขอยู่บ้าง” นายจอน ชี้แจง

ส่วนประเด็นที่ว่า เรารับเงินจากต่างประเทศนั้น นายจอนอธิบายต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า จริงๆ ไม่อยากจะพูดถึง เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรพัฒนาเอกชนในไทย รวมถึงสถาบันที่มีชื่อหลายแห่งจะมีทุนจากหน่วยงานจากต่างประเทศ ไม่ได้แปลว่า มีการชี้นำ หรือบงการ ผมรับรองได้ในฐานะผู้แทนไอลอว์ว่าที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครสามารถมาบงการการทำงานของไอลอว์ได้

เช่นเดียวกับ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนไอลอว์ ในฐานะผู้แทนริเริ่มเสนอกฎหมาย อธิบายเสริมเติมว่า การเรียกร้องและนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นการกระทำในนามประชาชน รายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมแสนนี้ไม่ใช่เพียงแผ่นกระดาษ 202,900 แผ่น หากหมายความถึงเจตจำนงและความต้องการของประชาชน 101,450 คน ที่ผู้มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ และมีความหวังว่าสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตเองได้ภายใต้กติกาประชาธิปไตยที่มีรูแสงแห่งความหวังเล็กๆ ว่า สมาชิกรัฐสภาจะไม่ด่วนทำแท้ง หรือขโมยความหวังไปจากประชาชน

“สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดโบกอยู่ในเวลานี้ ไม่มีอำนาจใดที่จะหยุดยั้ง หากสมาชิกรัฐสภา คิดว่าจะตัดต้นลมด้วยการปิดโอกาส ปิดเสียงประชาชน เกรงว่า การกระทำดังกล่าวกำลังแปรเปลี่ยนให้สายลมแห่งความหวังดีกลายเป็นพายุใหญ่ในอนาคต” น.ส.จีรนุช ระบุ

ส่วนข้อกังวลถึงความโปร่งใสว่า มีต่างชาติเข้ามาครอบงำการดำเนินการของไอลอว์นั้น น.ส.จีรนุช ชี้แจงว่า จำเป็นต้องอธิบายข้อกล่าวหาว่าไอลอว์รับเงินต่างชาติ ยืนยันว่าเราไม่ได้รับจ้างทำงาน จึงไม่ใช่เรื่องที่มีแหล่งทุนไหนมาชี้นิ้ว หรือสั่งให้ทำอะไร ที่ผ่านมาองค์กรพัฒนาสังคมต่างๆ ไม่จำเป็นต้องรับทุนต่างชาติเลย ถ้าองค์กรรัฐ หรือกองทุนที่จัดตั้งโดยรัฐจำนวนมาก มีความเป็นอิสระ และใจกว้างเพียงพอที่จะอนุมัติงบประมาณให้กับองค์กรที่ทำงานในสิ่งที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ ดังนั้น เมื่อต้องการทำงานในสิ่งเหล่านี้ จึงต้องแสวงหาแหล่งที่พร้อมสนับสนุน

“ยืนยันว่า กระบวนการรับทุนของไอลอว์เป็นไปโดยโปร่งใส ไม่ใช่ได้มาด้วยการงุบงิบและปิดซ่อน ข้อกล่าวว่ารับทุนต่างชาติเปิดโอกาสให้ต่างชาติมาแทรกแซง เป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริง และเกินเลยไปมาก เป็นการพยายามบั่นทอนความจริงด้วย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นความต้องการของประชาชน 1 แสนคน โดยไม่มีแหล่งทุนหรือต่างชาติที่ไหนมาบงการ วาทกรรมที่พวกท่านกล่าวหาควรจะจบได้แล้ว” น.ส.จีรนุชชี้แจงพร้อมสรุป

แต่สุดท้ายแล้ว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์ ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามที่หลายคนคาดไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image