กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.50% ชี้ 3ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจปี 64

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.50% ชี้ 3ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจปี 64

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ถึงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ แต่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบาง และมีความไม่แน่นอนสูง จึงเห็นต้องให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด แต่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และแตกต่างกันมาก ระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะรายได้ของแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะกดดันการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เมื่อปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวเริ่มหมดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แต่ยังมองว่าระบบการเงินยังมีเสถียรภาพ แม้จะมีความเปราะบางขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจ และครัวเรือน” นายทิตนันทิ์กล่าว

นายทิตนันทิ์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม จากปัจจุบันจนถึงปี 2564 ให้น้ำหนักกับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.อัตราแลกเปลี่ยน 2.ตลาดแรงงาน โดยอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.1% ทำให้ตลาดแรงงาน ยังมีความอ่อนไหวมาก จึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าขณะนี้จะเห็นว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่เป็นการจ้างงานในส่วนของผู้ที่ยังไม่เคยเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่เป็นการจ้างงานในระยะสั้น และในส่วนของผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว ยังมีบางส่วนถูกเลิกจ้าง และ 3.อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์แล้ว แต่สินเชื่อยังไม่สามารถกระจายตัวได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังเพิ่มน้ำหนักให้ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง บรรจุอยู่ในปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม และความคืบหน้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวด้วย

นายทิตนันทิ์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาท ขณะนี้คณะกรรมการมีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม โดยช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งหากพิจารณาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น จากการเฝ้าติดตามของ ธปท.พบว่าสภาพคล่องในตลาดโลกมีเหลือมาก เมื่อภาวะโควิด-19 และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารทุน และตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบความผิดปกติ ธปท.ก็พร้อมเข้าไปดูแล ผ่านเครื่องมือการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมีเพียงพอ แต่ต้องใช้เครื่องมือให้ตรงจุดและรวดเร็ว โดยวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ธปท.จะมีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมามากขึ้น

Advertisement

“จากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน อ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.6% เทียบกับสิ้นปี 2562 โดยหากเทียบค่าเงินบาทพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงรอบการประชุม กนง.ครั้งก่อนกับครั้งนี้ ค่าเงินบาทแข็งขึ้น 4.3% ขณะที่ดัชนีสหรัฐ ติดลบ 2.1% เทียบกับสกุลเงินในเพื่อนบ้านหรือประเทศกำลังพัฒนาในเอเซีย ถือว่าค่าเงินทุกกลุ่มเอเชียแข็งค่าขึ้น แต่ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วติดอันดับ 3 โดยการดูแลค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้าย จะเป็นการดูแลภาพรวมทั้งหมดที่ต้องดำเนินการ โดยขณะนี้ ธปท.มีปัจจัยที่ต้องดูแลทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะปัจจัยในระยะสั้นที่มีความจำเป็นต้องดูแลก่อน” นายทิตนันทิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image