แค่ประตูบานแรกเปิดให้ ‘แก้ รธน.’ ยังต้องฝ่าขวากหนามอีกหลายด่าน-ฝุ่นตลบอีกนาน

แค่ประตูบานแรกเปิดให้ ‘แก้ รธน.’ ยังต้องฝ่าขวากหนามอีกหลายด่าน-ฝุ่นตลบอีกนาน

วันที่ 20 พฤศจิกายน ยังต้องติดตามความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนโหวตรับหลักการในวาระแรก สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่งเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ฉบับ และพรรคร่วมฝ่ายค้าน(ยกเว้นพรรคก้าวไกล) อีก 1 ฉบับ ส่วนอีก 5 ร่างของพรรคฝ่ายค้านและของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(ไอลอว์) ถูกตีตก

แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ผ่านวาระแรก จะมีหลักการคล้ายกันคือเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ในการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันเกี่ยวกับที่มาของส.ส.ร.
ทั้งนี้ ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลให้มี ส.ส.ร.200 คน โดย 150 คนมาจากการเลือกตั้ง ส่วนอีก 50 คนแบ่งเป็น 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา อีก 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน และอีก 10 คน มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา

ส่วนพรรคฝ่ายค้านให้ส.ส.ร.ทั้ง 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีก็สมัครเลือกตั้งเป็นส.ส.ร.ได้

ทั้งนี้ ในชั้นคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็นส.ว. 15 คน อีก 30 คนเป็นส.ส. (พรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 พรรคประชาชาติ 1 คน) จะประชุมนัดแรกวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเสนอชื่อคนเป็นประธานกมธ. รองประธาน และตำแหน่งอื่นๆ รวมถึงการดึงคนนอกมานั่งเป็นอนุกมธ.ชุดต่างๆ ก่อนจะพิจารณาลงรายละเอียดที่จะยึดพรรคร่วมรัฐบาลหรือร่างพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นหลักในการพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นที่มาของส.ส.ร. ซึ่งคงมีประเด็นให้ถกเถียงกันไม่น้อย

Advertisement

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะ กมธ. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนว่า การประชุมกมธ.นัดแรกในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ กมธ.สัดส่วนของฝ่ายรัฐบาลได้หารือกับส.ว. แล้วว่า จะเสนอชื่อนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิบรัฐบาล) เป็นประธาน กมธ. ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอให้ตั้งอนุกรรมาธิการ แล้วเชิญคนนอก โดยเฉพาะกลุ่มไอลอว์ หรือตัวแทนผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร มาร่วมด้วยนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่เกิดประโยชน์ คนที่จะเป็นอนุกมธ.ควรจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะสมาชิกกมธ. กล่าวถึงการเสนอชื่อประธานกมธ.ว่า คาดว่าน่าจะเป็น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ส่วนการพิจารณาเรื่อง ส.ส.ร. มีการตกลงกันว่าจะยึดร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก

ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะสมาชิกกมธ. กล่าวว่า เมื่อเสียงของพรรคฝ่ายค้านมีน้อย ตำแหน่งประธานกมธ.ก็อาจต้องเป็นของฝ่ายพรรครัฐบาล อย่างไรก็ตามพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยึดร่างของเราเป็นหลักไว้ก่อน ส่วน กมธ.จะลงมติรับข้อเสนอหรือไม่ก็แล้วแต่ที่ประชุม

Advertisement

ขณะที่นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะสมาชิก กมธ. กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะใช้ร่างของฝ่ายรัฐบาลเป็นหลัก แต่ไม่มีปัญหาเพราะเป็นเพียงแค่ดราฟต์ที่กมธ.นำมาวางไว้ ส่วนประเด็นที่มาของส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อย่างไรก็ตามญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกตีตกที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ และอำนาจส.ว.ในการการเลือกนายกฯ ยังคงอยู่ ดังนั้น คิดว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ยังเป็นปัญหาควบคู่ไปกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสามารถนำเสนอได้อีกในสมัยประชุมหน้าช่วงเดือนพฤษภาคม

ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายของประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า ไอลอว์จะไม่รวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาในสมัยประชุมหน้าอีก งานนี้ที่สำเร็จได้ไม่ใช่เพราะทางเรา แต่เป็นเพราะคนตื่นตัวและคนจำนวนมากมาช่วยกัน ความตื่นตัวนี้ ไม่ได้เกิดเพราะเรา แต่เกิดเพราะบ้านเมืองผิดปกติ ไอลอว์ไม่ใช่เซ็นเตอร์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราเป็นองค์กรที่ตั้งใจสนับสนุนการมีส่วนร่วม ของประชาชน ซึ่งเราก็ทำสำเร็จไปแล้ว ทำอีกทีก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ความต้องการที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงยังมีอยู่

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรจุร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติเข้าสู่วาระที่ประชุมรัฐสภาแล้ว แต่ยังไม่ได้ระบุวันชัดเจนว่าจะพิจารณาวันใด ต้องรอหารือกับวิป 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว.ในสัปดาห์หน้าก่อน เพื่อกำหนดวันประชุมและรูปแบบการพิจารณาให้ชัดเจนก่อน แต่คาดว่าน่าจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ในเดือนธันวาคมนี้

ดังนั้น แม้ประตูบานแรกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเปิดแล้ว แต่ยังมีอีกหลายด่าน ต้องมีการปะทะทางความคิดและต้องใช้เวลานานพอ ต้องผ่านวาระ 2-3 ต้องทำประชามติ มีการเลือกตั้งส.ส.ร. และส.ส.ร.ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ร่างของรัฐบาลกำหนดให้ส.ส.ร.จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ส่วนร่างของพรรคฝ่ายค้านให้ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน จากนั้นต้องเข้าสู่รัฐสภาอีกรอบ

ไม่รู้ว่า การก้าวผ่านแต่ละด่านต้องเจออุปสรรคขวากหนาม และฝุ่นตลบตามรายทางอีกมากน้อยแค่ไหน กว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาบังคับใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image