พท.ดัน ‘ชลน่าน’ แข่ง ‘วิรัช’ ชิงปธ.กมธ.แก้รธน. ‘เสธอู้’ คาดปิดจ๊อบมกรา

พท.ดัน ‘ชลน่าน’ แข่งวิรัช ชิงปธ.กมธ.แก้รธน. ‘เสธอู้’ คาดปิดจ๊อบมกรา ‘เทพไท’ หวั่นฮาร์ดคอร์ยื้อ-จี้เสร็จตามกรอบ 45 วัน

ความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังรัฐสภามีมติรับหลักการญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สองฉบับนั้น รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. …) พุทธศักราช. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) นัดแรกในวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่อาคารรัฐสภา โดยรูปแบบการประชุม นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯที่มีอาวุโสสูงสุด จะทำหน้าที่ประธาน กมธ. เพื่อเลือกประธาน โดยที่ประชุมจะมีมติเลือก นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ประธานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นประธาน กมธ. เพราะนายวิรัชเคยเป็นประธาน กมธ.ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการรัฐสภา และจะมีการเลือกผู้แทน ส.ว. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 1 ผู้แทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นรองประธานคนที่ 2 ผู้แทนจากพรรคร่วมรัฐบาล เป็นรองประธานคนที่ 3 ซึ่งอาจจะมีรองประธานถึง 6 คน โดยจะสลับกันไปมา และมีการเลือกเลขานุการ กมธ. และโฆษก กมธ.ที่มาจากทุกฝ่ายโดยไม่มีรองโฆษก ซึ่ง กมธ.ชุดนี้จะประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน ที่ประชุมจะให้สมาชิกรัฐสภาแปรญัตติ 15 วัน หากไม่เพียงพอสามารถขยายเวลาแปรญัตติออกไปได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการพิจารณาชั้น กมธ. ที่ประชุมจะยึดร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก โดยจะให้ความสำคัญกับที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และมาจากการสรรหา 50 คน โดย 20 คน เป็นสัดส่วนของรัฐสภา อีก 20 คน เป็นสัดส่วนของที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศที่จะสรรหานักวิชาการมาทำหน้าที่ และอีก 10 คน มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนผู้ชุมนุมร่วมเป็น ส.ส.ร. อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเลือกตั้งนั้น เปิดให้ผู้สมัครมีคุณสมบัติอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นการเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม สำหรับเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะมีการนำร่างของฝ่ายค้านเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เพราะฝ่ายรัฐบาลเสนอเวลา 120 วัน ฝ่ายค้านเสนอเวลา 240 วัน โดยอาจจะหาเวลาตรงกลางคือ 200 วัน

ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) และรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (รองวิปฝ่ายค้าน) ในฐานะ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นนัดแรกของการประชุม กมธ.เพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งเพื่อกำหนดวันเวลารวมทั้งกรอบการทำงานก่อนที่จะเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันถัดไป ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. เหมาะสมที่จะนั่งในตำแหน่งประธาน แต่เราคงจะแพ้เสียงโหวตตั้งแต่ในมุ้งแล้ว ก็ไม่เป็นไร ขอให้เป็นเรื่องในที่ประชุมที่จะพิจารณาโหวตเลือกกัน

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ในฐานะ กมธ.แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า ในตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะตั้งอนุกรรมการ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นที่รอดูว่าใครจะมาแปรญัตติอะไรบ้าง และการตั้งอนุกรรมการส่วนใหญ่เป็นการตั้งเมื่อมีเรื่องอะไรพิเศษที่จะต้องศึกษาและดำเนินการ การตั้งอนุกรรมการไม่ได้มีประโยชน์อะไรเพราะว่าเราจะต้องเดินตามหลักการที่เรารับมาพิจารณาอยู่แล้ว และการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ ต่างกันแค่เรื่องจำนวนวันที่ใช้ในการยกร่าง ต่างกันเรื่องวิธีการในการคัดสรร ส.ส.ร. และเรื่องพิจารณาให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะไปที่ไหนต่อ ทางฝ่ายค้านก็ระบุว่า ส่งไปทำประชามติ ถ้าร่างของฝ่ายรัฐบาลก็ระบุว่า ให้รัฐสภาเห็นชอบ ถ้าให้ความเห็นชอบแล้วจึงจะส่งไปทำประชามติ ในความต่างนี้อยู่ในประเด็นที่สามารถถกเถียงกันได้และถ้าอันไหนมันไม่เห็นด้วยกันจริงๆ ก็ลงมติโหวต ไม่ได้มีเหตุอะไรที่จะต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาอะไรเพิ่มเติม ถ้าตั้งอาจโดนข้อหายื้อเวลา แล้วในการพิจารณาครั้งนี้ก็คาดว่าจะไม่เกิน 50 วันก็เสร็จ เพียงแต่เดือนธันวาคมมีวันหยุดเยอะ ก็อาจจะเสร็จเดือนมกราคม

Advertisement

ส่วน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน เป็น ส.ส. 30 คน และ ส.ว. 15 คน ว่า เมื่อดูรายชื่อทั้งหมดแล้ว พบว่าจะมี กมธ.ประเภทฮาร์ดคอร์อยู่หลายคน จึงไม่มั่นใจว่าการทำงานของ กมธ.ชุดนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามี กมธ.ได้แสดงท่าทีอภิปรายคัดค้านญัตติร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่งอย่างแข็งขันมาแล้ว จึงไม่มั่นใจว่ายังยืนยันในความคิดเดิมอีกหรือไม่ ส่วนระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ จำนวน 45 วันตามกรอบเวลาที่รัฐสภาอนุมัติ ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 1 มกราคม 2564 ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการพิจารณาในวาระ 2 ที่มีเนื้อหาของร่างเพียง 5 มาตรา และไม่ควรจะขยายเวลาออกไปอีก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองภายนอกกำลังกดดันรัฐบาลอยู่ ถ้าหากมีวันหยุดราชการหลายวัน คณะกรรมาธิการก็ควรจะเพิ่มวันประชุมให้มากขึ้น เพื่อให้การทำงานเสร็จภายในกรอบเวลาที่รัฐสภากำหนด จะได้มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทุกคนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image