‘ฝ่ายค้าน’ มีมติ 5 ข้อ ก่อนถกปมแก้ รธน.กับฟาก พร้อมหยิบร่างที่ตกไปมาพิจารณา

‘ฝ่ายค้าน’ มีมติ 5 ข้อ ก่อนถกปมแก้ รธน.กับฟาก พร้อมหยิบเอาร่างที่ตกไปมาพิจารณา-ให้แต่ละพรรคเตรียมเสนอแปรญัตติใน กมธ.

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 23 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนการประชุมร่วม กมธ. เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้า และประธานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการทำงานของ กมธ.ในสัดส่วนของฝ่ายค้านนั้น 1.การคัดเลือกตำแหน่งต่างๆ ใน กมธ. เราเห็นว่าตำแหน่งที่มีความสำคัญ คือ ตำแหน่งประธาน กมธ. เลขานุาการ กมธ. โฆษก กมธ. และตำแหน่งอื่นๆ เรามองว่าควรคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามานั่งในตำแหน่งนั้นๆ แม้เราจะทราบว่าเสียงของฝ่ายค้านเราจะสู้เสียงของฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ แต่เราก็เห็นว่าควรมีการเสนอ 2.เวลาที่กำหนดไว้ 45 วัน เราเห็นว่าเรื่องรัฐธรรมนูญมีความสำคัญเร่งด่วน ระยะเวลา 45 วัน อาจจะมากเกินไป เราคิดว่าจะเสนอให้ใช้เวลาน้อยกว่านี้ โดยพยายามให้เรื่อง ส.ส.ร. เข้าสู่การพิจารณาโดยเร็ว

นายชูศักดิ์กล่าวว่า 3.เมื่อพิจารณาร่างของฝ่ายค้าน และร่างของฝ่ายรัฐบาล เห็นว่ามีความแตกต่างกันในสาระสำคัญสองเรื่อง คือ ที่มาของ ส.ส.ร.ที่ฝ่ายค้านมองว่า ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ญัตติของรัฐบาล ส.ส.ร.มาจาก 3 แนวทาง คือ การเลือกตั้งโดยตรง บวกกับการคัดเลือกจากรัฐสภา จากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ และจากที่ประชุม กกต. ซึ่งกระบวนการที่มาจากการคัดเลือกมีปัญหาหมิ่นเหม่ที่อาจได้คนมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และทำให้การได้มาของ ส.ส.ร.ไม่เป็นธรรม เรามองว่าญัตติของฝ่ายค้านเราจะมีความเป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า

Advertisement


“ประเด็นต่อมาคือ เรื่องการทำประชามติ โดยของฝ่ายค้านเรามองว่า เมื่อ ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้ว ควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนนำมาประกาศใช้ ขณะที่ญัตติของรัฐบาลนั้นคือเมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้วประกาศใช้ได้เลย ทำให้หมิ่นเหม่เช่นกัน เพราะประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้รับทราบเลยว่า ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นอย่างไร และจะเห็นชอบหรือไม่

“4.เรามีร่างรัฐธรรมนูญ โดยฉบับของพี่น้องประชาชนที่ตกไป ซึ่งเราเห็นว่ามีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อระบบประชาธิปไตย ฝ่ายค้านจึงมีความเห็นว่าเราต้องไปศึกษาร่างที่ตกไป แล้วดูว่ามีประเด็นใดที่สำคัญ เพื่อนำเรื่องนั้นๆ มาพิจารณาในชั้น กมธ. และ 5.ให้แต่ละพรรคการเมืองในฝ่ายค้านไปพิจารณาเพื่อมอบหมายให้สมาชิกพรรคการเมืองของตนแปรญัตติในประเด็นสำคัญ” นายชูศักดิ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image