ผู้ตรวจฯ ยื่นศาลรธน.ตีความ พื้นที่ทับซ้อน ‘อุทยานทับลาน’ ชี้ขัดรธน.ละเมิดสิทธิปชช.

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาล รธน.ตีความปมปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอุทยานทับลาน  ชี้ ขัดรธน.ละเมิดสิทธิปชช.

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจฯได้พิจารณากรณีมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้ยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและทำกินของประชาชนในพื้นที่รอบเขตอุทยาน และกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ การกระทำนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 27 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 40 และมาตรา 43 (2) หรือไม่

พ.ต.ท.กีรป กล่าวต่อว่า หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรับฟังปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบ พบว่า ที่อยู่อาศัยและทำกินบริเวณรอบ ๆ แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นพื้นที่ทับซ้อนและพิพาทกับอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐข้างต้นได้อาศัยความไม่ชัดเจนของแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทำการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ทับซ้อนมาโดยตลอด โดยอ้างว่าพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินดังกล่าวเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานที่อยู่ภายใต้กฎหมายอุทยาน จึงมีการหยิบยกกฎหมายอุทยานขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อสกัดกั้นการใช้สอยพื้นที่ดังกล่าวในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงจับกุมประชาชนที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ทั้งที่กลุ่มประชาชนได้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวมาแต่เดิมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2457 ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในปี พ.ศ. 2524 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ร้องเรียนและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ค. 1, น.ส. 3, น.ส. 3ก. และโฉนดที่ดิน (น.ส. 4จ.) ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลานในปี พ.ศ. 2524 ก็ไม่สามารถนำเอกสารสิทธิดังกล่าวไปทำนิติกรรมใด ๆ ได้ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รับจดทะเบียนทางนิติกรรมให้

พ.ต.ท.กีรป กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันแม้ว่าได้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยบทเฉพาะกาล มาตรา 64 กำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน คือภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 นับแต่วันที่พ.ร.บ.ใช้บังคับ และกำหนดให้รัฐบาลมีแผนงาน นโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยทำกินในอุทยานแห่งชาติที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมีสิทธิในที่ดินนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในอุทยานแห่งชาติกรณีการบุกรุกเท่านั้น

“แต่บทบทบัญญัติดังกล่าวมิได้แก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับอ้างบทบัญญัติดังกล่าวทำการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยถือว่าประชาชนดังกล่าวบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนโดยตรง และได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ มาตรา 46 พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561”

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image