“วิษณุ”แย้ม มีวิธีเอาผิดคนชวนคว่ำร่างรธน. เผย”บิ๊กตู่”ตั้งใจอ่านมาก-อยากเลือกตั้งปี60

แฟ้มภาพ

“วิษณุ” พร้อมถก กกต.เคาะปมประชามติ ต้นสัปดาห์หน้า เผย นายกฯอยากเพิ่มหมวดปฏิรูปในร่าง รธน.

เมื่อเวลา 16.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชี้แจงรัฐธรรมนูญร่างแรกให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ทราบ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ว่า ได้สรุปรัฐธรรมนูญร่างแรกของกรธ.หลังจากมีการแจกร่างรัฐธรรมนูญให้ครม.โดยได้ชี้แจงว่า มีกี่หมวด กี่มาตรา แต่ละหมวดมีจุดเด่นอะไร และอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้มีมติ 3 ข้อ คือ 1.รับทราบตามที่ได้เสนอ 2.ให้ครม.กลับไปอ่านร่างรัฐธรรมนูญ แล้วทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งมายังตน ภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ตนจะใช้เวลา 3-4 วัน หลังจากนั้น เชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ อัยการ มาช่วยดู จากนั้น ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งไปยังกรธ.โดยจะต้องทำเรื่องส่งนายกรัฐมนตรี ให้ลงนามก่อนส่ง แต่ถ้าตรงกับช่วงที่นายกฯต้องเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ก็ให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามในนามของครม.แทน ส่วนในนามคสช.จะทำความเห็นไปหรือไม่ ให้แยกไปต่างหาก 3.การทำงานอาจพบปัญหา เช่น การทำประชามติ หรือปัญหาเรื่องอื่นที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีอยู่ ครม.มอบหมายให้ตนไปหารือกับบางหน่วยงาน เช่น กระทรวงยุติธรรม กฤษฎีกา ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งความชัดเจนในที่นี้ คือ เรื่องประชามติ สุดท้ายจะใช้ครึ่งหนึ่งของผู้ทีสิทธิ์ออกเสียง หรือผู้มาใช้สิทธิ์ หรือเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการทำประชามติ เช่น ต้องการมีบทลงโทษ กรณี ฉีกบัตร ทำลายหีบบัตรเลือกตั้ง ตนจึงได้นัดกกต.สภาพัฒน์ สำนักงบฯ กฤษฎีกา และตัวแทนกรธ.หารือถึงปัญหาทั้งหมดต้นสัปดาห์หน้า

เมื่อถามว่า การรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญทำได้หรือไม่ มีความผิดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ผมยังตอบไม่ถูก แต่ถ้าจะเอาผิดมันมีวิธี” และตนไม่ได้บอกว่าการแสดงความคิดเห็นทางใดทางหนึ่งทำได้หรือไม่ได้ ต้องมาถามกันในที่หารือกันว่าจะทำอย่างไร เราเคยทำการประชามติเมื่อปี 50 มาแล้วก็มีหลักเกณฑ์อยู่ ก็ไม่น่าจะพิสดาร กว่านั้น เมื่อถามอีกว่า การทำให้การทำประชามติชัดเจน จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราต้องหาคำบอบกัน แต่จะใช้มาตรา 44 ให้เกิดความชัดเจนนั้น ไม่น่าจะได้

นายวิษณุ กล่าวว่า ในที่ประชุมครม.ยังมีข้อเสนอแนะต่างๆ ในขณะที่ยังไม่ได้ดูรายละเอียดรัฐธรรมนูญ รวมถึงนายกฯเองก็พูดที่เป็นความเห็นส่วนตัว และนายกฯอาจเป็นคนที่ได้อ่านรัฐธรรมนูญมากกว่าคนอื่น เนื่องจากมีการรายงานให้ทราบเป็นระยะ ท่านจึงทำการบ้านมาดี อย่างท่านต้องการเห็นการเลือกตั้งในปี 60 ให้ได้ ในเดือนก.ค.ต้องเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งให้ได้เป็นต้นไป สามารถทำให้เลือกตั้งได้เร็วเท่าไรก็ให้ทำ พอถึงตอนนั้น ทุกคนต้องรู้แล้วว่าจะเลือกตั้งตอนไหน มันอาจจะช้ากว่าเดือนก.ค.แต่ต้องรู้วันที่เลือกตั้งอย่างชัดเจน เพื่อทุกคนจะได้เตรียมตัว และเตรียมหาเสียง

Advertisement

นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกฯได้สั่งว่า อยากให้รัฐธรรมนูญ มีหมวดการปฏิรูปหมวดหนึ่งเลย อย่าให้ไปซุกอยู่ตรงไหน และให้กรธ.ลงไปช่วยคิดอีกทีหนึ่ง ถ้าหากเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งเสร็จ เรามีกลไกใดที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ ถ้ายังไม่มีให้เขียนเติมลงไป โดยรัฐบาลจะไม่บอกว่ากลไกนั้นคืออะไร ให้ลองไปช่วยกันคิดดูจะเพิ่มอำนาจใคร หรือลดอำนาจใคร ก็แล้วแต่ ส่วนข้อท้วงติงจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ การเสนอรายชื่อนายกฯก่อนเลือกตั้ง 3 คน นายกฯคนนอก ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระมีอำนาจเกินไป ซึ่งข้อท้วงติงบางเรื่องชี้แจงได้ว่า ถูกหรือไม่ถูกอย่างไร แต่บางเรื่องตนก็แก้ให้ไม่ได้ เพราะนึกเหตุผลหักล้างการท้วงติงไม่ได้ และบางข้อยังแอบเห็นด้วยซ้ำไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image