เวที‘มติชน’ระดมมุมมอง อยากเห็น7เสือ(เทพ)‘กสทช.’ ‘เจ๋ง-เก่ง-ดี’เร่งสรรหาช่วยกู้ศก.

เวที‘มติชน’ระดมมุมมอง อยากเห็น7เสือ(เทพ)‘กสทช.’ ‘เจ๋ง-เก่ง-ดี’เร่งสรรหาช่วยกู้ศก.

เวที‘มติชน’ระดมมุมมอง
อยากเห็น7เสือ(เทพ)‘กสทช.’
‘เจ๋ง-เก่ง-ดี’เร่งสรรหาช่วยกู้ศก.

หมายเหตุบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาเรื่อง “7 เสือที่อยากเห็น กสทช. ชุดใหม่-เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย” โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมสัมมนา มีนายบัญชา ชุมชัยเวทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เวที‘มติชน’ระดมมุมมอง อยากเห็น7เสือ(เทพ)‘กสทช.’ ‘เจ๋ง-เก่ง-ดี’เร่งสรรหาช่วยกู้ศก.

Advertisement

ขณะนี้เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจ เรื่องเทคโนโลยีวันข้างหน้าสำคัญมากๆ จะเห็นว่าในฐานะผู้ใช้ไม่ได้สนใจว่าจะใช้คลื่นไหน มาตราไหน ซึ่งส่วนตัวไม่เข้าใจว่าการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ ราคาแพง ได้เงินมหาศาลแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร ในฐานะผู้ใช้ ทำไมไม่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม ทำไมไม่มีเคพีไอวัดประสิทธิภาพ รัฐบาลตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาแล้ว ควรช่วยให้ประเทศแข่งขันกับต่างประเทศได้ ให้ประชาชนทุกคนได้ใช้งาน

ปัจจุบันการประมูลมีเทคโนโลยี 5จี ราคาสูง แต่มีคำถามว่าเมื่อไหร่ได้ใช้ ถ้าประมูล 5จี ราคาถูก ประชาชนได้ใช้ไม่ดีกว่าหรือ การที่รัฐบาลเอาเงินไปเก็บไว้เฉยๆ บอกว่าจะช่วยเรื่องเทคโนโลยี แต่ไม่รู้จะช่วยเมื่อไหร่ สิ่งเหล่านี้ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเฝ้ามองอยู่

อีกประเด็นคือ การประมูลไปแล้ว อย่างทีวีดิจิทัล หลังการประมูลพบว่าผู้ประกอบการมีปัญหาเจ๊งเกือบหมด แล้วผู้บริโภคได้ประโยชน์อะไร วันนี้ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน จะถูกดิสรัปต์อย่างไรบ้าง จะรองรับอย่างไร อนาคตต่อไป จะมีเออาร์ (เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน) วีอาร์ (การจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง) ไทยจะใช้ประโยชน์อย่างไร เทคโนโลยีอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ถ้าต้นทุนเทคโนโลยีแพงประชาชนจะต้องรับภาระจ่ายค่าโทรศัพท์แพง ค่าอินเตอร์เน็ตแพง

Advertisement

ขณะที่ผู้ประกอบการเมื่อจ่ายค่าประมูลมาแพงแล้ว ในด้านการลงทุนซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ผู้ลงทุนจะพยายามลงทุนให้ต้นทุนน้อย เพื่อให้คุ้มทุนมากที่สุด ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จริง ทั้งผู้ลงทุนและประชาชน ทั้งนี้อยากให้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ กสทช.ดูแลถูกนำมาใช้ประโยชน์ให้กับประชาชน ผู้ประกอบการให้มากที่สุด มีการพัฒนาเทคโนโลยีโดยคนไทย ถ้าแข่งกันด้วยตัวเงิน อนาคตทุกอย่างจะเป็นของต่างชาติหมด จะไม่มีคลื่นของคนไทย อนาคตควรส่งเสริมแพลตฟอร์มที่ผลิตโดยคนไทย บุคลากรคนไทย ให้มากที่สุด

อนาคตทุกคนจะยึดท้องฟ้า ดาวเทียม ถ้าปล่อยให้ต่างประเทศยึดไปหมด จะเป็นอย่างไร วันนี้คนไทยทุกคนมีเครื่องมือสื่อสาร คือ โทรศัพท์มือถือ เป็นปัจจัยที่ 5 ในการใช้ชีวิต ทุกอย่างถูกคอนโทรลโดยใคร โดยภาครัฐ หรือต่างชาติ วันนี้สงครามแข่งกันด้วยอาวุธทางเทคโนโลยี กรณีการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ บีบจีน หัวเว่ย ด้วยเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ในการสรรหา กสทช.ครั้งนี้ ถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศชาติ ถ้าเลือกไม่ดีอาจได้แมวมา 7 ตัว แทนที่จะได้สิงห์มา 7 ตัว ถ้าเลือกผิดอาจทำให้ไทยขยับลำบาก เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไทยพลาดโอกาสหลายครั้งมาแล้ว ที่ผ่านมารัฐได้เงินจำนวนมาก แต่ประชาชนยังไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง จนเห็นความเหลื่อมล้ำเยอะมาก ตอนนี้ประชาชนต้องเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมเยอะมาก ถ้าลดต้นทุนค่าธรรมเนียมส่วนนี้ได้ หรือไม่ต้องใช้เลย หรือสามารถเรียนรู้ มีการเรียนการสอนด้านการศึษาผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

หรือกรณีประชาชนหันมาใช้แอพพลิเคชั่นเป๋าตังของภาครัฐ แต่ทุกคนต้องเสียค่าอินเตอร์เน็ต คิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ต่อหัวต่อคน วงเงินมหาศาล ถ้าลดภาระส่วนนี้ประชาชนจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ระบบเศรษฐกิจจะหมุนเวียนกัน เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ

นอกจากนี้ อยากให้ กสทช.กำกับดูแล ให้ความเป็นธรรมเพราะเป็นหัวใจสำคัญมาก ทั้งนี้ การจะทำยังไงให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์มากที่สุดเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทำให้เทคโนโลยีของประเทศเดินต่อไปได้ ต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำลงในผู้ใช้ และผู้ประกอบการ และดูว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้มากขึ้น วันนี้ไทยมีเทคโนโลยี 5จี แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ทั้งเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) หุ่นยนต์ เพราะวันนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่เล็งเรื่องนี้ ตื่นตัวตลอดเวลา ทุกคนมีเงินทุน มีเทคโนโลยี มีทีมงาน พร้อมปรับตัว แต่อย่าลืมว่าเศรษฐกิจไทยยังมีเอสเอ็มอีอยู่ ตรงนี้ต้องดูว่า กสทช.จะเข้าไปช่วยได้อย่างไร เอสเอ็มอีจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือรัฐได้อย่างไร

นอกจากนี้อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ด้านความปลอดภัยของดาต้าเบส จะทำอย่างไรให้ข้อมูลต่างๆ ได้รับการป้องกัน เพราะในทางธุรกิจความลับทางการค้าเป็นเรื่องสำคัญ มีจำนวนมาก วันนี้ทุกคนเวลาจะคุยกันจะใช้วอตส์แอพพ์เพราะปลอดภัย ไม่มีใครกล้าทางโทรศัพท์ ไลน์ก็เริ่มกลัว ดังนั้น กสทช.ในฐานะเรกูเลเตอร์ หรือผู้กำกับดูแล ต้องทำให้เชื่อมั่นว่าต่อไปนี้จะไม่มีปัญหาเหล่านี้ ไม่มีหน่วยงานแฮกเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะไม่เพียงการแฮกเรื่องอาชญากร แต่ปัจจุบันมีการแฮกเรื่องข้อมูลธุรกิจด้วย เพราะคู่แข่งมีโอกาสรู้ บางเรื่องทำให้การดำเนินธุรกิจลำบาก กสทช.ต้องเข้าใจ

ที่ผ่านมาเวลาเอ่ยถึงทรัพยากรที่ทั่วโลกอยากได้ มองว่าสำคัญ คือ น้ำมัน ทุกคนพยายามแย่งชิง เข้าครอบครองอิรัก อิหร่าน แต่วันนี้สิ่งที่มีค่ากว่าน้ำมัน คือ ดาต้า (กระบวนการจัดการกับข้อมูลจํานวนมาก) จะทำอย่างไรให้ดาต้าของไทยใช้ประโยชน์มากที่สุด และนำดาต้าเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร จะทำให้ยังไงให้ดาต้ามาอยู่ในไทย ดูแลโดยอุตสาหกรรมไทย วันนี้หลายแห่งพบว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก มีการดิสรัปต์ทางเทคโนโลยี มีการเทกโอเวอร์แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ อาทิ ลาซาด้า เพราะต้องการดาต้า ดังนั้น ไทยต้องปกป้องข้อมูลส่วนนี้ เพราะถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด

ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องการความปลอดภัย สามารถนำดาต้าไปใช้โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำ อยากให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาดูแล เพราะทุกคนรู้สึกไม่ปลอดภัย วันนี้ระบบธนาคาร (แบงก์) ดีขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่เข้ามาใช้มากขึ้น มีการใช้ดาต้า เทคโนโลยี ทำประโยชน์ อนาคตภาคอุตสาหกรรมต้องใช้เทคโนโลยี 5จี เพื่อเสริมในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเกษตร การประกอบ การผลิตต่างๆ ต้องใช้ 5จี หลังจาก 4จี ครอบคลุมด้านอื่นๆ ไปแล้ว

วันนี้ต้องถามไทยจะก้าวกระโดดได้แค่ไหนจากเทคโนโลยี 5จี ตัวอย่าง หัวเว่ยของจีน ก้าวกระโดดได้เพราะ 5จี ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ไทยมีแพลตฟอร์ม สนับสนุนยูนิคอร์นให้ใช้ประโยชน์ 5จี ทุกอุตสาหกรรมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดนตรี ต้องพึ่งพา 5จี ให้ก้าวกระโดดได้ นอกจากนี้ กสทช.ต้องเป็นโคชชิ่ง ติวเตอร์ 7 คน อาจทำไม่ได้ทั้งหมด ภาครัฐจะสร้างความร่วมมือครั้งนี้

ขณะนี้มีความเป็นห่วงความเชื่อมั่น กสทช. โดย กสทช.ทั้ง 7 คนหรือ 7 เทพที่เลือกเข้ามานอกจากเก่ง ทำงานเป็นทีม ควรใช้เพาเวอร์ คอนเน็กชั่นที่มีในการประสานกับองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ เพราะเจ้าหน้าที่ กสทช.เองมีคนเก่งเยอะ สามารถช่วยงาน กสทช.ได้ จากงานที่ทำเป็นประจำ

ทั้งนี้หากไทยช้าจะกระทบขีดความสามารถประเทศ กสทช.ต้องคุยกับโอเปอเรอเตอร์ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ สร้างสนับสนุนให้เกิดยูนิคอร์น (สตาร์ตอัพที่เติบโตแบบก้าวกระโดด) ให้เกิดขึ้นในไทย อาจดึงต่างชาติ นักวิชาการเข้ามาทำการศึกษา ลงทุนในไทย

นอกจากนี้สิ่งสำคัญต้องมีนโยบายน่าสนใจ ทำงานโปร่งใส ไม่ใช่เรื่องที่ทำเอื้อระบบพี่น้องทุกเรื่อง โดย กสทช.ชุดใหม่อยากให้เร่งสรรหา ยิ่งเร็วยิ่งดี อยากเห็นตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้ต้องรีบเพราะเข้าใจว่าผู้ที่รักษาการอยู่ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะเรื่องผลประโยชน์ไม่ง่ายที่จะดำเนินการ

ทั้งนี้ หากการคัดเลือก 7 กสทช.ช้าจะทำให้ไทยเสียโอกาส ทั้งการรักษาพยาบาล การผลิต การเกษตร วันนี้ไทยแข่งขันด้านค่าแรงกับประเทศอื่นในภูมิภาคไม่ได้แล้ว ต้องใช้เทคโนโลยีเสริม ไทยสู่ค่าแรงเวียดนามไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยีสู้ หากไทยหมดสภาพ สู้ไม่ได้ แข่งขันไม่ได้ การลงทุนจะไม่เกิด ถ้าเศรษฐกิจไม่มั่นคง ประชาชนคนไทยจะไม่มั่นคงเช่นกัน

พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์
ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์
บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

เวที‘มติชน’ระดมมุมมอง อยากเห็น7เสือ(เทพ)‘กสทช.’ ‘เจ๋ง-เก่ง-ดี’เร่งสรรหาช่วยกู้ศก.

การมี กสทช. มองว่าดีกว่าไม่มี เพราะ 10 ปีแรกของ กสทช. มีการเปลี่ยนผ่านระบบจากการทำสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต หากไม่มี กสทช. ผู้ที่ทำหน้าที่นี้จะเป็นแคท หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และทีโอที หรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จึงมองว่ามีดีกว่าไม่มี โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในระบบมากกว่าตัวบุคคล เนื่องจากมองว่าคน 7 คน ไม่สามารถผลักดันสิ่งที่ควรทำทั้งหมดได้ รวมถึงความสำคัญในขณะนี้

นอกจากคุณสมบัติแล้วคือ ทัศนคติที่ต้องมี เนื่องจากคน 7 คนที่จะเข้ามา ต้องมีการแต่งตั้งที่ปรึกษา เพื่อเข้ามาช่วยในการทำงานแน่นอน เพราะไม่มีทางที่ทั้ง 7 คนจะสามารถรู้ได้ทุกอย่าง และสามารถผลักดันเรื่องเหล่านี้ไปได้ ทำให้การตั้งที่ปรึกษา หากมีประสิทธิภาพจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยในระยะถัดไป อยากมอง กสทช.เป็นสถาบัน เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือแบบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ความจริงแล้วสำนักงาน กสทช.มีบุคลากรที่มีความรู้สูงมาก มีการให้ทุนศึกษาต่างประเทศ เพื่อไปเรียนรู้เทคโนโลยีและนำมาปรับใช้ในประเทศ ซึ่งต้องให้เวลาในการทำงานต่อไป โดยจะเห็นว่าในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีการทำวิจัย มีบทความออกมามากขึ้น จึงถือว่าการทำงานค่อนข้างไปได้ดี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับผลสอบ มองว่าสอบผ่าน แต่ยังไม่สามารถทำคะแนนได้ดีนัก

มองไปข้างหน้า อยากเห็น กสทช.ให้ความสำคัญกับกลไกของตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจและประเทศเดินหน้าไปได้ ไม่อยากเห็นการกำกับดูแลที่โน้มเอียง ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดในหลายๆ ธุรกิจที่เริ่มเห็นในแวดวงนอกธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเชื่อในระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมมีจุดอ่อน คือ หากปล่อยให้ระบบทุนนิยมทำงาน โดยไม่เข้าไปดูแล ทุนจะเอาเปรียบเพื่อเติบโต กสทช.จึงมีหน้าที่ในการเข้าไปดูแลว่า สภาพในการแข่งขันแต่ละเซ็กเมนต์มีความสมบูรณ์หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่หรือตลาดที่ไม่เห็นประโยชน์ ซึ่งผู้ประกอบการจะไม่เข้าไปลงทุน เพราะหากลงทุน 1 บาท จะต้องได้กลับมามากกว่า 1 บาท อาทิ พื้นที่ห่างไกล คนยากคน ผู้ที่ไม่มีโอกาส กสทช.จึงต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น เพราะ กสทช.ทำอยู่แล้ว แต่อยากให้ทำมากกว่านี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

รวมถึงในภาคธุรกิจ ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กสทช.จะต้องช่วยเหลือในการอัพเกรดเทคโนโลยี เพราะบริษัทใหญ่สามารถไปได้แน่ๆ แต่ในส่วนของเอสเอ็มอียังต้องประเมินว่าเงินทุนจะพอหรือไม่ ความรู้จะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะต้องได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากมองว่าหากทุนใหญ่ก้าวหน้าอย่างเดียว แต่ทุนกลางและทุนเล็กไม่ก้าวตาม ประเทศจะไม่แข็งแรง เพราะไม่เกิดการแข่งขัน ทำให้สุดท้ายในอนาคตทุนใหญ่จะเข้ามาเอาเปรียบผู้บริโภค โดยหากมองไปข้างหน้า อยากเห็นกลไกตลาดที่ทำงานดีกว่านี้ อยากเห็นการนำทรัพยากรที่มีกระจายออกต่างจังหวัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสให้คนต่างจังหวัดมากขึ้น

ตลาดทุนเป็นตลาด ทำให้กลไกตลาดมีความสำคัญ กสทช.จึงต้องใช้กลไกตลาดเป็นตัวนำ และทำให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการต่างๆ โดยต้องกำกับดูแลในเชิงปริมาณของผู้เล่นในตลาดแต่ละเซ็กเมนต์ให้มีความเหมาะสม อาทิ อัตราค่าบริการจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค สุดท้ายขณะนี้มีเวทีใหม่ ซึ่ง กสทช.ยังเข้าไปกำกับดูแลไม่ถึง คือ แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งหากเทียบเป็นสื่อใหม่ จะเห็นว่าสื่อเก่าเสียเปรียบออนไลน์ที่เป็นสื่อใหม่ เพราะสื่อเก่าถูกควบคุม แต่สื่อใหม่แทบไม่ได้มีการควบคุม ทำให้เป็นการแข่งขันคนละกติกา การใช้เงินลงทุนต่างกัน จึงต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น

กสทช. หากมาเร็วจะดีกว่ามาช้า เพราะหากมาช้าไป จะทำให้การเดินหน้าทำได้ยาก โดยย้ำว่าระบบสำคัญกว่าคน ซึ่งโครงสร้างของ กสทช.ถูกปรับจากความคิดแรก ที่ต้องการเห็นเป็นองค์กรอิสระ ไม่อิงกับการเมือง แต่ กสทช.โครงสร้างชุดใหม่ ยึดโยงอยู่กับการเมือง เพราะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ความสำคัญขึ้นไปอยู่กับภาครัฐ เพราะรัฐขยายตัวและดึงอำนาจขึ้นไปอยู่กับตัวเอง โดยในช่วงที่ผ่านมา

มีการถกเถียงกันว่า การเมืองไทยไม่นิ่ง มีรัฐบาลผสม ทำให้ไม่มีความแข็งแรง แต่ขณะนี้เรามีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแล้ว อยู่มานาน แม้จะยังมีความผสมอยู่ แต่ไม่เท่าในอดีต จึงมองว่าควรใช้โอกาสนี้ในการผลักดันนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เพราะ กสทช.เป็นหน่วยงานที่เป็นเครื่องมือในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านโทรคมนาคม เพื่อกำกับดูแลผู้เล่นในตลาดให้มีประสิทธิภาพ

รัฐต้องส่งเสริมการนำความรู้ เทคโนโลยี และการดึงคนเก่งๆ เข้ามาอยู่ในประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ที่มีการดึงคนเก่งๆ เข้ามาทำงานในประเทศ ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ได้คนเก่งๆ เข้ามาอยู่ในประเทศ เพราะเชื่อว่าหากมีคนเก่งเข้ามาทำงานในประเทศ ก็จะได้เรียนรู้จากคนเก่งๆ ต่อให้เป็นคนต่างชาติก็ตาม แตกต่างจากประเทศไทย ที่มองว่าหากไม่ใช่คนไทยก็ไม่ได้ ต้องเป็นคนไทยทำและใช้เองเท่านั้น ซึ่งหากเป็นแบบนี้ เราจะก้าวไปข้างหน้าได้ช้าและไม่ทันโลก แต่หากนำคนที่สามารถทำได้ เคยประสบความสำเร็จ หรืออยู่ในองค์กรเฉพาะที่มีศักยภาพระดับโลก ดึงตัวเข้ามาอยู่ในประเทศ ผ่านการให้แรงจูงใจ เพื่อให้ช่วยถ่ายโอนความรู้ให้กับคนในประเทศไทย จะมีความเร็วกว่ามาก

หาก กสทช.มาช้ากว่าที่ควร จะส่งผลกระทบรุนแรง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ที่จะหมดสัญญาในปี 2564 ซึ่งสำนักงาน กสทช.อยู่ในระหว่างการร่างวิธีการจัดสรรวงโคจร ทำให้หากร่างเสร็จแล้ว แต่กรรมการตัวจริงยังไม่มา จะเกิดอะไรขึ้น กรรมการที่รักษาการอยู่จะกล้ารับร่างหรือไม่ โดยหากไม่มีการให้ใบอนุญาตดาวเทียมดวงใหม่ เพื่อสร้างดาวเทียมขึ้นไปใหม่ และถ่ายโอนลูกค้าจากดาวเทียมเก่าสู่ดาวเทียมใหม่ จะสร้างความเสียหายในเชิงธุรกิจ ซึ่งส่วนนี้เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

2.ตลาด 5จี มีผู้เล่นเพียง 2 ราย ได้แก่ ทรูและแอดวานซ์ ที่มีคลื่น 2,600 เมกะเฮิรตซ์ ไม่นับดีแทค เพราะไม่ได้ประมูลคลื่นดังกล่าวไป แต่ดีแทคมีคลื่น 2,300 เมกะเฮิรตซ์ ที่สามารถใช้ทำ 5จี ได้เช่นกัน จึงมองว่า กสทช.น่าจะเข้าไปช่วยเปิดโอกาสให้ดีแทคเข้าสู่ตลาด 5จี เพื่อให้มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากหากมี 2 รายในการทำ 5จี จะมีการแย่งลูกค้ากันไปมา และการรักษาฐานลูกค้าไว้ ทำให้เกิดการทำสงครามการลดราคาขึ้น ซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดี โดยมองว่าต้องทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือก และผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ โดยหากทุกอย่างไม่เป็นตามที่ประเมินไว้ จะส่งผลกระทบต่อหุ้นโทรคมนาคมให้ปรับราคาลงได้

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

เวที‘มติชน’ระดมมุมมอง อยากเห็น7เสือ(เทพ)‘กสทช.’ ‘เจ๋ง-เก่ง-ดี’เร่งสรรหาช่วยกู้ศก.

ประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศที่แข่งขันกับใครไม่ได้ ตอนนี้ต้องคิดอย่างเดียวจะทำอย่างไรประเทศจะมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งกลไกหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยคือ กสทช. ส่วน 7 เสือ ที่จริงต้องเรียกว่า 7 เทพถ้ายังสรรหาคนที่มาเป็นผู้ควบคุม ประเทศไทยจบ ต้องหาคนที่มาเป็นดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบ ว่าในอนาคตเทคโนโลยีอะไรที่จะมาเติมให้คนไทยมีคุณภาพมากขึ้น จะใช้กฎหมายใดในการออกแบบประเทศให้มีคุณภาพ และจะทำอย่างไร ให้สื่อสารมวลชนผลิตเนื้อหาที่คนอยากดู และขอเรื่องหนึ่งคือ ที่บอกว่า ประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตเข้าได้ ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่การทำอย่างไรที่เข้าถึงได้แล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุนมนุษย์ให้ดีขึ้น เป็นเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพ ก่อให้เกิดมิติใหม่ทางด้านนวัตกรรม

แต่ละคนอยากเห็น 7 เสือที่แตกต่างกัน หน้าที่หลักของ กสทช.เป็นบทบาทหนึ่งที่ต้องทำ แต่ความคาดหวัง กสทช. ในการเข้ามาช่วยพัฒนาด้านต่างๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรทำควบคู่ไป เชื่อว่าแต่ละหน่วยงานทำหน้าที่ดีที่สุด มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต ขณะที่อาจารย์มีหน้าที่สอน แต่สังคมคาดหวังอยากเห็นอาจารย์ออกไปช่วยชุมชน พัฒนาเรื่องธุรกิจเอสเอ็มอี ทุกคนอยากเห็นมหาวิทยาลัยทำมากกว่าการเป็นมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกัน คนคาดหวัง กสทช.ทำอะไรที่มากกว่า การดูแลโทรคมนาคม ยกตัวอย่าง เช่น ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหารือกับ กสทช. เป็นที่แรกในการเข้าไปช่วยดูระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนคล่องตัว รวมถึงช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ ในอนาคต ขอย้ำว่า บทบาทหน้าที่หลักของ กสทช.ที่ต้องทำมีความสำคัญ แต่บทบาทอื่นก็ต้องเดินหน้าควบคู่ไปด้วย

บทบาทของ กสทช.ในฐานะนักออกแบบอนาคตประเทศไทย ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1.กสทช.ต้องมีคนที่เก่งที่สุดในโลก เป็นหน่วยงานที่ต้องดึงดูดคนเก่ง เพื่อดูว่าต้องทำอะไรได้บ้าง นอกจากงานในหน้าที่ตามกรอบที่มี 2.ต้องตั้งเป้า ทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น วิสัยทัศน์ที่จะสัมภาษณ์ 7 เสือ ขอให้ถามเรื่อง สถานการณ์ในต่างประเทศด้วย 3.เป็นเรื่องที่สำคัญมาก กสทช.ชุดนี้ต้องมีกุศโลบาย ต้องมีลีลาในการเจรจาให้เกิดดอกผลใหม่ๆ กับหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับภาคเอกชน ที่เข้ามาช่วยทำงาน และข้อ 4.ต้องส่งเสียงถึงรัฐบาลและสภาว่า กฎหมายใดที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความล้าหลัง เพื่อให้เกิดการแก้ไข สามารถพัฒนาให้ประเทศสามารถแข่งขันได้

ประเทศไทยมาถึงจุดที่ทำให้รู้สึกถึงความไม่ไว้วางใจ ต่อให้เรามีกฎหมายที่ดี แต่ถ้าคนยังไม่มีพื้นฐานที่ดีพอ ก็จะมีปัญหา สำหรับการเป็น 7 เสือ 7 เทพ กสทช. การได้เข้ามาตรงนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ อยากให้มีพร้อม เข้ามาในฐานะผู้นำคนไทยที่จะพาประเทศไปสู่การแข่งขัน อยากเห็นผู้นำสมัยใหม่ ต้องมีความเป็นดิสรัปชั่น มองไปที่อนาคต เชื่อว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงแน่นอน

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เวที‘มติชน’ระดมมุมมอง อยากเห็น7เสือ(เทพ)‘กสทช.’ ‘เจ๋ง-เก่ง-ดี’เร่งสรรหาช่วยกู้ศก.

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นั้น อีกหนึ่งคำย่ออยากเรียกว่า “กรุณาสรรหาให้ทันใช้” เพราะคณะกรรมการก่อนหน้านี้อยู่ยาวนานมากกว่า 8-9 ปี มองว่าเป็นเรื่องที่ คสช.ทำผิดพลาด ในการใช้มาตรา 44 ทั้งที่มี พ.ร.บ.กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ คสช.ยังต่ออายุ เป็นการต่ออายุแบบปลายเปิดด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนในวงการต่างๆ โดยเฉพาะผู้กำหนดกติกาเหมือนอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง หรือกลุ่มทุน ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือหายไป

ช่วงนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ อาจจะส่งผลให้ ส.ว.ต้องสรรหาใหม่ ความไม่แน่นอนแบบนี้ ยังคงอยู่ต่อไปและระหว่างความไม่แน่นอนนี้ หาก กสทช.ชุดปัจจุบันดำเนินงานไปเรื่อยๆ ก็มีหลายอย่าง ที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่ง อาทิ การขยายเวลาทดลองใช้วิทยุ อย่างวิทยุชุมชน และวิทยุธุรกิจ ในส่วนนี้ควรเอามาประมูลให้เป็นเรื่องเป็นราวไปตั้งนานแล้ว

ฉะนั้น หากถามว่าคำย่อ กสทช.ย่อมาจากอะไร ตัวที่สำคัญกว่า “กรุณาสรรหาให้ทันใช้” คือ กรุณาสรรหาท่านที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ มุมมองจากหลายฝ่ายอยากเห็น กสทช.มีวิสัยทัศน์ที่หลากหลาย ทั้งเป็นดีไซเนอร์ หรือทำงานในเชิงรุกมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากทำได้ก็ดี แต่หน้าที่พื้นฐานของ กสทช.คือ องค์กำกับดูแล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย งานพื้นฐานตรงนี้คือเรื่องที่สำคัญที่สุด ยกตัวอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นองค์กรกำกับดูแล ที่ทำนโยบายการเงิน และทำหน้าที่กำกับสถาบันการเงิน หรือการกำกับระบบชำระเงิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องการความรู้และทักษะสูงมาก ต้องการองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่ง ธปท.เคยสูญเสียความน่าเชื่อถือครั้งใหญ่ไป ในช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะช่วงนั้นการทำงานไม่ทันสมัยพอ กำกับทางการเงินผิดพลาด ใช้เวลาฟื้นฟูปัญหากว่า 20 ปี จึงกลับมาเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ

ส่วนเรื่องการกำกับดูแลราคาว่าต้องกำหนดอย่างไร เพื่อให้ตลาดแข่งขันอย่างธรรมชาติ ของแบบนี้ต้องมีการร่ำเรียน หาก กสทช.จะทำอะไรนอกเหนือจากนี้ก็สามารถทำได้ไม่ได้ปิดกั้น แต่ควรทำหน้าที่พื้นฐานให้แน่นก่อน โดยทำให้เกิดความมั่นใจ มีความโปร่งใส มีเหตุมีผล และทำนายได้ก่อน ทุกคนรู้ว่านับจากนี้อีก 2-5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อวางแผนธุรกิจ อาทิ การประมูลคลื่น 5จี ที่เหลืออยู่จะได้ประมูลเมื่อไหร่ มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเหมือนปริศนา เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมล่วงหน้า หากไม่มีการวางแผนจะทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีไม่ได้ สิ่งนี้คือหัวใจของการกำกับดูแล

พื้นฐานหน้าที่ กสทช. คือ การออกกติกาให้โปร่งใส ทำนายได้ และกำกับดูแลให้เป็นแบบนั้นจริง ยกตัวอย่าง เป็นโจทย์ที่ กสทช.ชุดใหม่ต้องเข้ามาดำเนินการ ซึ่งสามารถทำได้ด้วย ถ้าต้องการจะทำจริงๆ เพราะหลายคนเป็นบุคคลที่มีความสามารถ อาทิ กสทช.อนุญาตให้ย้ายค่ายเบอร์เดิมได้ เพราะถ้าจะย้ายค่ายแล้วเปลี่ยนเบอร์ อาจมีปัญหาในเรื่องการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ได้ เฉพาะกับคนทำมาหากิน ซึ่งการเปลี่ยนค่ายเบอร์เดิมทำได้น้อยมาก เนื่องจากขั้นตอนยุ่งยาก ฉะนั้นการกำกับดูแล จึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง และเรื่องข้อความรบกวน ซึ่งมีการกำกับดูแลแล้ว แต่ในข้อกฎหมายต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ควรนำผู้ที่โฆษณาเกินจริง มาถูกลงโทษก่อน ซึ่งการสร้างการแข่งขันเป็นอีกเรื่องที่ กสทช.ยังทำได้ไม่ดี

อีกประเด็น เรื่องชัดเจนในอนาคต อย่างไทยคมจะได้วงโคจรหรือไม่ได้วงโคจร เรื่อง 5จี จะเป็นอย่างไรต่อไป แบบตรงไปตรงมา หากย้อนกลับมาสู่มาตรฐาน คือ การกำกับดูแล เรื่องความโปร่งใส และการคาดการณ์ได้ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นอย่าคาดหวัง 7 เสือ กสทช. อะไรมากมาย คาดหวังน้อยที่สุด เพียงต้องการอยากให้ทำหน้าที่พื้นฐานให้ดีที่สุด อย่างตรงไปตรงมา แค่นี้ประชาชนคนไทยจะขอบคุณอย่างยิ่ง

สืบศักดิ์ สืบภักดี
กรรมการบริหารและเลขาธิการ
สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.)

เวที‘มติชน’ระดมมุมมอง อยากเห็น7เสือ(เทพ)‘กสทช.’ ‘เจ๋ง-เก่ง-ดี’เร่งสรรหาช่วยกู้ศก.

สิ่งที่เรากำลังพูดถึง คือ การวางกลยุทธ์ของชาติ อยากเห็นอนาคตของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดี ดังนั้น การเลือกกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ จึงมีความคาดหวังอย่างมากจากหลายภาคส่วน

ในอดีตเราอาจคาดหวังการทำงานของ กสทช. โดยเฉพาะ กสทช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งได้รับการต่ออายุ เราต้องมองว่าบริบทของประเทศ บริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือแม้แต่เราที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ลองนึกถึงสภาพของ กสทช.ชุดนี้ที่อยู่ในตำแหน่งมาเกือบ 9 ปี ซึ่งในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา เราผ่านอะไรกันมาเยอะมาก โดยความเป็นจริง กสทช.อาจไม่มีโอกาสได้ทำในหลายเรื่อง ซึ่งมีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ

ตัวอย่าง กสทช.ชุดปัจจุบัน เข้ามาในช่วงที่เราต้องการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอย่างมาก โทรศัพท์มือถือในยุคที่ กสทช.เข้ามา รองรับระบบ 3จี แล้ว แต่ในบ้านเรายังไม่สามารถใช้งานได้ เพราะยังไม่มีคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ให้บริการ ทำให้ประเทศเสียโอกาสในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ เราเข้าสู่ตลาด 3จี ช้ากว่าประเทศอื่นในโลกประมาณ 10-12 ปี ถือว่าเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงมาก และเป็นเรื่องที่ กสทช.ต้องแก้ไขปัญหา โดยภารกิจของ กสทช.ชุดปัจจุบัน คือ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์อย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถเข้าสู่ตลาด 3จี จากนั้นจึงพัฒนาสู่ระบบ 4จี และ 5จี

แต่ทั้งหมดนี้มองว่าภารกิจของกรรมการ กสทช. ไม่ได้มีแค่เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ ยังมีภารกิจหลายเรื่อง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม กิจการโทรทัศน์ ซึ่งตลอดระยะเวลา 20-40 ปี เรามีจำนวนช่องโทรทัศน์ไม่มาก กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันก็เป็นผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล จากการจัดการประมูลใบอนุญาต รวมถึงการวางแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี และบริบทบางอย่างที่ยังติดขัดให้สามารถดำเนินการได้

ถ้าให้คะแนนกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน สอบผ่านจนเกือบได้คะแนนเต็มโดยอยู่ที่ 8-9 คะแนน เต็ม 10 คะแนน แต่ภารกิจส่วนใหญ่ของ กสทช.ชุดปัจจุบัน เป็นลักษณะของการตามแก้ปัญหา คือวิ่งตามปัญหา ตัวอย่าง ตั้งแต่เริ่มเข้ามามีปัญหาที่ค้างคาอยู่ กสทช.ชุดนี้เข้ามาทำให้ปัญหาทะลุไป ตลอดระยะเวลาการดำเนินการ กฎระเบียบหลายตัวไม่ได้สอดรับกับเทคโนโลยี

แต่สิ่งที่ กสทช.พยายามทำคือ พยายามปรับกฎระเบียบเหล่านั้นให้สามารถรองรับเทคโนโลยีได้ ปรับปรุงความถี่ แต่กฎระเบียบบางอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพราะ พ.ร.บ.หลักเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคม เป็น พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม ปี 2498 แต่ถามว่าการเปลี่ยน พ.ร.บ. เป็นเรื่องใหญ่หรือไม่ แต่เทคโนโลยีบางอย่างไปไกล และไปเร็วกว่ายุค 2498 อยู่เยอะ สิ่งที่ทำได้คือมีการปรับแก้ในส่วนที่ติดขัด เพื่อทำให้ประเทศสามารถเดินต่อไปได้ ฉะนั้นถือว่าการแก้ไขปัญหาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำ

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือสิ่งที่เราคาดหวัง คือ กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ เข้ามาจะไม่ใช่ชุดที่เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา หากมองว่าปัญหามี 100% กสทช.ชุดปัจจุบันสามารถแก้ไขไปได้ 70-80% แต่การแก้ไขเป็นแบบไม่ยั่งยืน เป็นการแก้เพื่อเอาตัวรอด ขัดตาทัพเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ก่อน หรือในเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งจัดการประมูลใน กสทช.ชุดนี้ จำนวนมาก ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 700, 800, 900, 1800, 2100, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ แต่ยังมีคลื่นความถี่ที่ยังรอการจัดสรรอยู่ ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 800, 900, 2300 และ 3500 เมกะเฮิรตซ์ หรือแม้แต่คลื่นความถี่ย่านสูง และนอกจากนี้ยังมีคลื่นความถี่ที่เรียกคืนมาจากรัฐวิสาหกิจในปี 2568

สำหรับกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ อยากเห็น กสทช.ที่มีความคิดกว้างไกล เช่นในยุคของ 5จี เราเรียกชุดของคลื่นความถี่ที่นำมาใช้ว่า นิวเรดิโอ ดังนั้น กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ต้องมีนิววิชั่น ไม่ใช่แค่ตามแก้ไขปัญหา แต่เข้ามาสามารถมองภาพไปถึงอนาคตได้ชัดเจนว่า เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีสื่อสาร โทรคมนาคม อะไรบ้างที่จะเป็นโครสร้างหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และทำเรื่องเหล่านั้นออกมาเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เชิงรุก ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เข้ามารองรับคลื่นความถี่อื่นๆ แล้วจึงค่อยเปิดรับฟังความคิดเห็น ไปแก้กฎเกณฑ์เพื่อให้รองรับ แต่จริงๆ ต้องมองไปข้างหน้าว่า 5-10 ปีจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรที่ยังเป็นข้อติดขัดของกฎระเบียบเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคม การทำธุรกิจ รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศ และทำสิ่งเหล่านั้นให้ออกมา เพื่อให้เห็นว่าองค์กรกำกับดูแลของประเทศไทยมีความคิดเชิงรุก

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีกับทุกภาคส่วนมีความเกี่ยวเนื่องกัน ทั้งฝั่งของอุตสาหกรรม ฝั่งตลาดทุน หรือแม้แต่ภาคการเงิน จะเห็นว่าเทคโนโลยีที่วัดความสามารถในการแข่งขัน หรือสิ่งที่บอกว่าประเทศเราจะสามารถแข่งขันได้หรือไม่ในยุคต่อจากนี้ ขึ้นอยู่กับกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ทั้ง 7 คน จะทำให้ประเทศ ที่ผ่านมาที่บอกว่า กสทช.เป็นฝ่ายตั้งรับ ไม่ได้เป็นเชิงรุก หรือแม้แต่เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีระบบ 5จี แต่ที่สุดแล้วภารกิจยังไม่จบ สิ่งที่ต้องก้าวไปมากกว่านี้คือ ต้องสร้างความเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่น และที่สำคัญคือการเก็บอาวุธ ซึ่งอาวุธในยุคหน้า ไม่ใช่เรือดำน้ำ ไม่ใช่ปืนใหญ่ ไม่ใช่จรวดมิสไซล์ แต่คือเทคโนโลยี ฉะนั้นจึงต้องถามว่าแล้วตอนนี้เรามีแล้วหรือยัง จริงอยู่ว่า ตอนนี้เราอาจจะพอมีอาวุธ มองในคงคลังก็พอไหว เมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่มีอาวุธ แต่ว่ามันยังไม่พอ

ที่จริงบ้านเรามีคนเก่งๆ เยอะมาก ประสบความสำเร็จและได้เป็นยูนิคอร์น แต่ไม่ได้อยู่ในประเทศ เพราะต้องติดกับข้อบังคับบางอย่าง ฉะนั้น เราจึงต้องลงไปดูว่า อะไรที่เป็นข้อติดขัด หรือเรายังติดขัดระเบียบข้อบังคับของเราเองอยู่หรือไม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เรามีความเกี่ยวเนื่องกัน ให้สามารถดำเนินการต่อไปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ หลังจากนั้นรับตำแหน่ง และเข้าทำงาน ต้องทำงานในทันทีโดยไม่มีช่วงให้ได้ทดลองงาน เวทีแห่งนี้ไม่มีพี่เลี้ยง เพราะสิ่งต่างๆ ที่รออยู่ในอนาคต บางอย่างรอไม่ได้ เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก

ที่สำคัญ เราอยากเห็นการทำงานร่วมกันของ กสทช.ทั้ง 7 คน จากผู้สมัครทั้ง 80 คน ซึ่งส่วนตัวอ่านข้อมูลมาทั้งหมดแล้ว เห็นว่าเจ๋งทุกคน เก่งทุกคน เชี่ยวชาญทุกคน แต่จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราเอาผู้ที่เก่งทุกด้าน 7 คนมานั่งรวมกัน แล้วทำงานด้วยกันไม่ได้ ซึ่งที่สุดแล้วเราจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นความถี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการโทรทัศน์ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย หรือแม้กระทั่งด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเอาความสามารถของผู้ที่เก่งที่สุด 7 คน ที่ว่าเป็นเทพทั้ง 7 ด้าน มาพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีโทรคมนาคม พัฒนาทั้งความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image