“กมธ.คมนาคมสภาฯ” เห็นแย้งต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชี้ “กทม.” แจงค่าโดยสาร 65 บาทอ้างปชช.รับได้ เหตุผลฟังไม่ขึ้น
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม แถลงความคืบหน้าการประชุมกรณีการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ในที่ประชุมกมธ.ได้เรียก กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าชี้แจงให้ข้อมูลรายละเอียดการต่ออายุสัมปทาน และเหตุผลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่ให้ผ่าน โดยกมธ.เห็นว่าเป็นข้อมูลที่ยังขัดแย้งและไม่ตรงกัน โดยเฉพาะประเด็นคำถามเรื่องอัตราค่าโดยสารที่สูงถึง 65 บาท ว่าใช้ฐานข้อมูลอะไรในการคิด กทม.ได้ชี้แจงโดยอ้างว่า ประชาชนสามารถรับภาระนี้ได้ เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ทั้งยังพบปัญหาเรื่องค่าตั๋วร่วมที่ต้องมีการบูรณาการให้เป็นไปตามมาตรฐาน และลดค่าแรกเข้าของระบบคมนาคมทุกสายที่ไม่ต้องเสีย แต่กลับยกเว้นสายสีเขียว
ย้อนอ่าน : ‘สามารถ’ เทียบชัดๆ ขยายสัมปทาน สายสีเขียว-สีน้ำเงิน ใครได้ใครเสีย?
ย้อนอ่าน : ‘ธีรัจชัย’ อัด รบ.หากต่อสัมปทานบีทีเอส 30 ปี ไม่ละทิ้งนิสัยเดิม คสช. หมางเมิน ปชช.
“ที่ประชุมจึงสอบถามว่า ทำไมถึงมีการจัดการที่ไม่เหมือนสายอื่น โดยกทม.ได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ได้ จึงต้องขอร่วมกับเอกชน ซึ่งความเป็นจริงระบบขนส่งสาธารณะ รัฐต้องแบกรับทั้งหมดและหาเงินทุนให้ กมธ.จึงสอบถามไปยังกระทรวงการคลังว่าเหตุใดรัฐไม่แบกรับภาระรถไฟฟ้าสายสีเขียว และหาแหล่งเงินกู้ให้กทม. ซึ่งภายใน 9 ปี หากแบ่งเป็นปีละ 5 พันล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียวก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ทำไมต้องนำไปให้เอกชนลงทุน ทำไมไม่ลงทุนเอง ทั้งที่เป็นสายหลักที่วิ่งผ่านใจกลางเมือง แต่กทม.ยังชี้แจงกลับมาไม่ชัดเจน และยังเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน”
นายโสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ กมธ.ยังได้สอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่องการแก้ไขสัญญาที่เป็นสาระสำคัญ และเป็นไปตามคำสั่งคสช. มาตรา 44 ให้เอกชนดำเนินการ 30 ปี ทำให้เหมือนเกิดสัญญาใหม่ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม กมธ.เห็นว่า ข้อมูลที่ชี้แจงยังไม่สมเหตุสมผลในการต่อสัมปทาน โดยเฉพาะผู้ชี้แจงทางกทม.ได้ให้ข้อมูลมาไม่ครบถ้วน และไม่ตรงประเด็น กมธ.จึงยังเห็นว่าไม่ควรต่อสัญญา โดยจะรอให้กทม.ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง
“เราอย่ายกของดีให้เอกชน รัฐต้องเป็นฝ่ายเก็บเอาสิ่งดีๆให้ประชาชน ส่วนของไม่ดีนั้น ให้อยู่ที่ข้อตกลง ผมยังไม่เห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ มีแต่ภาระให้ประชาชน การที่จะแก้ไขปัญหาโดยให้เอกชนแบกรับภาระหนี้ ถามว่า ทำไมรัฐไม่แบกรับภาระหนี้เอง แล้วให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นของกทม.” นายโสภณ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ประชุมกนง. 16 ต.ค.นี้ คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%
- จุฬาฯ ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะและจัดพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันนวมินทรมหาราช
- มาเลเซีย จ่อเป็นชาติรายได้สูง ในอีก 4 ปี เผย ก่อนโควิด19 เศรษฐกิจ เติบโตถึง 12%
- เหยื่อดิไอคอนกรุ๊ป พุ่ง 630 ราย เสียหาย 228 ล้าน ผบ.ตร.สั่งตรวจสอบทุกมิติหลังสะพัด ตร.นั่งแท่นโค้ช