วิเคราะห์ : ‘บิ๊กตู่’-ราษฎร ช่วงชิง ชอบธรรม การเมือง ยังเดือด

การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับม็อบราษฎรยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวี่แววว่าจะยุติ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ ประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา

พร้อมๆ กับมีกลุ่มคนเรียกร้องให้ใช้ มาตรา 112 ด้วย

หลังจากนั้น ประเด็นมาตรา 112 ก็กลายเป็นหัวข้อของการวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง

Advertisement

ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

ภายในประเทศ เกิดมีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 ออกมาแสดงความคิดเห็น

ล่าสุดคือ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ที่ปราศรัยในม็อบราษฎร

Advertisement

ภายนอกประเทศ มีแถลงการณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างประเทศแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

สุดท้าย แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาชี้แจงว่า การให้ดำเนินการดังกล่าว เพราะหากไปขัดขวาง ตัวเขาจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขัดมาตรา 157

แต่ดูเหมือนทุกๆ ขั้นตอน ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ท่ามกลางสายตาที่จับจ้อง

แม้ตำรวจจะขอออกหมายจับ แต่ศาลบอกให้ออกหมายเรียกตามขั้นตอน

ดั่งที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับแกนนำม็อบ 12 คน

น่าสังเกตว่าความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม และฝ่ายรัฐบาล ต่างช่วงชิง “ความชอบธรรม”

ม็อบราษฎร ประกาศข้อเรียกร้องไปแล้ว และนัดชุมนุมกันเป็นระยะ เพื่อผลักดันให้ข้อเรียกร้องเป็นจริง

ฝ่ายรัฐบาล ประกาศใช้กฎหมาย และยืนยันเรื่องปฏิบัติการว่า เป็นไปตามหลักสากล

ทุกครั้งที่ม็อบราษฎรเคลื่อนไหว ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมอย่าใช้ความรุนแรง และเมื่อมีเค้าความรุนแรง จะย้ายการชุมนุม

การชุมนุมจึงเป็นการมารวมตัวกันเพื่ออภิปรายเหตุผลในการเรียกร้องรัฐบาล การชุมนุมไม่ปักหลักยืดเยื้อ และใช้กิจกรรมอธิบายข้อเรียกร้องให้สังคมไทยรับทราบ

ส่วนฝ่ายรัฐบาล ย้ำในหลักกฎหมาย เน้นการออกหมายจับ และลงโทษผู้ประกอบการรับจ้างที่กลุ่มผู้ชุมนุมจ้างให้มาติดเครื่องเสียง ตั้งเวที และอื่นๆ

ล่าสุดมีความพยายามเอาผิดกับคูปองเป็ดแลกซื้อสินค้าจาก “ซีไอเอ” รถขายของ

ขณะเดียวกัน แนวร่วมฝ่ายรัฐบาล ได้กระจายข่าวกล่าวหาม็อบมีเบื้องหลัง พุ่งเป้าไปที่พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง รวมไปถึงประเทศมหาอำนาจ

ในสังคมออนไลน์ปรากฏบทวิเคราะห์ ตั้งข้อกล่าวหา รวมทั้งโจมตีแกนนำม็อบอยู่เนืองๆ

แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ตอบโต้ ด้วยภาพ คลิป และเอกสาร เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ

ล่าสุด ในสังคมออนไลน์ ปรากฏภาพและเนื้อหาเอกสารที่ฝ่ายราชการจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการจิตวิทยา หรือ IO

ภารกิจที่เอกสารระบุ คือ การโพสต์ข้อความลงในโลกออนไลน์ ผ่านทางช่องทางต่างๆ อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นต้น

ล่าสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. สั่งการให้หน่วยงานที่มีชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารเป็นผู้ชี้แจง

การต่อสู้กันในด้านข่าวสารยังคงเป็นไปอย่างดุเดือด

เพื่อช่วงชิงความชอบธรรม

มองไปถึงความเคลื่อนไหวในรัฐสภา เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้รัฐสภาจะผ่านวาระ 1 รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เน้นแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา แต่ระหว่างทาง รัฐสภาได้ตีตกร่างฉบับประชาชนที่ไอลอว์ล่าชื่อประชาชนร่วมแสนมานำเสนอ

การไม่รับร่างฉบับประชาชน ประกอบกับการใช้กำลังเจ้าหน้าที่สกัดม็อบราษฎรไปยังรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน

ใช้รถน้ำแรงดันสูง ใช้แก๊สน้ำตา ใช้กำลังตำรวจ และที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ม็อบราษฎรกับคนใส่เสื้อเหลืองปะทะกัน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

แรกๆ มีข่าวว่า มีผู้ถูกยิง 6 คน ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาตำรวจให้ข่าวว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นกลุ่มคนที่ใส่เสื้อเหลือง 1 คน และม็อบราษฎร 1 คน

ภายหลัง นพ.ทศพร เสรีรักษ์ จากพรรคเพื่อไทย นำฝ่ายม็อบราษฎรออกมาแถลงข่าว

วันที่ 18 พฤศจิกายน มีการชุมนุมอีกครั้งที่แยกราชประสงค์

นำไปสู่การสาดสี ฉีดน้ำด้วยปืนฉีดน้ำ และห่อผ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หลังจากนั้นนัดรวมตัวกันเพื่อไปสำนักทรัพย์สินฯ แต่เปลี่ยนใจไปรวมพลกันที่เอสซีบี สำนักงานใหญ่

การประชุมครั้งนั้น ส.ศิวรักษ์ ได้ไปร่วม และประกาศขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

การชุมนุมครั้งนี้ก็เกิดเหตุร้าย เมื่อมีผู้ใช้ปืนยิงในม็อบ และถูกกลุ่มผู้ชุมนุมรวบตัวเอาไว้ได้

ตำรวจให้ข่าวว่าเป็นกลุ่มอาชีวะทะเลาะกัน

แต่การ์ดม็อบราษฎรยืนยันว่า คนยิงไม่ใช่การ์ดม็อบ

การเมืองในขณะนี้จึงขับเคี่ยวกันด้วยความชอบธรรม ม็อบกลุ่มราษฎรยืนยันว่า การยึดอำนาจเมื่อปี 2557 เรื่อยมาจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นเป็นเผด็จการ

การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ก็เป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อมุ่งหวังให้เกิดผลแต่เฉพาะ “คนเห็นต่าง” ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็เกิดมาจากเจ้าหน้าที่ และมีความพยายามที่จะสร้างสถานการณ์ในการชุมนุม

เมื่อม็อบกลุ่มราษฎรคิดเช่นนี้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แถลงการณ์ใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา คิดเช่นนั้น

ความคาดหวังที่จะทำให้เกิดสมานฉันท์จึงมีปัญหา

เป็นปัญหาไปจนกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาบังคับใช้ จะยอมเลิกรา

เป็นปัญหาไปจนกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะถูกยกเลิก โดยมีการยกร่างขึ้นใหม่โดยประชาชนมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วม

เมื่อถึงเวลานั้น ความไว้วางใจจะเกิดขึ้น

ดังนั้น ในห้วงเวลาที่ทั้ง 2 ประการยังไม่มีท่าทีว่าจะเกิด การเมืองก็ยังเดือดเช่นนี้กันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image