เริ่มแล้ว ถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ‘วิษณุ’ แจงออก กม.สอดคล้อง รธน. ‘จิรายุ’ ห่วงคำถามพ่วงเจอยัดไส้

เริ่มแล้ว ถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ‘วิษณุ’ แจง ออกกฎหมายให้สอดคล้อง รธน. ด้าน ‘นิกร’ จี้ถามรับฟังความเห็นอย่างไร เหตุใด ปชช.ไม่มีตอบกลับมาเลย ‘จิรายุ’ ห่วงคำถามพ่วงแบบซ่อนกลยัดไส้ ขณะที่ ‘ก้าวไกล’ ผิดหวัง ชี้กฎหมายล้าหลัง เอาของเดิมมาย้อมแมวหลอก ปชช.

เมื่อเวลา 12.20 น.วันที่ 1 ธันวาคม ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … วาระที่ 1 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่าเป็นร่างที่สำนักงาน กกต.จัดทำขึ้นเนื่องจากอยู่ในอำนาจหน้าที่และได้เสนอมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.ได้ดำเนินการตามกระบวนการ คือขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ซึ่งได้ดำเนินการอยู่หลายครั้ง หลายขั้นตอน ทั้งในชั้นของสำนักงาน กกต. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเมื่อมีการพิจารณาเสร็จแล้ว ส่งจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปให้สำนักงาน กกต.ตรวจสอบ ก็ได้มีการรับฟังความคิดเห็นซ้ำอีกครั้ง รวมแล้ว 3 ขั้นตอน จึงได้มีการนำเสนอมายังรัฐสภาแห่งนี้ โดย ครม.มีความเห็นตามรัฐธรรมนูญ 270 ว่าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เป็นการดำเนินการตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หลักการคือให้มีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

นายวิษณุชี้แจงต่อว่า เหตุผลคือเป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับนี้ เดิมเรามีกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับ แต่เนื่องจาก พ.ร.ป.ดังกล่าวเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ออกตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไป บทบัญญัติเปลี่ยนแปลงไป หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จึงไม่อาจนำ พ.ร.ป.ฉบับปี 2552 มาใช้ต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องจัดทำกฎหมายขึ้นมาใหม่

นายวิษณุชี้แจงว่า โดยกฎหมายที่ได้จัดทำขึ้นนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ถือว่าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เหมือนฉบับก่อน เป็นเพียงร่าง พ.ร.บ. แต่ ครม.เห็นว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศตามที่ได้มีการสอบถามความเห็นไปยังคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะชุดที่รับผิดชอบฝ่ายการเมือง ซึ่งเสนอความเห็นกลับไปยังรัฐบาลว่าเป็นการออกกฎหมายที่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ จึงนำเสนอมายังที่ประชุมรัฐสภา

Advertisement

จากนั้นเปิดให้สมาชิกได้อภิปราย โดยนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า ก่อนที่จะเข้าเนื้อหา มีข้อสังเกตว่าการรับฟังความเห็นของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ดูเหมือนจะมีปัญหา โดยมีการรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน และมีการรับฟังความเห็นหลายครั้ง แต่ปรากฏว่าผลที่ออกมาไม่มีความเห็นเลย ทุกมาตราไม่มีความเห็นกลับมาเลย จึงอยากสอบถามว่ารับฟังกันอย่างไร และการทำประชามติเป็นเรื่องของประชาชน เหตุใดประชาชนจึงไม่มีความเห็นเลย จึงคิดว่าตรงนี้มีปัญหา สำหรับเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่จำกัดอยู่เฉพาะฝ่ายบริหาร เห็นว่าควรสนับสนุนฝ่ายประชาชนในการริเริ่มตัดสินใจทางตรงอย่างแท้จริง หรือเพิ่มอำนาจตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติในการริเริ่มจัดทำประชามติ เพราะเป็นกฎหมายที่ออกเสียงทำประชามติอย่างแคบมาก คือให้อำนาจ ครม.เป็นผู้ริเริ่ม

นายนิกรอภิปรายต่อว่า ตนขอเสนอเป็นหลักการว่า ให้กรรมาธิการที่จะตั้งขึ้นปรับปรุงร่างกฎหมายออกเสียงประชามติในวาระ 2 ที่จะมีขึ้น โดยอยากให้ออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนมีสิทธิริเริ่มในการทำประชามติตามหลักประชาธิปไตยทางตรงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชน หรือเพิ่มอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติให้ ส.ส.หรือ ส.ว.มีอำนาจในการริเริ่มทำประชามติในประเด็นสำคัญต่อประเทศตามสมควร

ต่อมา พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มีเนื้อหา 4 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ผลพวงของการทำประชามติที่ผ่านมา มีการปกปิด ปิดหู ปิดตา 2.บทบัญญัติทั้ง 66 มาตรา ที่ปรากฏในหลักการไม่ครอบคลุมในการใช้ เพราะการทำประชามติต้องทั่วถึง ครอบคลุมทุกมิติ ต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ ต้องเป็นกฎหมายสนับสนุนอำนวยความสะดวกประชาชน 3.การรณรงค์ของประชาชนผู้มีสิทธิและรักประชาธิปไตยต้องทำได้ รวมถึงตลอดการประกาศผลประชามติต้องโปร่งใสด้วย 4.ร่างนี้มุ่งที่จะควบคุมและลงโทษประชาชนในความผิดต่างๆ แต่ไม่ครบถ้วน เพราะร่างนี้ไม่มีบทลงโทษ กกต.เลย หรือเจ้าหน้าที่จัดในเชิงนโยบายหรือมติเลย

Advertisement

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติใครๆ ก็ต้องเห็นด้วย เพราะอยากให้มีการถามความเห็น แต่ถ้าไส้ในซ่อนอะไรบางอย่าง ประชาชนก็ควรรับรู้เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ มองว่าหากรัฐธรรมนูญ’60 ดีจริง สถานการณ์บ้านเมืองไม่เดินทางมาถึงวันนี้แน่นอน และถ้าสถานการณ์ของรัฐธรรมนูญ’60 ดีจริง การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คงไม่ตกที่นั่งลำบากเหมือนทุกวันนี้

นายจิรายุกล่าวว่า หวังว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้จะไม่สอดไส้ แยบยล ซ่อนกล นนทกาล เหมือนการทำประชามติเดือนสิงหาคม ปี 2559 ที่มีคำถามพ่วงให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีภายในเวลา 5 ปี อย่ายัดไส้คำถามพ่วงเข้ามาในประชามติ รวมถึงเรื่องการรณรงค์ประชามติจะต้องทำได้ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขใหม่ ไม่ใช่ให้ทำได้เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ขณะที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าผิดหวัง ล้าหลัง ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ส่วนใหญ่เอาของเดิมที่มีปัญหามาย้อมแมวหลอกประชาชน ดังนั้น ใครจะมั่นใจว่า การทำประชามติจะไม่ซ้ำรอยเกิดความวุ่นวายเหมือนที่ผ่านมา

“การทำประชามติรัฐต้องไม่ทำตัวเป็นผู้เล่น แต่ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นได้อย่างอิสระ เพื่อไปสู่การทำประชามติที่แท้จริง ไม่ใช่ไปชี้นำ และที่น่าสงสัยคือ เหตุใดร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ เป็นเพราะรัฐบาลกลัวกฎหมายจะไม่ผ่านหรือไม่ จึงต้องนำ ส.ว.มาเป็นส่วนร่วม แสดงว่าไม่ไว้วางใจ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนหรือไม่” นายจิรัฏฐ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image