เยาวชน มึน ‘สมัคร’ ชิมไปบ่นไป พ้นนายกฯ อ่านคำพิพากษาโชว์หน้าซาเล้ง
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ห้าแยกลาดพร้าว เวลาประมาณ 17.40 น. บริเวณวงปราศรัยย่อยซาเล้งแดง ตรงข้ามธนาคารกรุงเทพฯ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเยาวชนรายหนึ่ง กล่าวย้อนอดีตคำพิพากษาศาลกรณีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นพิธีกรในรายการโทรทัศน์ ‘ชิมไปบ่นไป’ ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2551 ตามที่มีผู้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด หากมีการกระทำตามมาตรานี้ จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)
โดยในครั้งนั้น มีคำตัดสินว่า พยานหลักฐานทั้งหมดมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า นายสมัคร ทำหน้าที่พิธีกรในรายการดังกล่าว หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยผู้ถูกร้องยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องเป็นพิธีกรให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการรับจ้างการทำงานตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 แล้ว กรณีถือได้ว่าผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267
จากนั้น นายกานต์นิธิ ลิ้มเจริญ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ปราศรัยในประเด็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญ และที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการ และปัญหาที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยต้องประสบ โดยมีปมปัญหาที่สะสมมานานแต่ไม่ได้รับการแก้ไข
นายกานต์นิธิ กล่าวว่า ตนขอชวนให้ข้าราชการที่เลิกงานแล้ว เปลี่ยนชุดเครื่องแบบ แล้วมาร่วมชุมนุมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า