นักวิชาการรธน. ชี้ คำวินิจฉัยคดีบ้านพักทหาร ยังขาดความชัดเจน-ตรวจสอบไม่ครบถ้วนตามหลักการ

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการรัฐธรรมนูญ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ คำวินิจฉัยคดีบ้านพักทหาร ยังขาดความชัดเจน ตรวจสอบไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะประเด็นพฤติกรรมนายกฯ ในประเด็นการขัดกันของผลประโยชน์

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความแสดงความเห็นกรณีคำวินิจฉัยปมบ้านพักทหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกษียณอายุมาแล้วเป็นเวลานาน ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมติศาลรัฐธรรมนูญเป็นเอกฉันท์ ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุว่า

มีหลายท่านถามความเห็นผมเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี “บ้านพักทหาร” ของนายกรัฐมนตรีว่ามีคิดเห็นอย่างไร ในเบื้องต้นนั้นคงต้องรออ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน

อย่างไรก็ดี จากที่ฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญประกอบกับที่สื่อต่างๆ มีการสรุปคำวินิจฉัยมา ด้วยความเคารพต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ผมเห็นว่าคำวินิจฉัยนี้อาจยังไม่มีความชัดเจนมากนัก

Advertisement

กล่าวคือ “หากพิเคราะห์ตามโครงสร้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” จะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นไปตรวจสอบเพียงว่า การที่นายกรัฐมนตรีอยู่บ้านพักรับรองที่กองทัพบกจัดเตรียมไว้ให้พร้อมออกค่าน้ำค่าไฟให้นั้น เป็นกรณีที่กองทัพ “ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ” หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะเข้าข้อยกเว้นไม่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตาม ม.๑๘๔ (๓) ซึ่งท้ายที่สุด ท่านห็นว่าเป็นเรื่องที่กองทัพปฏิบัติกับอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอันจะส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

แต่ต้องไม่ลืมว่า กรณีบ้านพักทหารนี้เป็นกรณีที่กำลังกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีมีพฤติกรรมของ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” (Conflict of Interest) โดยตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วย “การขัดกันของผลประโยชน์” หลักการนี้จะอยู่บน “หลักความไว้เนื้อเชื่อใจสาธารณะ” (Fides Publica) ที่มีความมุ่งหมายสำคัญที่จะป้องกันมิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคำนึงถึง “ประโยชน์ส่วนตัว” (Personal Interest) อันจะเป็นการกระทบต่อการทำหน้าที่ของตนอย่างภววิสัย (Objective) ในฐานะผู้แทนของปวงชน ซึ่งเป็นเรื่อง “ประโยชน์ส่วนรวม” (Public Interest)

ดังนั้น การพิจารณาเพียงแค่ส่วนของ “ผู้ให้ประโยชน์” อย่างกองทัพว่าการให้บ้านพักพร้อมค่าน้ำค่าไฟเป็นกรณีปกติวิสัยหรือไม่อาจไม่ครบถ้วนตามหลักการ หากแต่ศาลรัฐธรรมนูญจำต้องพิเคราะห์ต่อไปอีกด้วยว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะ “ผู้รับประโยชน์” มีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการตัดสินใจใดๆ ลงไปในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเองเพื่อตอบแทนกองทัพหรือไม่อย่างไรด้วย

Advertisement

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้เข้าไปพิจารณาโดยละเอียดถึงการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นนั้น จึงอาจเป็นการสอบตรวจสอบที่ยังไม่ครบถ้วน สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักกกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างที่พึงจะเป็นครับ

#รออ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image